คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4154/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยเพิ่งยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การภายหลังที่ยื่นคำให้การแล้วเกือบ 3 ปี และเป็นเวลาภายหลัง ที่สืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว โดยอ้างเพียงว่าเพิ่งค้นพบสำเนาตารางกรมธรรม์ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเรียกกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไปยังจำเลยตามคำขอของโจทก์ แต่จำเลยก็มิได้ส่งต่อศาล เช่นนี้ การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การจึงชอบแล้ว ดังนั้นที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยตามที่ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ จึงเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ๖ ช – ๔๐๖๖ กรุงเทพมหานคร จากนายธวัชชัยผู้เอาประกันภัย โจทก์ที่ ๒ เป็นมารดาของนายเจริญชัย จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ๘๐ – ๙๓๑๘ เชียงใหม่ และจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ๘๐ – ๙๓๑๘ เชียงใหม่ ไว้จากจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ ขณะที่นายเจริญชัยขับรถยนต์เก๋งไปตามถนนพหลโยธิน มีบุคคลผู้มีชื่อขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน ๘๐ – ๙๓๑๘ เชียงใหม่ ไปในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๑ แล่นสวนทางมา ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ โดยขับรถบรรทุกด้วยความเร็วและขับส่ายไปมาด้วยความคึกคะนองและประมาทจึงไม่สามารถบังคับรถยนต์ได้ ทำให้รถบรรทุกเสียหลักพุ่งเข้าไปในช่องเดินรถยนต์ของนายเจริญชัย เฉี่ยวชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๖ ช – ๔๐๖๖ กรุงเทพมหานคร อย่างแรง ทำให้รถยนต์เก๋งได้รับความเสียหายทั้งคัน และเป็นเหตุทำให้นายเจริญชัย ผู้ขับรถยนต์เก๋งถึงแก่ความตาย หลังเกิดเหตุบุคคลผู้มีชื่อได้หลบหนีไป พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอขาณุวรลักษบุรี ตรวจสถานที่เกิดเหตุแล้วลงความเห็นว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นจากความประมาทของผู้ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน ๘๐ – ๙๓๑๘ เชียงใหม่ โจทก์ที่ ๑ ได้ทำการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๖ ช – ๔๐๖๖ กรุงเทพมหานคร เต็มตามทุนประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ และนำซากรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๖ ช – ๔๐๖๖ กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาด แต่ราคาที่ได้ยังขาดอยู่ โจทก์ที่ ๑ จึงเข้ารับช่วงสิทธิในอันที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง โจทก์ที่ ๒ ได้รับความเสียหายเป็นค่าปลงศพของนายเจริญชัย ค่าโลงศพและค่านำศพของนายเจริญชัยมาฌาปนกิจ และโจทก์ที่ ๒ เคยได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากนายเจริญชัย ซึ่งนายเจริญชัยสามารถส่งเสียอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้ไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี เมื่อนายเจริญชัยถึงแก่ความตายทำให้โจทก์ที่ ๒ ขาดไร้อุปการะ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๖ ช – ๔๐๖๖ กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายธวัชชัย โจทก์ที่ ๑ จึงไม่มีส่วนได้เสียและไม่มีอำนาจรับช่วงสิทธิ บุคคลผู้มีชื่อตามที่โจทก์ทั้งสองอ้าง ไม่ทราบว่าเป็นใคร และไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ และไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของนายเจริญชัยแต่ฝ่ายเดียว สัญญากรมธรรม์ของจำเลยที่ ๒ ไม่มีข้อความระบุให้จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการฌาปนกิจ และค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดู จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ในเรื่องค่าทนายความ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ มีว่า มีเหตุอันควรอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ แก้ไขคำให้การว่า หากจำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดก็ไม่เกินวงเงินที่ระบุไว้ตามสำเนาสัญญาประกันภัยข้อ ๒.๑ เอกสารหมาย ล. ๑ ว่าความรับผิดต่อชีวิตร่างกายบุคคลภายนอกไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ต่อคน หรือไม่ โดยจำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ ซื้อกิจการมาจากบริษัทสุขุมวิทย์ประกันภัย จำกัด และได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่อาคารแกรนด์อัมรินทาวเวอร์เลขที่ ๑๕๕๐ ชั้น ๑๘ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะที่ย้ายที่ทำการทำให้คู่ฉบับกรมธรรม์ประกันภัยตลอดจนเอกสารสำคัญสูญหาย ขณะจำเลยที่ ๒ ยื่นคำให้การยังไม่พบคู่ฉบับกรมธรรม์ประกันภัย ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ จำเลยที่ ๒ ค้นพบสำเนาตารางสัญญากรมธรรม์ประกันภัย จึงยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ว่าจำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ ๒ ในวงเงินไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ตามตารางสัญญากรมธรรม์ประกันภัยนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยที่ ๒ ยื่นคำให้การในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๗๐๐๒/๒๕๓๗ ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๘ ครั้นเมื่อโจทก์ทั้งสองแถลงหมดพยานแล้วและต่อมาวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ อันเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ ๒ จึงยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การโดยอ้างว่าหากจำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดเกินกว่าวงเงินที่จำเลยที่ ๒ รับประกันภัยไว้ จำเลยที่ ๒ ต้องฟ้องไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ ๑ เป็นคดีความเพิ่มอีก ทั้งเป็นการให้โอกาสแก่ทนายจำเลยที่ ๒ ซึ่งผิดพลาดไปอันจะทำให้จำเลยที่ ๒ ต้องได้รับความเสียหายที่อาจจะต้องรับผิดเกินความจริง ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้แถลงคัดค้านการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ ๒ การที่จำเลยที่ ๒ เพิ่งยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การภายหลังที่ยื่นคำให้การแล้วเกือบ ๓ ปี และเป็นเวลาภายหลังที่สืบพยานโจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้นแล้ว โดยอ้างเพียงว่าเพิ่งค้นพบสำเนาตารางกรมธรรม์ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ในระหว่างการสืบพยานโจทก์ทั้งสอง ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเรียกกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไปยังจำเลยที่ ๒ ตามคำขอของโจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ ๒ ก็มิได้ส่งต่อศาล เช่นนี้ การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ ๒ แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การจึงชอบแล้ว ดังนั้น ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าจำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ ๒ ในวงเงินไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัย จึงเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฎีกาของจำเลยที่ ๒ ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ ๑ คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ ๑ ทั้งหมดแก่จำเลยที่ ๒.

Share