คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามบัญชี พี.เอ็น.มาร์จิน และบัญชีแคชมาร์จิน ตามสัญญาให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด กับบันทึกข้อตกลงในการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์มาวางเป็นประกัน
บทบัญญัติในการตัดพยานเอกสารในคดีแพ่งตามมาตรา 118 แห่ง ป.รัษฎากรนั้น ต้องตีความโดยเคร่งครัด เอกสารที่ถูกห้ามเป็นพยานจึงต้องเป็นเอกสารที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรเท่านั้น ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 5 ระบุว่า “5. กู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร ค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ทุกจำนวน 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท แห่งยอดเงินที่กู้ยืมหรือตกลงให้เบิกเกินบัญชี” ตามบทบัญญัติดังกล่าวระบุเอกสารไว้เพียง 2 ประเภท คือ สัญญากู้เงินกับสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร สัญญากู้เงินแตกต่างจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เนื่องจากการกู้เงินคู่สัญญาย่อมทราบจำนวนเงินอันมีวัตถุประสงค์ของสัญญาได้ทันที และสามารถปิดอากรแสตมป์ไปตามจำนวนดังกล่าวได้ แต่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแม้ในทางปฏิบัติจะเรียกว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี แต่ก็มิใช่สัญญากู้ทั่วไป เนื่องจากขณะทำสัญญาเป็นเพียงกำหนดวงเงินที่ลูกหนี้จะทำการก่อหนี้ได้เท่านั้น ส่วนลูกหนี้จะขอกู้และเป็นหนี้จำนวนเท่าใดยังไม่ทราบแน่ชัดในขณะทำสัญญา ด้วยเหตุนี้บัญชีอัตราอากรแสตมป์จึงระบุไว้ให้ถือเอาวงเงินที่ตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นจำนวนที่จะคำนวณค่าอากรแสตมป์ หาใช่จำนวนที่เป็นหนี้กันจริงไม่
สัญญาให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัดมีวัตถุประสงค์ให้บริษัทตัวแทนจ่ายเงินทดรองอันถือเป็นเงินกู้ยืมเพื่อชำระราคาค่าซื้อหลักทรัพย์ที่ลูกค้าสั่งซื้อ หรือออกค่าใช้จ่ายไปตามความจำเป็นเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ โดยมีการหักทอนบัญชีเป็นครั้งคราว เช่นเดียวกับบันทึกข้อตกลงในการกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์นั้นมาวางเป็นประกัน ที่มีวัตถุประสงค์และวิธีการปฏิบัติทำนองเดียวกัน แสดงว่าในขณะทำสัญญายังไม่ทราบจำนวนยอดเงินที่เป็นหนี้คงทราบแต่เพียงวงเงินที่อนุมัติไว้หนี้ตามวงเงินจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ยังไม่แน่ชัด อยู่ที่การสั่งซื้อของลูกค้าและการหักทอนบัญชีอันจะมีระหว่างคู่สัญญา กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการกู้ตามความประสงค์ของข้อ 5 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ คงมีลักษณะเป็นเพียงการกำหนดวงเงินเพื่อหักทอนบัญชีเดินสะพัด แต่ข้อ 5 แห่งบัญชีดังกล่าวกำหนดให้การตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารเท่านั้นที่จะเสียค่าอากรแสตมป์ตามยอดที่ตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชี หาได้รวมถึงสัญญาที่กำหนดวงเงินกู้ซื้อหลักทรัพย์ประเภท พี.เอ็น.มาร์จิน และแคชมาร์จิน ด้วยไม่ กรณีไม่อาจตีความให้คลุมถึงได้ จึงต้องถือว่าสัญญาให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด และบันทึกข้อตกลงในการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์เป็นประกันมิใช่เอกสารที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เอกสารดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติมาตรา 118 แห่ง ป.รัษฎากร ศาลชอบที่จะรับและฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 86,561,977.83 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 58,595,062.33 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามสัญญาให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด กับบันทึกข้อตกลงในการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์นั้นมาวางเป็นประกันได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยเป็นยุติแล้วว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามบัญชี พี.เอ็น.มาร์จิน และบัญชีแคชมาร์จิน แต่เมื่อโจทก์ไม่ปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ ศาลล่างทั้งสองจึงเห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ในจำนวนดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่แท้จริงจะเป็นเช่นไรก็ตาม หากไม่มีการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์ให้ถูกต้องตามมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร ก็ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเช่นนั้นเป็นพยานในคดีแพ่งได้ บทบัญญัติมาตรา 118 จึงเป็นบทบัญญัติในการตัดพยานเอกสารในคดีแพ่ง บทกฎหมายที่จำกัดหรือตัดพยานเช่นนี้จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ดังนั้น เอกสารที่จะถูกห้ามเป็นพยานจึงต้องเป็นเอกสารที่มีระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรเท่านั้นหาอาจใช้ไปถึงเอกสารใด ๆ ที่มิได้มีการระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ดังกล่าวได้ไม่ ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 5 ระบุว่า “5. กู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร ค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ทุกจำนวนเงิน 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท แห่งยอดเงินที่กู้ยืมหรือตกลงให้เบิกเกินบัญชี” ตามบทบัญญัติดังกล่าวระบุเอกสารไว้เพียง 2 ประเภท คือสัญญากู้เงินกับสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร สัญญากู้เงินมีความแตกต่างจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เนื่องจากการกู้เงิน คู่สัญญาย่อมจะทราบจำนวนเงินอันเป็นวัตถุประสงค์ของสัญญาได้ทันที และสามารถปิดอากรแสตมป์ไปตามจำนวนดังกล่าวได้ แต่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแม้ในทางปฏิบัติจะเรียกว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี แต่ก็มิใช่สัญญากู้เงินทั่วไป เนื่องจากขณะทำสัญญาเป็นเพียงการกำหนดวงเงินที่ลูกหนี้จะทำการก่อหนี้ได้เท่านั้น ส่วนลูกหนี้จะขอกู้และเป็นหนี้ในจำนวนใดยังไม่ทราบแน่ชัดในขณะทำสัญญา ด้วยเหตุนี้บัญชีอัตราอากรแสตมป์จึงระบุไว้ให้ถือเอาวงเงินที่ตกลงให้เบิกเกินบัญชีเป็นจำนวนที่จะคำนวณค่าอากรแสตมป์ หาใช่จำนวนที่เป็นหนี้กันจริงไม่ ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงสัญญาให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด ที่กำหนดวัตถุประสงค์ให้บริษัทตัวแทนจ่ายเงินทดรองอันถือเป็นเงินกู้ยืมเพื่อชำระราคาค่าซื้อหลักทรัพย์ที่ลูกค้าสั่งซื้อ หรือออกค่าใช้จ่ายไปตามความจำเป็นเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ โดยให้มีการหักทอนบัญชีกันเป็นครั้งคราว หรือบันทึกข้อตกลงในการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์นั้นมาวางเป็นประกัน ที่มีวัตถุประสงค์และวิธีการปฏิบัติทำนองเดียวกับสัญญา แสดงว่าในขณะทำสัญญายังไม่ทราบจำนวนยอดเงินที่เป็นหนี้คงทราบแต่เพียงวงเงินที่อนุมัติไว้ ทั้งหนี้ตามวงเงินจะบังเกิดมีขึ้นหรือไม่ก็ไม่เป็นที่แน่ชัด อยู่ที่การสั่งซื้อของลูกค้าและการหักทอนบัญชีอันจะมีระหว่างคู่สัญญา กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการกู้ตามความประสงค์ของข้อ 5. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ คงมีลักษณะเป็นเพียงการกำหนดวงเงินเพื่อหักทอนบัญชีเดินสะพัด แต่ข้อ 5.แห่งบัญชีดังกล่าวกำหนดให้การตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารเท่านั้นที่จะเสียค่าอากรแสตมป์ตามยอดที่ตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชี หาได้บัญญัติรวมมาถึงสัญญาที่กำหนดวงเงินกู้ซื้อหลักทรัพย์ประเภท พี.เอ็น.มาร์จิน และแคชมาร์จิน ดังที่ปรากฏในคดีนี้ด้วยไม่ และกรณีไม่อาจตีความความหมายที่กำหนดไว้ให้ครอบคลุมถึงได้ จึงต้องถือว่าสัญญาให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด และบันทึกข้อตกลงในการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์นั้นเป็นประกัน มิใช่เอกสารที่มีการระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เอกสารดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร ศาลจึงชอบจะรับและฟัง เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 86,561,977.83 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 58,595,062.33 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท

Share