แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ฟ้องเรียกเงินฝากที่ อ. ฝากไว้คืนจากจำเลยไม่ใช่กรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดเพื่อใช้เงินบำเหน็จ ค่าฝากทรัพย์ชดใช้เงินค่าใช้จ่ายและใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ต้องใช้อายุความ 10 ปี
แม้ตามสำเนาสมุดเงินฝากประจำมีการแสดงยอดเงินคงเหลือครั้งสุดท้ายนับถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่ตามระเบียบการฝากเงินประจำโดยใช้สมุดคู่ฝากที่ปรากฏในสำเนาสมุดเงินฝากประจำข้อ 3 ระบุว่าการฝากทุก ๆ รายการ จำเลยถือว่าผู้ฝากตกลงฝากประจำมีกำหนดระยะเวลา1 ปี นับแต่วันเดือนปีที่ปรากฏของแต่ละรายการนั้น ๆ และข้อ 4 ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยจำเลยคำนวณให้เช่นเดียวกับเงินฝากประจำอื่นดังนี้ ฯลฯฝากตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไปและได้ฝากครบกำหนดระยะเวลานั้น คำนวณดอกเบี้ยให้ร้อยละ 8 ต่อปี กับข้อ 5 ระบุว่า ระเบียบการนอกจากนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบและประเพณีพึงปฏิบัติของธนาคารทุกประการโดยระเบียบประเพณีและข้อตกลงดังกล่าว จำเลยต้องแสดงยอดเงินฝากคงเหลือของเงินฝากแต่ละรายการพร้อมดอกเบี้ยทุกระยะ 1 ปี ต่อครั้งให้แก่ผู้ฝาก แม้จะยังมิได้แสดงไว้ในสำเนาสมุดเงินฝาก ก็ถือว่าจำเลยได้ปฏิบัติการชำระดอกเบี้ยทุกระยะเวลา 1 ปี อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อผู้ฝากด้วย การชำระดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(1) เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงและอายุความจะสะดุดหยุดลงเรื่อยไปทุกระยะเวลา 1 ปี ฉะนั้น แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกเงินฝากคืนพร้อมดอกเบี้ยหลังจากที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินประมาณเกือบสองปีแล้วก็ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปีจึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดกของนางอัมพร ศรีสวัสดิ์ โดยคำสั่งศาลแพ่งธนบุรี คดีหมายเลขแดงที่ 3155/2537นางอัมพรเปิดบัญชีเงินฝากประจำไว้แก่จำเลย สาขาลำปาง รวม 2 บัญชีคือบัญชีเลขที่ 1097-2 และเลขที่ 431-3 นางอัมพรได้นำเงินเข้าฝากเรื่อยมายอดเงินครั้งสุดท้ายของบัญชีเลขที่ 1097-2 ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2521 มีเงินคงเหลือ 81,239 บาท และบัญชีเลขที่ 431-3 ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2521มีเงินคงเหลือ 103,172.50 บาท ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2537 นางอัมพรถึงแก่กรรมศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางอัมพรโจทก์ไปถอนเงินตามบัญชีเงินฝากของนางอัมพรทั้งสองบัญชี จำเลยไม่ยอมให้ถอนเงินอ้างว่าหาหลักฐานเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากของนางอัมพรไม่พบและไม่สามารถจ่ายเงินคืนให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามจำเลยให้คืนเงินฝากตามบัญชีเงินฝากประจำพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินฝาก 184,411.50 บาท ตามบัญชีเลขที่ 1097-2 และบัญชีเลขที่ 431-3 พร้อมดอกเบี้ยเงินฝากประจำตามประกาศของจำเลยนับแต่วันฝากจนกว่าจำเลยจะคืนเงินฝากเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้แสดงหลักฐานโดยแจ้งชัดถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยรับว่านางอัมพร ศรีสวัสดิ์เปิดบัญชีเงินฝากประจำไว้แก่จำเลยสาขาลำปาง ต่อมานางอัมพรแจ้งว่าสมุดเงินฝากประจำหาย จำเลยจึงออกสมุดเงินