แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่าโจทก์กับจำเลยใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่ากันจะต้องพิจารณาถึงการได้จดทะเบียน การใช้ และการโฆษณาเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย และอาจนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการได้จดทะเบียนการใช้และการโฆษณาเครื่องหมายการค้านั้นในต่างประเทศมาพิจารณาประกอบด้วย การจดทะเบียนการใช้ และการโฆษณาเครื่องหมายการค้านั้น ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียน การใช้ และการโฆษณาสำหรับสินค้าจำพวกหรือประเภทอื่นใด ในบางกรณีก็นำมาพิจารณาประกอบกันได้มิใช่ว่าจะต้องพิจารณาเฉพาะการจดทะเบียน การใช้ และการโฆษณา ในประเทศไทยและจะต้องพิจารณาเฉพาะในสินค้าจำพวกที่ เป็นปัญหาเท่านั้น โจทก์และจำเลยต่างยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าLANCEL ที่พิพาทสำหรับสินค้าจำพวกที่ 39 ในประเทศไทย ต่างฝ่ายจึงไม่อาจจะอ้างสิทธิในการจดทะเบียนสินค้าจำพวกนี้ต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้แต่จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้าจำพวก 8,37 และ 50 ตั้งแต่ปี 2528 ทั้งได้โฆษณาเครื่องหมายการค้านี้ในสินค้าประเภทแว่นตา โดยลงโฆษณาในสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง ส่วนโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้าจำพวกใดและไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าใดเลย เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้ใช้ในประเทศไทยกลับเป็นเครื่องหมายการค้า LANCER ซึ่งเป็นคนละเครื่องหมายการค้ากันส่วนในต่างประเทศนั้นจำเลยก็ได้ประกอบกิจการค้าโดยใช้ชื่อ LANCEL มาตั้งแต่ปี 2419 โดยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้านานาชนิดรวมทั้งปากกาและอุปกรณ์การเขียนและเครื่องเขียนด้วยได้จดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกอื่นนอกจากเครื่องเขียนในหลายประเทศ ทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นี้สำหรับอุปกรณ์การเขียน ปากกาและเครื่องเขียนในหลายประเทศและได้โฆษณาสินค้าต่าง ๆ ของจำเลยและเครื่องหมายการค้านี้ในหนังสือโฆษณาสินค้าหลายเล่ม ส่วนโจทก์มิได้ใช้ โฆษณาหรือ จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า LANCEL ในต่างประเทศเลยคงแต่ได้ใช้เครื่องหมายการค้า LANCER ในประเทศใกล้เคียงซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าคนละเครื่องหมายการค้า ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้า LANCEL ก่อนโจทก์จำเลยจึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าLANCER อ่านว่า แลนเซอร์ สำหรับสินค้าจำพวกที่ 39 กระดาษเครื่องเขียน เครื่องเย็บสมุด โดยผลิตปากกาลูกลื่นจำหน่ายแก่สาธารณชนจนเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไปในราชอาณาจักรและประเทศใกล้เคียงมาช้านานต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2530 โจทก์ได้คิดค้นและยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า LANCEL อ่านว่าแลนเซล เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 39 ตามคำขอเลขที่ท 163578ก่อนยื่นคำขอจดทะเบียน โจทก์ได้ตรวจสอบทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจำพวกที่ 39 แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าLANCEL เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2530 จำเลยได้ยื่นคำคัดค้านอ้างว่าเครื่องหมายการค้า LANCEL เป็นของจำเลย เป็นเครื่องหมายการค้าที่แพร่หลายในหมู่สาธารณชนและจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในต่างประเทศมากมาย โดยเฉพาะในประเทศไทยได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 37 เครื่องหนัง สินค้าจำพวกที่ 50 เบ็ดเตล็ด และสินค้าจำพวกที่ 8 เครื่องมือในทางวิทยาศาสตร์ตามลำดับและในวันเดียวกับที่จำเลยยื่นคำคัดค้าน จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 39 ตามคำขอเลขที่ 169168 โจทก์จึงได้ยื่นคำโต้แย้งคำคัดค้านของจำเลย และนายทะเบียนพิจารณาคำคัดค้านและคำโต้แย้งแล้ววินิจฉัยให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า LANCEL ตามคำขอเลขที่ 163578 ในจำพวกที่ 39 ของโจทก์ การที่จำเลยยื่นคำคัดค้านเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและไม่มีมูลที่จะอ้างได้ตามกฎหมายโดยมุ่งที่จะให้นายทะเบียนหลงเชื่อและระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า LANCEL ตามคำขอของโจทก์ ซึ่งโจทก์เป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนอยู่ก่อนทำให้โจทก์เสียหาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าจำเลยไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า LANCEL สำหรับสินค้าจำพวกที่ 39 ให้จำเลยระงับการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์โดยให้จำเลยถอนคำคัดค้านของจำเลย และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า LANCEL สำหรับสินค้าจำพวกที่ 39ของโจทก์ต่อไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้า LANCEL สำหรับสินค้าจำพวกที่ 39 และมิได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า LANCEL สำหรับสินค้าจำพวกที่ 39 หากแต่จำเลยเป็นผู้ประดิษฐ์และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันLANCEL เพราะนำมาจากส่วนหนึ่งของชื่อจำเลย จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวตลอดมา และได้โฆษณาจนเป็นที่แพร่หลายในหมู่สาธารณชนและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า LANCEL ไว้ในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 37 สินค้าจำพวกที่ 50 และสินค้าจำพวกที่ 8 ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 152719/104120, 149152/107917 และ154565/107541 ตามลำดับ ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2530 จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า LANCEL ตามคำขอเลขที่ 169168 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 39 ทั้งจำพวก จึงทราบว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า LANCEL ตามคำขอเลขที่ 163578 จำเลยจึงทำการคัดค้าน ซึ่งโจทก์ก็ได้โต้แย้งคำคัดค้านของจำเลย และนายทะเบียนพิจารณาแล้ว เห็นว่าจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า LANCEL และมีสิทธิดีกว่าโจทก์ จึงมีคำสั่งระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 163578 ของโจทก์ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องศาลทำให้จำเลยได้รับความเสียหายไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเลขที่ 169168 ได้ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2530 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าLANCER และรูปประดิษฐ์ทหารม้าถือทวนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 39อันเป็นการจงใจลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วและทำให้สาธารณชนผู้ซื้อสับสนหลงผิดในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ง่าย โดยเข้าใจว่าเป็นสินค้าของบริษัทเดียวกันและสับสนโดยคุณภาพแหล่งกำเนิด รวมทั้งความเป็นเจ้าของสินค้า จำเลยจึงได้ยื่นคำคัดค้านคำขอจดทะเบียนของโจทก์ และโจทก์ก็ได้ยื่นคำโต้แย้งคำคัดค้านของจำเลยซึ่งนายทะเบียนได้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านของจำเลยและดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 164011ของโจทก์ การกระทำของโจทก์ทำให้ธุรกิจการค้าของจำเลยได้รับความกระทบกระเทือนและได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงของเกียรติคุณในการประกอบการค้าของจำเลย จำเลยขอค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้า LANCEL ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่152719/104120, 149152/107917, 154565/107541 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 37 สินค้าจำพวกที่ 50 และสินค้าจำพวกที่ 8 และคำขอเลขที่ 169168 ดีกว่าโจทก์ ให้โจทก์เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเลขที่ 164011 ของโจทก์ออกจากสารบบทะเบียนเครื่องหมายการค้าห้ามมิให้โจทก์ขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 169168 ของจำเลย หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเลขที่ 164011 และเลิกขัดขวางการจดทะเบียนของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบและกระทำด้วยความสุจริต เพื่อรักษาผลประโยชน์ที่จะให้เครื่องหมายการค้า LANCEL ของโจทก์สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 39 ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมาย หาได้มีเจตนากลั่นแกล้งจำเลยไม่เครื่องหมายการค้าทั้งสองมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองหาได้เป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยไม่ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งจำเลย โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีกรณีที่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีตามฟ้องของโจทก์กล่าวคือคดีที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าLANCEL ที่พิพาทซึ่งโจทก์กับจำเลยต่างได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกที่ 39 กระดาษเครื่องเขียน เครื่องเย็บสมุดและต่างได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของอีกฝ่ายหนึ่ง จนนายทะเบียนได้วินิจฉัยให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยขอให้จำเลยถอนคำคัดค้าน ซึ่งมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่า
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทดี.ที.ซี. อินดัสตรี้ส์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายปากกาและเครื่องเขียนอื่น ๆ ทั้งภายในประเทศและประเทศใกล้เคียงมาตั้งแต่ปี 2513 และใช้เครื่องหมายการค้า LANCER อ่านว่า แลนเซอร์และเครื่องหมายการค้าอื่นอีกหลายเครื่องหมาย โดยโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวใช้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 39 และโจทก์เป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าดังกล่าว ซึ่งสาธารณชนทั่วไปรู้จักและใช้แพร่หลายโดยเฉพาะเครื่องหมายการค้า LANCER โจทก์ได้โฆษณามาประมาณ 10 ปี จำเลยประกอบกิจการค้าขายโดยใช้ชื่อ LANCEL อ่านว่า แลนเซล มาตั้งแต่ปี 2419 ได้ผลิตและจำหน่ายสินค้าหลายประเภท อาทิเช่น เครื่องหนัง เครื่องสำอาง เครื่องนุ่งห่มเครื่องแต่งกาย ปากกา เครื่องเขียน และอัญมณี โดยใช้เครื่องหมายการค้า LANCEL จำเลยได้จดทะเบียนการค้านี้ไว้ในหลายประเทศเช่น เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก แต่เป็นการจดทะเบียนสำหรับสินค้าชนิดอื่นนอกจากสินค้าจำพวกที่ 39 สำหรับอุปกรณ์การเขียนได้จดทะเบียนไว้ที่ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียและประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ปากกาและเครื่องเขียนจดทะเบียนไว้ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับดินสอ ปากกาลูกลื่นและปากกาหมึกซึมไว้ที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี สำหรับในประเทศไทยจำเลยได้จดทะเบียนการค้าเครื่องหมายการค้าพิพาทนี้ไว้เมื่อปี 2528 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 8 จำพวกที่ 37และจำพวกที่ 50 จำเลยได้โฆษณาสินค้าในหนังสือโฆษณาสินค้าของจำเลยหลายเล่ม เป็นการโฆษณาสินค้านานาชนิดรวมทั้งปากกาสินค้าของจำเลยที่จำหน่ายในประเทศไทยคือ แว่นตา โดยจำเลยได้โฆษณาในสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองด้วย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2530โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนการค้า LANCEL ต่อนายทะเบียนตามคำขอเลขที่ 163578 จำเลยได้ยื่นคำคัดค้านเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2530และในวันเดียวกันจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนการค้า LANCEL สำหรับสินค้าจำพวกที่ 39 ซึ่งโจทก์ก็ได้ยื่นคำคัดค้านเช่นเดียวกันนายทะเบียนพิจารณาแล้ววินิจฉัยไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์
พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่ว่าโจทก์กับจำเลยใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้า LANCEL รายพิพาทดีกว่ากันนั้น จะต้องพิจารณาถึงการได้จดทะเบียน การใช้ และการโฆษณาเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยและอาจจะนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการได้จดทะเบียนการใช้และการโฆษณาเครื่องหมายการค้านั้นในต่างประเทศมาพิจารณาประกอบด้วยการจดทะเบียน การใช้ และการโฆษณาเครื่องหมายการค้านั้นไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียน การใช้ และการโฆษณาสำหรับสินค้าจำพวกหรือประเภทอื่นใด ในบางกรณีก็นำมาพิจารณาประกอบกันได้ หาใช่ว่าจะต้องพิจารณาเฉพาะการจดทะเบียน การใช้ และการโฆษณาในประเทศไทยและจะต้องพิจารณาเฉพาะในสินค้าจำพวกที่เป็นปัญหาเท่านั้นดังที่โจทก์อ้างในฎีกาไม่ ฉะนั้น ในคดีนี้จากข้อเท็จจริงที่ฟังยุติดังกล่าวมาแล้วข้างต้นย่อมเห็นได้ว่า สำหรับในประเทศไทยทั้งโจทก์และจำเลยต่างยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้าจำพวกที่ 39 ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ต่างฝ่ายจึงไม่อาจจะอ้างสิทธิในการจดทะเบียนในสินค้าจำพวกนี้ต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้าจำพวกที่ 8, 37 และ 50 ตั้งแต่ปี 2528 ทั้งได้โฆษณาเครื่องหมายการค้านี้ในสินค้าประเภทแว่นตาโดยลงโฆษณาในสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง ส่วนโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้าจำพวกใดและไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าใดเลย เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้ใช้ในประเทศไทยกลับเป็นเครื่องหมายการค้า LANCER ซึ่งเป็นคนละเครื่องหมายการค้ากัน ส่วนในต่างประเทศนั้น จำเลยก็ได้ประกอบกิจการค้าขายโดยใช้ชื่อ LANCEL มาตั้งแต่ปี 2419 โดยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้านานาชนิด รวมทั้งปากกาและอุปกรณ์การเขียนด้วย ได้จดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกอื่นนอกจากเครื่องเขียนในหลายประเทศ ทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้สำหรับอุปกรณ์การเขียนในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียและสาธารณรัฐสิงคโปร์ สำหรับปากกาและเครื่องเขียนในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และสำหรับปากกาลูกลื่นและปากกาหมึกซึมในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและได้โฆษณาสินค้าต่าง ๆ ของจำเลยและเครื่องหมายการค้านี้ในหนังสือโฆษณาสินค้าหลายเล่ม ส่วนโจทก์มิได้ใช้ โฆษณาหรือจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทนี้ในต่างประเทศเลย คงแต่ได้ใช้เครื่องหมายการค้า LANCER ในประเทศใกล้เคียงซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าคนละเครื่องหมายการค้า จากข้อเท็จจริงนี้ จึงเห็นได้ว่าจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทก่อนโจทก์จำเลยจึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าโจทก์”
พิพากษายืน