คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 101/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือสัญญากู้ยืมเงินระบุว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่งละ 1 บาทต่อเดือน แต่โจทก์นำสืบว่าได้มีการตกลงด้วยวาจาให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จำนวนเงินที่จำเลยออกเช็คชำระให้แก่โจทก์เป็นการชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกันด้วยวาจาและจำเลยยังมิได้ชำระต้นเงินกู้ยืมกับยังค้างดอกเบี้ยอยู่อีกจึงฟ้องเรียกต้นเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมนั้นเป็นการนำสืบถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข)
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยตกลงให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเป็นการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ให้แก่โจทก์ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลย่อมมีอำนาจขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
การที่จำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับคืนดอกเบี้ยส่วนที่ได้ชำระไปแล้ว และจะให้นำไปหัก กับต้นเงินไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน 1,500,000 บาทจากโจทก์ โดยยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงิน จำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน กับออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสามแยกไฟฉาย สั่งจ่ายเงิน 1,500,000 บาท มอบให้แก่โจทก์ไว้เป็นประกัน จำเลยได้รับเงินกู้ยืมจากโจทก์ไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา เมื่อครบกำหนดตามสัญญากู้ยืมเงินจำเลยผิดนัดไม่ชำระ โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย เมื่อคิดถึงวันฟ้อง จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย 1,631,250 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,631,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงิน 1,500,000 บาทจากโจทก์โดยมีข้อตกลงให้ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 80 งวด งวดละ30,000 บาท จำเลยผ่อนชำระแล้ว 55 งวด เป็นเงิน 1,650,000 บาท คงเหลือต้นเงินที่ค้างชำระโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินอีก 617,714 บาท หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้ผ่อนชำระเพราะโจทก์ไม่ยอมให้แก้ไขลดจำนวนเงินที่สั่งจ่ายในเช็คค้ำประกันและไม่ยอมทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามกฎหมาย ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่ความตาย นายวิฑูรย์ชมจันทร์ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์อนุญาต

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 1,500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 21 พฤษภาคม2540) จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระต้นเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีนายวิฑูรย์ ชมจันทร์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2534จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน 1,500,000 บาท จากโจทก์โดยยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินกู้ยืมคืนภายในวันที่ 23 ธันวาคม2535 ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 เกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมแต่จำเลยตกลงด้วยวาจาให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2ต่อเดือน จำเลยออกเช็คชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวแก่โจทก์ตลอดมาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2539 จึงไม่ชำระ โจทก์มีหนังสือทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยที่จำเลยฎีกาว่า นายวิฑูรย์มิได้รู้เห็นในการทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อเท็จจริงในส่วนที่โจทก์กับจำเลยตกลงให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน นายวิฑูรย์ย่อมไม่ทราบถึงการชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย คำเบิกความของนายวิฑูรย์ที่ว่าจำเลยออกเช็คชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จึงไม่น่ารับฟังนั้น เห็นว่า นายวิฑูรย์เป็นบุตรโจทก์และเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ให้ฟ้องคดีนี้จึงอยู่ในฐานะที่จะทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่จำเลยออกเช็คชำระหนี้ให้แก่โจทก์ว่าเป็นการชำระหนี้ใด แม้จะฟังว่านายวิฑูรย์ได้รับคำบอกเล่าจากโจทก์แต่การเป็นพยานบอกเล่าก็ไม่มีกฎหมายห้ามเด็ดขาดมิให้รับฟังเสียทีเดียวหากพยานบอกเล่าเบิกความถึงข้อเท็จจริงอย่างมีเหตุผล ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ คดีนี้จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นงวด งวดละ 30,000 บาท รวม 55 งวดตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย ล.1เมื่อคำนวณอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือนจากต้นเงิน 1,500,000 บาทตามที่นายวิฑูรย์เบิกความจะได้ดอกเบี้ยเดือนละ 30,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินตามเช็คแต่ละฉบับที่จำเลยสั่งจ่ายชำระให้แก่โจทก์ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าในการกู้ยืมเงินโจทก์มีข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 80 งวด งวดละ30,000 บาท จำเลยได้ผ่อนชำระไปแล้ว 55 งวด เป็นเงิน 1,650,000 บาทคงค้างชำระหนี้โจทก์อยู่อีก 617,714 บาท ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย ล.1และตารางการชำระหนี้เอกสารหมาย ล.6 ก็ปรากฏว่าตารางการชำระหนี้ตามเอกสารหมาย ล.6 เป็นเอกสารที่จำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยโจทก์มิได้รู้เห็นด้วย หากมีการตกลงผ่อนชำระดังที่จำเลยกล่าวอ้างก็น่าจะมีการบันทึกข้อตกลงไว้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 เพราะเป็นข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญของการกู้ยืมเงินแต่ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 ระบุแต่เพียงว่าผู้กู้จะนำเงินมาชำระให้แก่ผู้ให้กู้ภายในวันที่ 23 ธันวาคม 2535 แม้จะมีการแก้ไขวันเดือนปีที่จะนำเงินมาชำระคืน จากวันที่ 23 มิถุนายน 2535 เป็นวันที่ 23 ธันวาคม 2535 ก็เป็นเรื่องแก้ไขเพื่อให้ตรงกับวันที่ระบุไว้ในเช็คค้ำประกันฉบับใหม่ที่จำเลยออกให้แก่โจทก์แทนเช็คค้ำประกันฉบับเดิมซึ่งถึงกำหนดชำระเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับการตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแต่อย่างใดและการที่หนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่า ผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่งละ 1 บาท ต่อเดือน แต่โจทก์นำสืบว่าได้มีการตกลงด้วยวาจาให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จำนวนเงินที่จำเลยออกเช็คชำระให้แก่โจทก์เป็นการชำระดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกันด้วยวาจา และจำเลยยังมิได้ชำระต้นเงินกู้ยืมกับยังค้างดอกเบี้ยอยู่อีก จึงฟ้องเรียกต้นเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมนั้น เป็นการนำสืบถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่โจทก์ฟ้อง ไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ดังที่จำเลยฎีกา พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าจำเลยตกลงให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จากต้นเงิน 1,500,000 บาท เช็คตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยสั่งจ่ายฉบับละ 30,000 บาท เป็นการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่โจทก์ ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพุทธศักราช 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นโมฆะศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า หากศาลฟังว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ควรนำดอกเบี้ยที่ได้ชำระแล้วหักต้นเงินที่กู้ยืมเมื่อคำนวณยอดเงินที่จำเลยชำระแล้ว 55 งวด เป็นเงิน 1,620,000 บาท (ที่ถูก 1,650,000 บาท) โจทก์จึงได้รับชำระต้นเงินครบถ้วนแล้วนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับคืน จะให้นำไปหักกับต้นเงินดังที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share