คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2876/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามไม่ได้ให้การยกเรื่องฟ้องของโจทก์ขาดอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 เข้าทำสัญญาจ้างและรับเงิน แต่จำเลยที่ 1 ได้ออกใบรับเงินให้โจทก์โดยจำเลยที่ 3ที่ 4 ลงชื่อในใบรับเงิน และจำเลยที่ 1 ยื่นรายการภาษีเงินได้ประจำปีระบุรายได้ว่าจากการรับเหมาก่อสร้างเป็นเงินที่ขาดทุนสุทธิตรงกับงบดุลของจำเลยที่ 1 และตามงบกำไรขาดทุนของจำเลยที่ 1ก็ระบุรายได้ไว้ในรายการแรกว่าได้จากการรับเหมาก่อสร้างจำนวนเงินตรงกับใบเสร็จรับเงินของจำเลยที่ 1 ที่รับเงินงวดที่ 1 ซึ่งออกให้แก่โจทก์ ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการได้ยอมเข้ารับเอาผลงานที่จำเลยที่ 4ได้กระทำไปเกินขอบอำนาจของตัวแทนถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 เมื่อมีการกระทำผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ตัวการต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นตัวแทนไม่ต้องร่วมรับผิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 4 ไม่ได้อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 โจทก์ว่าจ้าง จ. ทำงานส่วนที่เหลือต่อจากจำเลยที่ 1ซึ่งทิ้งงาน โจทก์จึงต้องจ่ายเงินค่าจ้างงานทั้งหมดเป็นเงินเท่ากับเงินที่จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว 1 งวด จำนวน 149,800 บาทบวกด้วยเงินที่ต้องจ่ายให้แก่ จ. เป็นค่าจ้างในการทำงานส่วนที่เหลืออีก 782,965 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 932,765 บาทเพราะฉะนั้นโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็นเงินเท่ากับเงินจำนวนดังกล่าวลบด้วยค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 หากทำงานแล้วเสร็จตามสัญญาจ้างจำนวน 749,000 บาท ซึ่งคิดเป็นเงิน 183,765บาท จำนวนเงินดังกล่าวคือค่าเสียหายจริงที่โจทก์ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น หลักประกันเป็นเงินสดที่ผู้รับจ้างมอบไว้แก่ผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างเป็นเงินประกันความเสียหาย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เมื่อโจทก์รับไปแล้วต้องนำไปหักออกจากค่าเสียหายในจำนวนทั้งหมดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างอาคาร จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างบ้านพักข้าราชการที่ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมืองพังงา ค่าจ้าง 749,000 บาท โดยแบ่งชำระค่าจ้างและแบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 5 งวด กำหนดแล้วเสร็จใน150 วัน นับแต่วันที่ 10 กันยายน 2523 จำเลยที่ 1 ก่อสร้างงานงวดที่ 1 ถูกต้องตรงตามสัญญา โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างงวดที่ 1ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นผู้รับเงินแทนจำเลยที่ 1หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 มิได้ทำงานให้แล้วเสร็จจนพ้นกำหนดเวลาตามสัญญา โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 5 ว่าจ้างให้นายจรินทร์ แสงเงิน ทำการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จ โดยคิดราคาค่าก่อสร้างเป็นเงิน 782,965 บาท ทำให้โจทก์ต้องเสียค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากราคาเดิมเป็นเงิน 183,765 บาทจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 52,000 บาท และโจทก์ต้องจ่ายเงินค่าเช่าบ้านพักให้แก่ข้าราชการของโจทก์ที่จะอยู่ในบ้านพักดังกล่าวในระหว่างที่บ้านพักไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาในสัญญาอีกเป็นเงิน 6,567 บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสี่จะต้องร่วมรับผิดชดใช้แก่โจทก์ตามสัญญาข้อ 19 ข้อ 20 รวมทั้งสิ้น 232,332บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 4เป็นตัวแทนทำสัญญาหรือเป็นตัวแทนในการก่อสร้าง ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 5,000 บาท และค่าเช่าบ้านพักก็ไม่เกิน 3,000 บาทส่วนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะโจทก์ปล่อยปละละเลยไม่รีบแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ เท่ากับเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เองหากจะเสียค่าก่อสร้างเพิ่มก็ไม่เกิน 10,000 บาท
