คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2172/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และมีฐานะเป็นนายจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับบริษัทจำเลยที่ 2 คดีเดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด ถือว่าจำเลยที่ 1 ในคดีเดิมและคดีนี้เป็นคนละคนกัน จึงมิใช่เป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกอันจะเป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนซึ่งศาลสั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าโดยไม่มีความผิดและไม่คืนเงินประกันค่าเสียหาย บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินประกันค่าเสียหายคืนโจทก์ทั้งสองเป็นเงินคนละ1,043.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินคนละ 8,141.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 7,800 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินคนละ 2,713.75 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน2,600 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ที่ 2ทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองเคยฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ้างแรงงานซึ่งศาลได้วินิจฉัยเรื่องสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง เพราะโจทก์ทั้งสองไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 3752/2532 ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้เรียกเงินประกันค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดคืนเงินประกันค่าเสียหาย จำเลยที่ 2ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง ความจริงโจทก์ทั้งสองขอลาออกจากงานเอง จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนไม่เป็นฟ้องซ้ำจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสอง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 จำเลยที่ 2 หักเงินประกันโจทก์ทั้งสองไว้ตามฟ้องและจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองแต่ละคนมีสิทธิได้รับเงินประกันค่าเสียหายคืน และได้รับค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามฟ้อง กับมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 2,384.72 บาท และดอกเบี้ยจำนวน104.33 บาท รวมเป็นเงิน 2,489.05 บาท รวมเงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับจำนวน 11,674.05 บาท พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันใช้เงินให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นจำนวนคนละ 11,674.05 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องคือวันที่ 21 พฤศจิกายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ที่ 2ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ตามข้อ 2.2 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำการในนามของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ได้ให้ความหมายของคำว่า”นายจ้าง” ไว้ว่า “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลหมายความว่า ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล คดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นนายจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ตามข้อ 2.3 ว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 3752/2532ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีเดิมคือคดีหมายเลขแดงที่ 3752/2532 ของศาลแรงงานกลางนั้น โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดธีระอิมปอร์ทแอนด์เอ็คซปอร์ท ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้เป็นการฟ้องจำเลยที่ 1ให้รับผิดในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด ถือว่าจำเลยที่ 1ในคดีเดิมและคดีนี้ที่ถูกโจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นคนละคนกัน จึงมิใช่เป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกอันจะเป็นฟ้องซ้ำดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share