แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คำฟ้องคดีก่อนและคดีนี้โจทก์อ้างเหตุอย่างเดียวกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาท โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาทให้จำเลยเพื่ออำพรางการกู้เงิน ต่อมาจำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาท ขอให้ทางราชการเพิกถอนใบอนุญาตให้เป็นเจ้าของที่ตั้งโรงเรียนพิพาทของโจทก์ โดยในคดีก่อนโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2543 ขอให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาทดังกล่าว ส่วนคดีนี้แม้โจทก์ไม่ได้ขอให้เพิกถอนสัญญาที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาทอีกก็ตาม แต่โจทก์อ้างเพิ่มเติมเข้ามาว่า จำเลยบุกรุกเข้ามาในที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาทแล้วเปิดการสอนโรงเรียนชื่อ “โรงเรียนอนุบาลบ้านวรารักษ์” โดยพลการ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถดำเนินกิจการโรงเรียนพิพาทได้ตามปกติตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 เป็นต้นมา ขอให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดประโยชน์จากการขาดรายได้ตามปกติ และค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงของโจทก์ ซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์สามารถฟ้องเรียกได้ในคดีก่อนอยู่แล้วเพราะเป็นค่าเสียหายที่สืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยภายหลังจากมีการทำสัญญาขายที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาทก่อนโจทก์ฟ้องในคดีก่อน ซึ่งเป็นการกระทำอันเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์ประกอบกิจการโรงเรียนอนุบาลใช้ชื่อว่า “โรงเรียนอนุบาลวนาเวศม์” บนที่ดินโฉนดเลขที่ 30321 และ 30322 ของโจทก์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2538 โจทก์กู้เงินจากจำเลย 14,000,000 บาท โดยไม่ได้ทำสัญญากู้ แต่โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินทั้งสองแปลงพร้อมอาคารโรงเรียนดังกล่าวให้จำเลย และจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพร้อมอาคารโรงเรียนดังกล่าวคืนให้โจทก์ เพื่อเป็นการอำพรางการกู้เงินโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินและอาคารโรงเรียนคืนโจทก์เมื่อโจทก์ชำระหนี้เงินกู้แล้ว หลังจากทำสัญญาโจทก์ยังครอบครองที่ดินและอาคารโรงเรียนกับดำเนินกิจการโรงเรียนและผ่อนชำระหนี้แก่จำเลยตลอดมา ต่อมาจำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปในที่ดินและอาคารโรงเรียนแล้วดำเนินกิจการโรงเรียนใช้ชื่อว่า “โรงเรียนอนุบาลบ้านวนารักษ์” อันเป็นการขัดขวางมิให้โจทก์ประกอบกิจการโรงเรียน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องขาดประโยชน์ที่ไม่สามารถดำเนินกิจการโรงเรียนได้ตามปกติตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 คิดเป็นเงินปีละ 5,000,000 บาท และเสียหายต่อชื่อเสียงในทางการค้า ความนิยมเป็นเงิน 300,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์ 5,000,000 บาท และต่อไปอีกปีละ 5,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะยุติการกระทำอันเป็นการละเมิด และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 300,000,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเจตนาซื้อที่ดินพร้อมอาคารโรงเรียนตามฟ้องจากโจทก์ในราคา 14,000,000 บาท เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 จริง โดยมิได้ทำขึ้นเพื่ออำพรางการกู้เงิน เหตุที่จำเลยยังไม่เข้าครอบครองที่ดินและอาคารโรงเรียนเพราะโจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินและอาคารโรงเรียนคืนจากจำเลยโดยนัดโอนกรรมสิทธิ์กันในวันที่ 16 มกราคม 2539 แต่เมื่อถึงกำหนดแล้วโจทก์ไม่นำเงินมาชำระเพื่อรับโอนกรรมสิทธิ์คืน ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 356/2543 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากคดีมีประเด็นเดียวกันว่าจำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินและอาคารโรงเรียน อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์หรือไม่ ซึ่งโจทก์สามารถเรียกร้องค่าเสียหายมาพร้อมกับคำฟ้องในคดีก่อนได้ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากไม่ได้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เดือนเมษายน 2542 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินและอาคารโรงเรียน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 เมษายน 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลที่โจทก์ได้รับการยกเว้น โดยคิดจากทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีแทนจำเลย (ที่ถูกโจทก์) กับให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 โจทก์กับจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาขายและสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 30321 และ 30322 พร้อมอาคารโรงเรียนอนุบาลวนาเวศม์ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินและหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือวางมัดจำ ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 356/2543 ตามสำเนาคำฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 356/2542 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องคดีก่อนและคดีนี้โจทก์อ้างเหตุอย่างเดียวกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาท โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาทให้จำเลยเพื่ออำพรางการกู้เงิน ต่อมาจำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาท ขอให้ทางราชการเพิกถอนใบอนุญาตให้เป็นเจ้าของที่ตั้งโรงเรียนพิพาทของโจทก์ โดยในคดีก่อนโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2543 ขอให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาทดังกล่าว ส่วนคดีนี้แม้โจทก์ไม่ได้ขอให้เพิกถอนสัญญาที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาทอีกก็ตาม แต่โจทก์อ้างเพิ่มเติมเข้ามาว่า จำเลยบุกรุกเข้ามาในที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาทแล้วเปิดการสอนโรงเรียนชื่อ “โรงเรียนอนุบาลบ้านวรารักษ์” โดยพลการ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถดำเนินกิจการโรงเรียนพิพาทได้ตามปกติตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 เป็นต้นมาขอให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดประโยชน์จากการขาดรายได้ตามปกติ และค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงของโจทก์ ซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์สามารถฟ้องเรียกได้ในคดีก่อนอยู่แล้วเพราะเป็นค่าเสียหายที่สืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยภายหลังจากมีการทำสัญญาขายที่ดินและอาคารโรงเรียนพิพาท ก่อนโจทก์ฟ้องในคดีก่อน ซึ่งเป็นการกระทำอันเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคีดนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่ดินก่อนยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลจึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไป”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