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องการจัดการงานของจำเลยที่ 1 และไม่เคยร่วมกับจำเลยที่ 4 รับเงินและลงชื่อในใบเสร็จรับเงิน
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์เป็นเงิน 88,965 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2524แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2528 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ให้การยกเรื่องฟ้องของโจทก์ขาดอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 และนายทองปนผู้รับมอบอำนาจรู้เห็นเป็นใจกันให้จำเลยที่ 4 เข้าทำสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย ปจ.8 ซึ่งเป็นการนำเอาจำเลยที่ 1เป็นเครื่องมือหาประโยชน์แก่ตน ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย เพราะตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ปจ.5 ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ลงนามในสัญญาจ้างและรับเงิน การกระทำของจำเลยที่ 4ดังกล่าวเป็นโมฆะกรรม จำเลยที่ 1 จึงให้สัตยาบันแก่โมฆะกรรมไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ปจ.5จำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 เข้าทำสัญญาจ้าง และรับเงินแต่จำเลยที่ 1 ได้ออกใบรับเงินให้โดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 ลงชื่อในใบรับเงินและจำเลยที่ 1 ได้ยื่นรายการภาษีเงินได้ประจำปี 2524เอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 1 ระบุรายได้ว่า จากการรับเหมาก่อสร้างเป็นเงินที่ขาดทุนสุทธิ 11,930.10 บาท ซึ่งตรงกับงบดุลของจำเลยที่ 1ตามเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 4 และตามงบกำไรขาดทุนของจำเลยที่ 1ประจำปี 2524 ตามเอกสารหมาย จ.7 ก็ระบุรายได้ไว้ในรายการแรกว่าได้จากการรับเหมาก่อสร้างจำนวน 149,800 บาท ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวตรงกับใบเสร็จรับเงินของจำเลยที่ 1 ที่รับเงินงวดที่ 1 ซึ่งออกให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย ปจ.12 แผ่นที่ 2 พยานหลักฐานดังกล่าวมีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างจากสัญญาจ้างงวดที่ 1 ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการได้ยอมรับเอาผลงานที่จำเลยที่ 4ได้กระทำไปเกินขอบอำนาจของตัวแทน ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1
ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 4ไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 จึงไม่ชอบเพราะคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 4 ถึงที่สุดแล้วนั้น เห็นว่า ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการ จำเลยที่ 4เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 เมื่อมีการกระทำผิดสัญญาจำเลยที่ 1ตัวการต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นตัวแทนไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 4 จะไม่ได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างบ้านพักเป็นเงิน749,000 บาท จำเลยที่ 1 ทำงานงวดที่ 1 เสร็จแล้วและรับเงินค่าจ้างงานงวดที่ 1 ไปจำนวน 149,800 บาท โดยไม่ทำงานงวดที่ 2ถึงที่ 5 (งวดสุดท้าย) แล้วทิ้งงานไป โจทก์ต้องจ้างนายจรินทร์ทำงานต่อคืนงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 5 เป็นเงิน 782,965 บาท หากจำเลยที่ 1 ทำงานแล้วเสร็จโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 5อีกเพียง 599,200 บาท ทำให้โจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงิน 183,765 บาท ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวโจทก์ต้องเสียหายจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าเสียหายในส่วนดังกล่าวนี้ให้โจทก์เพียง 33,965 บาท ไม่ถูกต้องเพราะต่ำกว่าที่โจทก์เสียหายจริงนั้นได้ตรวจดูสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ปจ.8และสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับนายจรินทร์ เอกสารหมาย จ.10 แล้วได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำงานงวดที่ 1 คือทำฐานรากหล่อคานคอดินตั้งเสา ค.