แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คู่สัญญามีความประสงค์จะทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กันตามหมายเลขทะเบียนของรถยนต์เป็นสำคัญ แม้ตามสัญญาประกันภัยที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยเป็นผู้ทำจะระบุเลขตัวถังของรถยนต์ผิดมาตลอดจนเกิดเหตุ แต่ในระหว่างนั้น จำเลยที่ 2 ก็จ่ายเบี้ยประกันภัยมาตลอด เมื่อเกิดเหตุขึ้นจำเลยที่ 4 ก็จ่ายค่าเสียหายตามสัญญาทุกครั้ง มิได้ยกขึ้นเป็นข้อโต้แย้ง จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4ได้ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2
กรมธรรม์ประกันภัยระบุความรับผิดต่อความมรณะไว้ว่า”เกิน 50,000 บาท ถึง 100,000 บาท ต่อหนึ่งคน” ดังนี้ ตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 4 ไว้ในความเสียหายส่วนที่เกิน 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งความเสียหายส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท โจทก์ทั้งสองมีสิทธิที่จะได้รับจากจำเลยที่ 4 ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอยู่แล้วและจำเลยที่ 4 ยังต้องรับผิดในความเสียหายส่วนที่เกิน 50,000 บาท ด้วย แต่ความรับผิดทั้งหมดเมื่อรวมความรับผิดตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถแล้วต้องไม่เกินคนละ 100,000 บาท
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทนงศักดิ์ อุปชาย์ โจทก์ที่ 2 เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวทอง นนทภา จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2536 นายทนงศักดิ์ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 8 ผ-3609 มีนางสาวทองนั่งซ้อนท้ายแล่นมาตามถนนนนทบุรี 1มุ่งหน้าไปสนามบินน้ำ เมื่อถึงที่เกิดเหตุใกล้ทางเข้าวัดแคนอกได้ถูกเฉี่ยวชนโดยรถยนต์บรรทุกพ่วง หมายเลขทะเบียน 80-7840 นนทบุรี ของจำเลยที่ 2 และที่ 3มีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างเป็นผู้ขับด้วยความเร็วสูงส่ายไปมาด้วยความประมาท เป็นเหตุให้นายทนงศักดิ์และนางสาวทองถึงแก่ความตายโจทก์ที่ 1 เสียค่าปลงศพ 40,800 บาท และขาดไร้อุปการะเดือนละ 2,200 บาท10 ปี เป็นเงิน 264,000 บาท โจทก์ที่ 2 เสียค่าปลงศพและค่าใช้จ่าย 46,700บาท ขาดไร้อุปการะเดือนละ 2,000 บาท 10 ปี เป็นเงิน 240,000 บาท โจทก์ทั้งสองทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกพ่วงคันเกิดเหตุและนายจ้างของจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกพ่วงคันเกิดเหตุซึ่งจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 304,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน286,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ตายทั้งสอง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด หากต้องรับผิดโจทก์ทั้งสองชอบที่จะบังคับเอาแก่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกพ่วงคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2โจทก์ทั้งสองเรียกค่าปลงศพสูงเกินควร ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิมิใช่ค่าปลงศพตามกฎหมาย และค่าขาดไร้อุปการะก็สูงเกินควร จำเลยที่ 2 ได้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองแล้วรายละ 12,500 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองมิใช่มารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายทั้งสอง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับฐานะของจำเลยที่ 3เคลือบคลุม และโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 3 ผิดตัว เพราะระบุชื่อในคำฟ้องไม่ถูกต้องเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของฝ่ายผู้ตาย ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายของโจทก์ทั้งสองไม่เกินรายละ 25,000 บาท เมื่อโจทก์ทั้งสองมิใช่มารดาโดยชอบจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพราะ มิใช่มารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายทั้งสอง จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากนี้จำเลยที่ 4 มิได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกพ่วงคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด และหากต้องรับผิด จำเลยที่ 4 คงรับผิดในวงเงินจำกัดไม่เกินรายละ 50,000 บาท เหตุรถเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ตายทั้งสองหรือมีส่วนประมาทด้วยมากกว่าจึงต้องเฉลี่ยความเสียหายตามส่วน ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายของโจทก์ทั้งสองไม่เกินรายละ 20,000 บาทแต่ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเพราะมิใช่มารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายทั้งสอง ฟ้องโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 4เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์ทั้งสองขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 268,300 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 274,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินแต่ละจำนวน นับถัดจากวันฟ้อง(วันที่ 16 ธันวาคม 2537) จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 4 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่โจทก์แต่ละคนในวงเงิน 150,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 รับผิดเพียงเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางพิจารณาโจทก์ทั้งสองนำสืบว่า โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทนงศักดิ์ อุปชาย์ โจทก์ที่ 2 เป็นมารดาโดย ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวทอง นนทภา วันเกิดเหตุวันที่ 18 ธันวาคม 2536โจทก์ทั้งสองได้รับแจ้งว่าขณะนายทนงศักดิ์ ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 8 ผ-6309 มีนางสาวทองนั่งซ้อนท้ายมาตามถนนนนทบุรี 1มุ่งหน้าไปทางแยกสนามบินน้ำถึงที่เกิดเหตุบริเวณวัดแคนอกได้ถูกรถยนต์บรรทุกพ่วงหมายเลขทะเบียน 80-7840 นนทบุรี เฉี่ยวชน ทำให้คนทั้งสองถึงแก่ความตายทันที ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกพ่วงคันเกิดเหตุได้หลบหนี และรถยนต์บรรทุกพ่วงดังกล่าวมีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 โดยเอาประกันภัยไว้กับบริษัทจำเลยที่ 4 โจทก์ที่ 1 เสียเงินค่าปลงศพจำนวน 40,800 บาท และขาดไร้อุปการะเดือนละ 2,200 บาท นับแต่วันทำละเมิดเป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน264,000 บาท โจทก์ที่ 2 เสียเงินค่าปลงศพ จำนวน 46,700 บาท และขาดไร้อุปการะเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันทำละเมิดเป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 240,000 บาท
จำเลยที่ 4 นำสืบว่า จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดเพราะในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้ ในกรมธรรม์ประกันภัยระบุหมายเลขเครื่องเลขที่ 3000449 ซึ่งเป็นของรถยนต์บรรทุกพ่วงหมายเลขทะเบียน 80-8860 นนทบุรี ส่วนรถยนต์คันเกิดเหตุเคยเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 แต่มีการยกเลิกกรมธรรม์ก่อนครบอายุการคุ้มครองและไม่ได้มีการต่ออายุสัญญาแต่อย่างใด ส่วนรถยนต์บรรทุกพ่วง หมายเลขทะเบียน80-8860 นนทบุรี มีการต่ออายุสัญญามาตลอดเพียงแต่ระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์ผิดพลาดเป็นหมายเลขทะเบียนของรถยนต์คันเกิดเหตุหมายเลขทะเบียน80-7840 นนทบุรี หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 จึงขอเปลี่ยนหมายเลขตัวถังรถยนต์บรรทุกพ่วงหมายเลขทะเบียน 80-8860 นนทบุรี มาเป็นหมายเลขตัวถังของรถยนต์คันเกิดเหตุ ซึ่งจำเลยที่ 4 ถือว่าเพิ่งรับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุนับแต่มีการเปลี่ยนหมายเลขตัวถังรถอันเป็นเวลาหลังเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว หากจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดก็รับผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายเท่านั้น
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันว่าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2536 นายทนงศักดิ์ อุปชาย์ ได้ขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนนนนทบุรี 1 โดยมีนางสาวทอง นนทภา นั่งซ้อนท้าย ต่อมาได้เฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกพ่วงหมายเลขทะเบียน 80-7840 นนทบุรี จนเป็นเหตุให้นายทนงศักดิ์และนางสาวทองถึงแก่ความตาย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่าจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-7840นนทบุรี หรือไม่ โจทก์ทั้งสองและนายวัฒนา ชิตโสภณ กรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 4 ทำสัญญารับประกันภัยรถยนต์บรรทุกพ่วงหมายเลขทะเบียน 80-7840 นนทบุรี ไว้ตั้งแต่ปี 2534 และได้มีการต่อสัญญาประกันภัยเรื่อยมาจนถึงวันที่ 