คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5732/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มาตรา 57 (2) บัญญัติว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่ถือว่าใหม่ หากแบบผลิตภัณฑ์นั้นได้มีการเปิดเผยภาพสาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสาร หรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร ดังนั้น แบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยซึ่งได้มีการเปิดเผยภาพในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่อยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยจึงไม่มีความใหม่
ปัญหาว่าสิทธิบัตรของจำเลยสมบูรณ์หรือไม่นี้ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวอ้างเหตุผลนี้ไว้ในคำฟ้อง ศาลก็สามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
การออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรูปร่างหรือองค์ประกอบของลวดลายหรือสีของผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ หาได้เน้นที่คุณสมบัติการใช้งานของสิ่งประดิษฐ์หรือกรรมวิธีการประดิษฐ์แต่อย่างใด การที่จำเลยกล่าวอ้างว่ามีข้อแตกต่างที่ปรากฏในส่วนของอุปกรณ์ปรับทิศทางด้วยมือ ชุดเกลียวปรับตัวที่ 3 รวมทั้งอุปกรณ์ส่วนอื่น และทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการใช้งานนั้น ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 18331 ซึ่งออกให้ ณ วันที่ 28 มีนาคม 2548 และให้จำเลยไปยื่นคำขอเพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา หากจำเลยไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ผานจานสำหรับรถไถนาของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยนั้นให้ความคุ้มครองแก่แบบผลิตภัณฑ์ผานจานสำหรับรถไถนาของจำเลย ซึ่งตามคำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรในส่วนของข้อถือสิทธิระบุเพียงว่า “ขอถือสิทธิในแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งได้แก่ รูปร่างลักษณะของผานจานสำหรับรถไถนา ซึ่งมีลักษณะตามที่ปรากฏในภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งได้ยื่นมาพร้อมนี้” โดยมีรูปภาพในมุมต่างๆ ประกอบอยู่รวม 7 ภาพ การพิจารณาข้อถือสิทธิในลักษณะเช่นนี้จึงต้องพิจารณาจากรูปภาพดังกล่าวและต้องกระทำด้วยความระมัดระวังว่า ส่วนใดที่ปรากฏอยู่ในรูปภาพดังกล่าวจะเป็นส่วนที่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิบัตร เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบแล้วจะเห็นว่าส่วนที่แตกต่างกันระหว่างผานจานสำหรับรถไถนาของจำเลยกับของที่มีอยู่เดิม คือ อุปกรณ์ปรับทิศทางด้วยมือชุดเกลียวปรับตัวที่ 3 เท่านั้น เพราะผานจานสำหรับรถไถนาที่มีอยู่แล้วจะไม่มีอุปกรณ์ส่วนนี้ แต่อุปกรณ์ปรับทิศทางด้วยมือ ชุดเกลียวปรับตัวที่ 3 ของจำเลยกลับมีรูปแบบและการติดตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกับรูปภาพที่ปรากฏในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 2223 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 เรื่อง กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ไถกระทะพ่วงรถแทรกเตอร์เดินตาม ซึ่งได้ประกาศ ณ วันที่ 8 มกราคม 2540 และลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 18 ง วันที่ 4 มีนาคม 2540 หน้า 20 อันเป็นเวลาก่อนที่จะมีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ซึ่งยื่นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2545 แม้จำเลยจะกล่าวอ้างว่า ไม่เคยเห็นประกาศฉบับนี้และข้อกำหนดมาตรฐานนี้ยังไม่ได้ใช้บังคับก็ไม่อาจรับฟังโต้แย้งได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นตามที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่ ก็ยังต้องถือว่า อุปกรณ์ปรับทิศทางด้วยมือ ชุดเกลียวปรับตัวที่ 3 ของจำเลยได้มีการเปิดเผยภาพในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่อยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 57 (2) ที่บัญญัติไว้ในทำนองว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่ถือว่าใหม่หากแบบผลิตภัณฑ์นั้นได้มีการเปิดเผยภาพสาระสำคัญ หรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยจึงไม่มีความใหม่ ซึ่งในปัญหาว่าสิทธิบัตรของจำเลยสมบูรณ์หรือไม่นี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวอ้างเหตุผลนี้ไว้ในคำฟ้อง ศาลก็สามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5) อนึ่ง การที่จำเลยกล่าวอ้างว่า มีข้อแตกต่างที่ปรากฏในส่วนของอุปกรณ์ปรับทิศทางด้วยมือ ชุดเกลียวปรับตัวที่ 3 รวมทั้งอุปกรณ์ส่วนอื่น และทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการใช้งานนั้น ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพราะการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรูปร่างหรือองค์ประกอบของลวดลายหรือสีของผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ หาได้เน้นที่คุณสมบัติการใช้งานของสิ่งประดิษฐ์หรือกรรมวิธีการประดิษฐ์แต่อย่างใด ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 18331 ซึ่งออกให้ ณ วันที่ 28 มีนาคม 2548 คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share