แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ปัญหาว่า จำเลยที่ 4 ได้วางเงินจำนวน 150,000 บาท ในนามของจำเลยที่ 1 ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ในคดีที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา เพื่อชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วจะต้องหักเงินจำนวนดังกล่าวจากจำนวนที่ฝ่ายจำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และเมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าเสียหายจำนวนนี้ไปแล้ว จึงต้องหักเงินจำนวนดังกล่าวจากจำนวนเงินที่จำเลยทั้ง 4 ต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษา จะพิพากษาให้จำเลยรับผิดเต็มจำนวนค่าเสียหายไปก่อน โดยให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะไปพิสูจน์ขอหักหนี้ในชั้นบังคับคดีหาได้ไม่ เพราะจะเป็นการพิพากษาให้จำเลยรับผิดเกินกว่าที่จะต้องรับผิดตามกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่จำเลย เมื่อจำเลยที่ 4 วางเงินต่อศาลโดยไม่ได้ระบุว่าให้ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองคนใดและจำนวนคนละเท่าใด จึงต้องถือว่าให้ชำระแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 75,000 บาท เท่าๆ กัน เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่มิได้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสอง 1,621,587 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 868,150 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 132,617 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 11 มกราคม 2540 เป็นตันไปจนกว่าชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 846,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 126,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดด้วยต่อโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 800,000 บาท และต่อโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ดอกเบี้ยทั้งสองจำนวนคิดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 11 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 4 รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 12-2999 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2540 จำเลยที่ 1 กระทำละเมิด โดยขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เฉี่ยวชนกับรถยนต์คันอื่นแล้วชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 5 ศ – 4404 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งมีโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขับและโจทก์ที่ 2 นั่งโดยสารมาในรถด้วย ทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายและโจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า ศาลอุทธรณ์ไม่หักเงินที่จำเลยที่ 4 วางต่อศาลแขวงพระนครเหนือเพื่อชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองในนามของจำเลยที่ 1 ในคดีที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นยุติโดยไม่โต้แย้งกันว่า จำเลยที่ 4 ได้วางเงินจำนวน 150,000 บาท ในนามของจำเลยที่ 1 ต่อศาลแขวงพระนครเหนือในคดีที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา เพื่อชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองและโจทก์ทั้งสองได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว ตามคำร้อง ใบมอบอำนาจ และใบรับเงิน เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ได้วางเงินจำนวน 150,000 บาท ในนามของจำเลยที่ 1 ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ในคดีที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในคดีอาญา เพื่อชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง เงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นของโจทก์ทั้งสอง และเมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าเสียหายจำนวนนี้ไปแล้ว จึงต้องหักเงินจำนวนดังกล่าวจากจำนวนเงินที่จำเลยที่ 4 ต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษา จะพิพากษาให้จำเลยรับผิดเต็มจำนวนค่าเสียหายไปก่อนโดยให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะไปพิสูจน์ขอหักหนี้ในชั้นบังคับคดีตามที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในคำแก้ฎีกาหาได้ไม่ เพราะจะเป็นการพิพากษาให้จำเลยรับผิดเกินกว่าที่จะต้องรับผิดตามกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่จำเลย เมื่อจำเลยที่ 4 วางเงินต่อศาลโดยไม่ได้ระบุว่าให้ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองคนใดและจำนวนคนละเท่าใดจึงต้องถือว่าให้ชำระแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 75,000 บาท เท่าๆ กัน เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่มิได้ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 771,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 51,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยโดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 จำนวนเงิน 725,000 บาท ต่อโจทก์ที่ 2 จำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์