3 เมษายน 2537 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.12จ.13 และ ล.2 ส่วนจำเลยที่ 4 มีนายไกรพันธ์ ผาสุข เบิกความว่า จำเลยที่ 4ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 80-7840 นนทบุรี จำเลยที่ 4เคยรับประกันภัยรถยนต์คันนี้ไว้ แต่สัญญาประกันภัยได้สิ้นสุดลงแล้วเพราะได้มีการยกเลิกกรมธรรม์และไม่ได้ต่ออายุสัญญาตามเอกสารหมาย ล.12 เห็นว่าจำเลยที่ 4 ไม่ได้นำสืบหักล้างเอกสารหมาย จ.12 ว่าไม่ ถูกต้องแต่อย่างใด ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวมีการระบุถึงการเกิดเหตุ 2 ครั้ง มีการดำเนินการเบิกจ่ายไปเรียบร้อยแล้วก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.12 ที่มาจากตารางกรมธรรม์เอกสารหมาย ล.2 ระบุว่าเป็นการรับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน80-7840 นนทบุรี แม้ตามเอกสารดังกล่าวจะระบุเลขตัวถังเป็นเลข 3000449ซึ่งที่ถูกต้องเป็นเลข 3900228 ก็เป็นการกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นผู้ออกกรมธรรม์ประกันภัยแต่ผู้เดียว โดยที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยคือจำเลยที่ 2 มิได้เกี่ยวข้องด้วย และนายวัฒนากรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยืนยันว่า ได้ทำประกันภัยรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 80-7840 นนทบุรี ไว้ด้วยและมีการจ่ายเบี้ยประกันภัยมาตลอด เมื่อพิจารณาประกอบกับเอกสารหมาย ล.7เป็นไปรษณียบัตรซึ่งฝ่ายจำเลยที่ 4 ส่งไปให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยระบุข้อความไว้แต่เพียงว่าให้ไปทำสัญญาประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน80-7840 ซึ่งจะหมดอายุวันที่ 3 เมษายน 2537 แสดงให้เห็นว่าคู่กรณีมีความประสงค์จะทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กันตามหมายเลขทะเบียนของรถยนต์เป็นสำคัญ เพราะมิฉะนั้นแล้วคงจะต้องมีการระบุเลขตัวถังไว้ในหนังสือต่าง ๆ เป็นสำคัญด้วย แม้ตามสัญญาจะระบุเลขตัวถังของรถยนต์ผิดมาตลอดจนเกิดเหตุ แต่ในระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 ก็จ่ายเบี้ยประกันภัยมาตลอด เมื่อเกิดเหตุขึ้นจำเลยที่ 4 ก็จ่ายค่าเสียหายตามสัญญาทุกครั้ง มิได้ยกขึ้นเป็นข้อโต้แย้งเมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของนายไกรพันธ์ซึ่งเป็นทนายของจำเลยที่ 4ที่ยอมรับว่าได้เคยรับประกันภัยรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 80-7840 นนทบุรีแล้วจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญารับประกันภัยรถยนต์ หมายเลขทะเบียน80-7840 นนทบุรี คันเกิดเหตุคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 80-7840 นนทบุรี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย สำหรับประเด็นตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยคือ ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 4 เคลือบคลุมหรือไม่ และเหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่
ประเด็นว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 4 เคลือบคลุมหรือไม่นั้นจำเลยที่ 4 ให้การว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุม เพราะโจทก์ทั้งสองไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 4 รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-7840นนทบุรี ไว้จากผู้ใด จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดอย่างไร เป็นจำนวนเงินเท่าใด เห็นว่าโจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องไว้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-7840 นนทบุรี ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วย ความประมาท เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่นายทนงศักดิ์ขับล้มลง เป็นเหตุให้นายทนงศักดิ์และนางสาวทองถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 4เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับดังกล่าวตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 9 แม้โจทก์ทั้งสองจะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 4 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากผู้ใดก็ตาม แต่ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 9 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องนั้น คือสัญญาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว โดยมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้เอาประกันภัย และจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัย ดังนี้ ถือว่าคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสองและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ส่วนเรื่องที่ว่า จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหรือตามกรมธรรม์ประกันภัยทั่วไปอย่างไร เป็นจำนวนเงินเท่าใด นั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์ทั้งสองสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงไม่เคลือบคลุม