ส.ล. ตามสัญญาเอกสารหมาย ปจ.8 แล้วนายจรินทร์ผู้รับจ้างรายใหม่เข้าทำงานต่อตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.10ซึ่ง ระบุงานงวดที่ 1 ว่าตั้งเสาติดคาน ติดตั้งโครงหลังคาต่อจากรากฐานเดิมที่ทำไว้แล้วตามแบบแปลนแผนผัง แม้สัญญาจ้างเอกสารหมายจ.10 จะแบ่งงานออกเป็น 5 งวด แต่ก็ระบุแบ่งงานโดยรวมงานในงวดที่ 2ถึงงวดที่ 5 ตามสัญญาจ้างหมาย ปจ.5 ไว้ครบถ้วน จึงฟังได้ว่าโจทก์ว่าจ้างนายจรินทร์ทำงานส่วนที่เหลือต่อจากจำเลยที่ 1ซึ่งทิ้งงานจริง โจทก์จึงต้องจ่ายเงินค่าจ้างงานทั้งหมดเป็นเงินเท่ากับเงินที่จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว 1 งวด จำนวน 149,800 บาทบวกด้วยเงินที่ต้องจ่ายให้แก่นายจรินทร์เป็นค่าจ้างในการทำงานส่วนที่เหลืออีก 782,965 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 932,765 บาทเพราะฉะนั้นโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็นเงินเท่ากับเงินจำนวนดังกล่าวลบด้วยเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1หากทำงานแล้วเสร็จตามสัญญาจ้างจำนวน 749,000 บาท ซึ่งคิดเป็นเงิน183,765 บาท จำนวนเงินดังกล่าวคือค่าเสียหายจริงที่โจทก์ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าเช่าบ้านพักระหว่างการก่อสร้างยังไม่เสร็จซึ่งเป็นค่าเสียหายตามสัญญาจ้างให้โจทก์เพียง 3,000 บาท ไม่ตรงกับโจทก์เสียหายจริงตามบัญชีเป็นเงินจำนวน 6,567 บาท นั้น นายสัจจา ภาษยะวรรณ์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นนิติกรของโจทก์เบิกความว่า โจทก์ต้องเสียค่าเช่าบ้านให้แก่ข้าราชการเนื่องจากบ้านพักตามสัญญาจ้างก่อสร้างไม่เสร็จโจทก์คงคิดค่าเสียหาย ส่วนนี้เป็นเงิน 6,500 บาท และนายสมบัติอู่ตะเภา พยานโจทก์ซึ่งเป็นนิติกรของโจทก์เช่นกันเบิกความว่านับแต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2524 โจทก์ต้องเสียค่าเช่าบ้านพักให้ข้าราชการตามรายละเอียดเอกสารหมาย จ.12 ดังนี้พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความเกี่ยวกับค่าเช่าบ้านพักของข้าราชการไม่ได้ความแน่ว่าโจทก์ต้องเสียค่าเช่าไปเท่าไร และไม่มีใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้าน จึงไม่ทราบจำนวนค่าเช่าบ้านคงมีเอกสารหมาย จ.12 ก็ไม่ชัดแจ้งว่ารายการใดเป็นรายการที่จำเลยต้องรับผิด เห็นว่า เมื่อโจทก์ต้องชำระค่าเช่าบ้านพักให้ข้าราชการจริง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ได้รับ 3,000 บาท นั้นสมควรแล้ว แต่ตามสัญญาเอกสารหมาย ปจ.8 ข้อ 3 ระบุว่า ผู้รับจ้างนำหลักประกันเป็นเงินสด 37,450 บาท มอบไว้แก่ผู้ว่าจ้าง ซึ่งในหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 16 มิถุนายน 2524 ตามเอกสารหมาย ปจ.16โจทก์แจ้งว่าได้ริบเงินสดซึ่งผู้รับจ้างได้วางไว้ตามสัญญาจ้างข้อ 3เป็นรายได้ของแผ่นดินแล้ว ปรากฏว่าศาลล่างทั้งสองศาลมิได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเงินประกันจำนวนดังกล่าวไว้ ซึ่งไม่ถูกต้อง เงินดังกล่าวเป็นเงินประกันความเสียหาย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายโจทก์ริบไปแล้วต้องนำไปหักออกจากค่าเสียหายในจำนวนทั้งหมดด้วยเมื่อรวมค่าเสียหายคือเงินที่โจทก์ต้องจ่ายให้ผู้รับเหมารายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 183,765 บาท ค่าเช่าบ้านพักจำนวน 3,000 บาทและค่าปรับรายวันจำนวน 52,000 บาท เป็นเงิน 238,765 บาทหักเงินประกันความเสียหายที่โจทก์ริบไปแล้วจำนวน 37,450 บาทออกแล้วคงเป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมกันรับผิดจำนวน 201,315 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 201,315 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share