แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่มีต่อจำเลยให้แก่บริษัท บ. สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมิใช่สิทธิเรียกร้องของโจทก์อีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายภายหลังจากที่โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 247 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 28
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งในข้อนี้จำเลยให้การต่อสู้และนำสืบว่า โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 13228/2536 ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด และบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ได้เข้าสวมสิทธิในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าวก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว เนื่องจากจำเลยเคยติดต่อไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ตเพื่อขอให้งดการขายทอดตลาดไว้ก่อน แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งว่าบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดต่อไป ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีหนี้ต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำแถลงของบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ฉบับลงวันที่ 17 ธันวาคม 2545 ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ตจัดส่งมาตามคำสั่งเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ (คดีล้มละลาย) โจทก์ไม่ได้ถามค้านหรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าวให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด และบริษัทดังกล่าวได้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์อย่างช้าที่สุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2545 อันเป็นวันที่โจทก์โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้เข้าสวมสิทธิยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดภูเก็ตขอให้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยต่อไป เห็นว่า การที่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ในการดำเนินการบังคับคดีนั้นเป็นกรณีที่โจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งให้แก่บริษัทดังกล่าว จึงมิใช่สิทธิเรียกร้องของโจทก์อีกต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2546 ภายหลังจากที่โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 และ 247 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน