แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การกระทำผิดฐานกระทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นต้องมีเจตนาในการกระทำต่อรังนกอีแอ่นในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รังนกที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ส่วนการมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นนั้น เป็นการกระทำที่ต้องอาศัยเจตนาในการยึดถือเพื่อตนซึ่งรังนกอีแอ่น จึงมีสภาพและลักษณะของการกระทำที่แตกต่างกัน สามารถแยกการกระทำเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ ถึงแม้บทลงโทษในความผิดดังกล่าวอยู่ในมาตราเดียวกัน ก็เป็นเพียงการบัญญัติลักษณะของการกระทำผิดต่าง ๆ มากำหนดโทษไว้ในที่แห่งเดียวเพราะมีอัตราโทษเท่ากันเท่านั้น กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้กระทำผิดในแต่ละกรณีเป็นรายกระทงไป แม้จำเลยกระทำผิดทั้งสองฐานในคราวเดียวกันและต่อเนื่องกัน ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
อาวุธปืนออโตเมติกขนาด9มม. จำนวน 1 กระบอก ซองบรรจุกระสุน 1 อัน กระสุนปืนขนาด 9 มม. จำนวน 2 นัด ซองพก 1 ซองและปลอกกระสุนปืนขนาด 9 มม. 1 ปลอก ของกลาง ที่ ย. ใช้ยิงต่อสู้เจ้าพนักงานตำรวจเป็นของ ย. แต่ ย. ถูกยิงตายสิทธินำคดีอาญามาฟ้อง ย. ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1) และโทษย่อมระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 38 จึงไม่อาจริบของกลางดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกอีก 1 คน ซึ่งถูกเจ้าพนักงานยิงตายร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันขึ้นไปบนเกาะรูสิบหรือรูสิ้ม อันเป็นเกาะที่จำเลยทั้งสามรู้ว่าเป็นเกาะที่หวงห้ามมิให้ใครขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันใช้เหล็กแหลมแทงรังนกอีแอ่นที่ผนังถ้ำดำบนเกาะดังกล่าว อันสามารถอาจเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่นและรังนกอีแอ่นบรรดาที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แล้วเก็บรังนกอีแอ่นดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตและเสียเงินอากร และจำเลยทั้งสามร่วมกันลักรังนกอีแอ่นจำนวน 1 ถุง น้ำหนัก 5 กิโลกรัม ราคา 15,000 บาท ของบริษัทรังนกแหลมทอง (สยาม) จำกัด ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับสัมปทานเก็บรังนกดังกล่าวไปโดยทุจริตและใช้เรือเป็นยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป และจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นดังกล่าว โดยรู้ว่าได้มาจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 335, 336 ทวิพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 มาตรา 4, 5, 6, 7, 9, 10, 12 พระราชกฤษฎีกากำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. 2485 มาตรา 3 คืนรังนกของกลางแก่เจ้าของ ริบของกลางอื่น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) วรรคสาม (ที่ถูกวรรคสอง),336 ทวิ พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง,6, 7, 9, 10, 12 พระราชกฤษฎีกากำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. 2485 มาตรา 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไป ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 6 ปี ฐานมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี ฐานขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 90 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 7 ปี ปรับคนละ 90 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 4 ปี 8 เดือน และปรับคนละ 60 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 วรรคหนึ่ง คืนรังนกของกลางแก่เจ้าของ ริบของกลางอื่นยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นจำคุกคนละ 1 ปี รวมกับโทษฐานมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุกคนละ 2 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1และที่ 2 คนละ 1 ปี 4 เดือน ไม่คืนรังนกอีแอ่นของกลางแก่ผู้เสียหาย ยกฟ้องความผิดฐานลักทรัพย์และฐานเข้าหรือขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่า สถานที่เกิดเหตุตามฟ้องเป็นเกาะมีถ้ำที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเขตห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. 2485 บริษัทรังนกแหลมทอง (สยาม) จำกัด ผู้เสียหายเป็นผู้ได้รับสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นบนเกาะดังกล่าว ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 ถึง 31 ตุลาคม 2541 ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันเข้าไปในถ้ำดำซึ่งอยู่บนเกาะที่เกิดเหตุ และเก็บรังนกอีแอ่นในถ้ำนั้นอันอาจเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่นและรังนกอีแอ่น แล้วครอบครองรังนกอีแอ่นของกลางปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เหล็กแหลมแทงรังนกอีแอ่น อันเป็นการทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นและมีรังนกอีแอ่นของกลางดังกล่าวไว้ในครอบครอง เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้ในขณะเกิดเหตุนั้นมาตรา 5 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใด ๆ อันสามารถอาจเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่นหรืออาจเป็นเหตุให้นกอีแอ่นละที่อาศัยไปจากเกาะที่ทำรังอยู่ตามธรรมชาติ หรือกระทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่น บรรดาที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนเกาะ มาตรา 7 บัญญัติว่า ผู้ใดจะเก็บรังนกอีแอ่นบรรดาที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนเกาะ ต้องได้รับอนุญาตและเสียเงินอากรตามวิธีการซึ่งจะได้กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา 9 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่น อันตนรู้ว่าได้มาโดยกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ จะเห็นได้ว่าการกระทำผิดฐานกระทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่น ต้องมีเจตนาในการกระทำต่อรังนกอีแอ่นในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รังนกที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นกรณีที่อาศัยเจตนาอย่างหนึ่ง ส่วนการมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นนั้น เป็นการกระทำที่ต้องอาศัยเจตนาในการยึดถือเพื่อตนซึ่งรังนกอีแอ่น การกระทำผิดในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวมีสภาพและลักษณะของการกระทำที่แตกต่างกัน สามารถแยกการกระทำเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ถึงแม้บทลงโทษในความผิดดังกล่าวอยู่ในมาตราเดียวกันก็ตาม ก็เป็นเพียงการบัญญัติลักษณะของการกระทำผิดต่าง ๆ มากำหนดโทษไว้ในที่แห่งเดียวเพราะมีอัตราโทษเท่ากันเท่านั้น กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้กระทำผิดในแต่ละกรณีเป็นรายกระทงไป แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำผิดทั้งสองฐานในคราวเดียวกันและต่อเนื่องกันการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ริบอาวุธปืนออโตเมติก ขนาด 9 มม. จำนวน 1 กระบอก ซองบรรจุกระสุน 1 อัน กระสุนปืนขนาด 9 มม. จำนวน 2 นัด ซองพก 1 ซอง และปลอกกระสุนปืนขนาด 9 มม. 1 ปลอก ของกลาง ที่นายยงยุทธ ชูแก้ว ใช้ยิงต่อสู้เจ้าพนักงานตำรวจนั้น เมื่อปรากฏว่าของกลางดังกล่าวเป็นของนายยงยุทธ แต่นายยงยุทธถูกเจ้าพนักงานตำรวจยิงตายในที่เกิดเหตุสิทธินำคดีอาญามาฟ้องนายยงยุทธย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1) และโทษย่อมระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 38 จึงไม่อาจริบของกลางดังกล่าวได้ และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบอาวุธปืนออโตเมติก ขนาด 9 มม. จำนวน 1 กระบอก ซองบรรจุกระสุนปืน 1 อัน กระสุนปืนขนาด 9 มม. จำนวน 2 นัด ซองพก 1 ซอง และปลอกกระสุนปืน ขนาด 9 มม. 1 ปลอก ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9