ประเด็นว่าเหตุรถชนเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้นโจทก์มีร้อยตำรวจเอกเสริมศักดิ์ รุ่งเรือง พนักงานสอบสวนมาเบิกความว่าหลังเกิดเหตุพยานได้ออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบรถจักรยานยนต์ล้มอยู่กลางถนนพยานได้ทำแผนที่เกิดเหตุไว้ตามเอกสารหมาย จ.7 และได้สอบปากคำพยานคือนายวิชา เตชะบัญ ตามรายงานสอบสวนเอกสารหมาย จ.6 ส่วนจำเลยที่ 1หลบหนีไป ปัจจุบันยังตามจับตัวไม่ได้ ซึ่งตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ จุดที่สันนิษฐานว่าเป็นจุดเฉี่ยวชนคือจุดหมายเลข 1 ซึ่งอยู่ในช่องเดินรถที่ 2ห่างจากเกาะกลางถนนประมาณ 50 เซนติเมตร เห็นว่าจากจุดเฉี่ยวชนดังกล่าวเชื่อได้ว่า ขณะที่รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ รถยนต์คันดังกล่าวกำลังแล่นคร่อมช่องเดินรถทั้งสองช่องทางดังที่ร้อยตำรวจเอกเสริมศักดิ์เบิกความทั้งหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ก็หลบหนีไป โดยที่ฝ่ายจำเลยมิได้สืบโต้แย้งเกี่ยวกับปัญหานี้แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กระทำละเมิดจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้าง ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างและจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพียงใดนั้น โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 รายการที่ 4 คนละ100,000 บาท และตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอีกคนละ 50,000บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 4 ต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 150,000 บาทจำเลยที่ 4 แก้ฎีกาว่าตามเอกสารหมาย ล.2 จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพียงคนละ 50,000 บาท เท่านั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 รายการที่ 4 อันเป็นความรับผิดตามสัญญาข้อ 2.1 คือความรับผิดต่อความมรณะระบุไว้ว่า “เกิน 50,000 บาท ถึง 100,000 บาทต่อหนึ่งคน”เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 4ไว้ในความเสียหายส่วนที่เกิน 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งความเสียหายส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท โจทก์ทั้งสองมีสิทธิที่จะได้รับจากจำเลยที่ 4ตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอยู่แล้ว และจำเลยที่ 4 ยังต้องรับผิดในความเสียหายส่วนที่เกิน 50,000 บาท ด้วย แต่ความรับผิดทั้งหมดเมื่อรวมความรับผิดตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถแล้วต้องไม่เกิน 100,000บาท เท่ากับจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.2อีก 50,000 บาท รวมแล้วจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองคนละ 100,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 โจทก์ทั้งสองฎีกาขอให้จำเลยที่ 4 รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสอง จึงมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจำนวน 300,000 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีการวม 7,600 บาท แต่โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลมาจำนวน 14,935 บาท จึงเสียเกินมาจำนวน 7,335 บาท ศาลฎีกาเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำนวนค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองนั้น ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดชำระแก่โจทก์ทั้งสองแต่ละคนด้วยเป็นเงินคนละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 ธันวาคม 2537) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 7,335 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 4ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นกับให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2