คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3994/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2534มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2534 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2535 คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคลซึ่งตามบทมาตราดังกล่าวโจทก์สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ เมื่อจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น ทั้งมูลคดีก็เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้นคดีย่อมอยู่ในอำนาจศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาได้โจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุให้ศาลชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณาด้วยไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ ในกรณีดังกล่าว เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754วรรคสาม เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายหากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ 1 ปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นอาจจะล่วงพ้นไปแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แม้หนังสือกู้ยืมเงินจะระบุข้อความไว้ว่าไม่มีดอกเบี้ยแต่ข้อความตอนต้นก็ระบุไว้ว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้ชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือนนับแต่วันทำสัญญา นอกจากนี้ผู้กู้ยังได้บันทึกรับรองไว้ในตอนท้ายของสัญญากู้ยืมเงินว่า ถ้าหากไม่ชำระหนี้ตามสัญญาใน 2 ปียินยอมคิดดอกเบี้ยนับจากวันครบสัญญา ดังนี้แสดงให้เห็นว่าผู้กู้ยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือน (ร้อยละ 15 ต่อปี) นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน กรณีมิใช่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอันที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระต้นเงินแก่โจทก์จำนวน 1,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การว่า จ่าสิบเอกประจวบไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ ลายมือชื่อตรงช่องของผู้กู้ยืมในหนังสือกู้ยืมเงินเป็นลายมือชื่อปลอมหนังสือกู้สัญญากู้ยืมครบกำหนดชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 28 เมษายน 2536โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเนื่องจากในหนังสือกู้ยืมเงินมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าไม่มีดอกเบี้ยโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ศาลชั้นต้นเนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ศาลชั้นต้นเนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดลพบุรี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 6 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจ่าสิบเอกประจวบไว้แก่โจทก์ หนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินยังไม่ถึงกำหนดชำระโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จ่าสิบเอกประจวบมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน หลักประกันดังกล่าวมีมูลค่าคิดเป็นเงินจำนวนสูงกว่าจำนวนหนี้โจทก์ชอบที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่หลักประกันดังกล่าวก่อน ยังไม่มีเหตุที่โจทก์จะใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 6 ให้ต้องร่วมรับผิดด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเนื่องจากในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินระบุว่าไม่มีดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 1,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 29 เมษายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของจ่าสิบเอกประจวบที่ตกทอดแก่ตน
จำเลยที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12)พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2534 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2535 คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคลซึ่งตามบทมาตราดังกล่าวโจทก์สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 6 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้นทั้งมูลคดีก็เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น คดีย่อมอยู่ในอำนาจศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาได้ โจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุให้ศาลชั้นต้นรับไว้พิจารณาดังที่จำเลยที่ 6 กล่าวอ้างมาในฎีกาไม่
ปัญหาวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ขณะหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ ในกรณีดังกล่าวเจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.3 ที่จ่าสิบเอกประจวบ จันทร์สุวรรณ ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่จ่าสิบเอกประจวบได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของจ่าสิบเอกประจวบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสาม เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อจ่าสิบเอกประจวบถึงแก่ความตายหากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระอายุความ 1 ปี อาจจะล่วงพ้นไปแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยชอบแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงใด ศาลฎีกาเห็นว่า แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 จะระบุข้อความไว้ว่า ไม่มีดอกเบี้ยแต่ข้อความตอนต้นก็ระบุไว้ว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้ชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือนนับแต่วันทำสัญญานอกจากนี้จ่าสิบเอกประจวบยังได้บันทึกรับรองไว้ในตอนท้ายของสัญญากู้ยืมเงินว่า ถ้าหากไม่ชำระหนี้ตามสัญญาใน 2 ปี ยินยอมคิดดอกเบี้ยนับจากวันครบสัญญา ดังนี้แสดงให้เห็นว่าจ่าสิบเอกประจวบยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือน (ร้อยละ 15 ต่อปี) นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวหาใช่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยในอันที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7
พิพากษายืน

Share