คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5655/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางได้มีคำวินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคท้าย อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า คดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางหรือไม่ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งว่า “อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 ทศ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของบุคคลที่มีอยู่ในความครอบครองจำเลยทั้งหมดมีกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ลงในคำสั่งอายัด” ซึ่งวิธีอายัดทรัพย์สินให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม และ ป.รัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ กับระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการอายัดทรัพย์สินตามความในมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร พ.ศ. 2539 ข้อ 15 ได้ระบุเรื่องผลการอายัดไว้ในข้อ (2) (ก) ว่า “สิทธิเรียกร้องให้ชำระเงิน การอายัดสิทธิเรียกร้องแห่งรายได้เป็นคราว ๆ ซึ่งรวมถึงจำนวนเงินที่ถึงกำหนดชำระภายหลังการอายัดนั้นด้วย แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาว่าคำสั่งอายัดนั้นรวมถึงเงินที่ต้องชำระภายหลังการอายัดด้วยหรือไม่” เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีหนังสืออายัดค่าจ้างของโจทก์ ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยเป็นคราว ๆ โดยมิได้ระบุยกเว้นเงินที่จะถึงกำหนดชำระแก่โจทก์ภายหลังการอายัด คำสั่งอายัดจึงรวมถึงค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยภายหลังการอายัดด้วยจนกว่าคำสั่งอายัดจะสิ้นผล เมื่อต่อมาศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการอายัดทรัพย์สินของโจทก์ออกไปอีก 180 วัน ระยะเวลาการอายัดที่ศาลอาญาขยายให้ดังกล่าวมีผลครอบคลุมถึงค่าจ้างในระยะเวลาที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างและดอกเบี้ยตามที่ฟ้องให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ระหว่างทำงานให้แก่จำเลย จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๒ จนถึงวันฟ้อง โดยอ้างว่าธนาคารแห่งประเทศไทย มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของโจทก์ตามคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ธปท.ถ. ๓๖๓๗/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีผลอายัดทรัพย์สินของโจทก์ถึงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ เท่านั้น การที่จำเลยค้างจ่ายเงินค่าจ้างโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งว่า คำสั่งอายัดทรัพย์สินของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ธปท.ถ. ๓๖๓๗/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ เป็นคำสั่งอายัดทรัพย์สินของโจทก์ที่มีอยู่ในความครอบครองของจำเลย ณ วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ เท่านั้น และให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑,๗๙๙,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ แต่ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ ธปท.ถ. ๓๖๓๗/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔๖ ทศ และศาลอาญามีคำสั่งขยายระยะเวลาการอายัดทรัพย์ของโจทก์ออกไปอีก ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๔๓ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๓ ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์ โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านหรือขอเพิกถอนคำสั่งอายัดต่อศาลอาญา สิทธิเรียกร้องเงินเดือนของโจทก์ภายหลังวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ยังคงอยู่ภายใต้คำสั่งอายัดดังกล่าวจนกว่าจะครบกำหนด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๒ จำเลยได้รับหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ธปท.ถ. ๓๖๓๗/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ให้อายัดทรัพย์สินของโจทก์ มีกำหนด ๑๘๐ วัน อ้างว่าโจทก์กระทำผิดขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ต่อมาศาลอาญาได้อนุญาตให้ขยายเวลาอายัดทรัพย์สินของโจทก์ออกไปอีก ๑๘๐ วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๓ แล้ววินิจฉัยว่าคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยให้อายัดทรัพย์สินทุกประเภทของโจทก์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลย ณ วันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งอายัด คือวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ไม่รวมถึงทรัพย์สินของโจทก์ที่จะได้รับจากจำเลยหลังวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไป พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายของเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๒ ถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๔๓ เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายและเงินประกันสังคมแล้ว เป็นเงิน ๑,๓๘๗,๒๖๗.๘๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๓) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแรงงานกลางหรือไม่ เห็นว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางได้มีคำวินิจฉัยที่ ๗๖/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๓ ว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙ วรรคท้าย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสองว่า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างค้างพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาหรือไม่ พิเคราะห์คำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ธปท.ถ. ๓๖๓๗/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ที่ระบุว่า “อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๖ ทศ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าว (โจทก์) … จึงแจ้งมายังท่าน เพื่ออายัดทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าว (โจทก์) ที่มีอยู่ในความครอบครองทั้งหมด มีกำหนด ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่ลงในคำสั่งอายัดนี้…” เห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกคำสั่งอายัดโดยอาศัยอำนาจในมาตรา ๔๖ ทศ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งวิธีอายัดทรัพย์สินนั้นให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม และประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒ วรรคสี่ กับระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการอายัดทรัพย์สินตามความในมาตรา ๑๒ แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. ๒๕๓๙ ข้อ ๑๕ ได้ระบุเรื่องผลการอายัดไว้ในข้อ (๒) (ก) ว่า “สิทธิเรียกร้องให้ชำระเงิน การอายัดสิทธิเรียกร้องแห่งรายได้เป็นคราว ๆ ซึ่งรวมถึงจำนวนเงินที่ถึงกำหนดชำระภายหลังการอายัดนั้นด้วย แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาว่าคำสั่งอายัดนั้นรวมถึงเงินที่ต้องชำระภายหลังการอายัดด้วยหรือไม่” ซึ่งปรากฏว่า คดีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหนังสืออายัดค่าจ้างของโจทก์ ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยเป็นคราว ๆ โดยมิได้ระบุยกเว้นเงินที่จะถึงกำหนดชำระแก่โจทก์ภายหลังการอายัด ดังนั้น คำสั่งอายัดจึงรวมถึงค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยภายหลังการอายัดคือค่าจ้างหลังวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ด้วย จนกว่าคำสั่งอายัดจะสิ้นผล ปรากฏว่าคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้อายัดทรัพย์สินของโจทก์มีกำหนด ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่ลงในคำสั่งนั้น ต่อมาศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการอายัดทรัพย์สินของโจทก์ออกไปอีก ๑๘๐ วัน จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๓ ระยะเวลาการอายัดที่ศาลอาญาขยายให้ดังกล่าวจึงมีผลครอบคลุมถึงค่าจ้างในระยะเวลาที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยคือระหว่างเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๒ ถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๔๓ ด้วย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างและดอกเบี้ยตามที่ฟ้องให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด.

Share