คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4314/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มีแต่คำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลย บันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและภาพถ่าย กับภาพถ่ายที่ ส. ชี้จำเลยโดยมี ร.ต.อ.น. พนักงานสอบสวนมาเบิกความประกอบ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเท่านั้น ทั้งจำเลยให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาว่าคำรับสารภาพมิได้เป็นไปด้วยความสมัครใจและมิได้นำชี้ที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ดังนั้น การจะนำคำรับสารภาพและการนำชี้ที่เกิดเหตุชั้นสอบสวนของจำเลยมาฟังลงโทษจำเลย โจทก์จะต้องมีพยานประกอบมาสืบให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริง ทั้งพยานประกอบต้องมิใช่คำของเจ้าพนักงานตำรวจผู้สอบสวน เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสืบประกอบคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยพยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ได้ก่อให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดด้วยการใช้จ้างวาน ให้จำเลยที่ 1 ฆ่านายเจริญ เปี่ยมสกุล ผู้เสียหายโดยวิธีขับรถยนต์ชนผู้เสียหาย โดยเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยที่ 1 ได้ลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตายเพียงแต่ได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 84, 288, 289 และริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) ประกอบด้วยมาตรา 80, 52(1) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ประกอบด้วยมาตรา 80, 52(1), 84 ให้จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยทั้งสองหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ประกอบด้วยมาตรา 53 คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดด้วยการใช้ จ้าง วาน ให้ฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีแต่คำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.20 บันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ และภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.22 กับภาพถ่ายนายสมชายชี้ จำเลยที่ 2 หมาย จ.23โดยมีร้อยตำรวจเอกนพดล ธุวังควัฒน์ พนักงานสอบสวนมาเบิกความประกอบว่า ชั้นสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ว่า ใช้ จ้าง วาน ให้ฆ่า ผู้อื่นจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเท่านั้น แต่คำรับสารภาพชั้นสอบสวนตลอดถึงการนำชี้ที่เกิดเหตุให้ถ่ายรูปไว้นั้นล้วนแต่เป็นพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อยทั้งคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนและการนำชี้ที่เกิดเหตุดังกล่าว จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาว่ามิได้เป็นไปด้วยความสมัครใจและมิได้นำชี้ที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ดังนั้น การที่จะนำคำรับสารภาพและการนำชี้ที่เกิดเหตุดังกล่าวมาฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้นั้น โจทก์จะต้องมีพยานประกอบมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำความผิดจริง ทั้งพยานประกอบต้องมิใช่คำของเจ้าพนักงานตำรวจผู้สอบสวน ส่วนคำให้การในชั้นสอบสวนของนายสมชายหรือหมู จีรัง ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับจำเลยที่ 2 ซึ่งพนักงานสอบสวนกันไว้เป็นพยาน ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.19 บันทึกขออนุญาตกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานเอกสารหมาย จ.30 และบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ.31 กับคำให้การในชั้นสอบสวนของนางระเบียบ นำมาตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ.24 คำให้การของบุคคลทั้งสองดังกล่าวที่อ้างว่ารู้เห็นจำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อโดยใช้ จ้าง วานให้กระทำความผิดตามฟ้องก็เป็นเอกสารที่พนักงานสอบสวนจัดทำขึ้นเพียงฝ่ายเดียว โดยในชั้นพิจารณาโจทก์ไม่สามารถนำตัวบุคคลทั้งสองมาเบิกความต่อศาล เพื่อให้จำเลยที่ 2 มีโอกาสซักค้านให้ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดได้ ฉะนั้น คำให้การของนายสมชายหรือหมูและนางระเบียบในชั้นสอบสวนจึงเป็นพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย ทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนของนายสมชายหรือหมูยังเป็นคำชัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับจำเลยที่ 2อีกด้วย จึงเป็นพยานที่มีน้ำหนักน้อย ทั้งต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสืบประกอบคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณานอกจากพยานบอกเล่าและคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันดังกล่าวมาแล้ว พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ได้ก่อให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องด้วยการใช้จ้าง วาน หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share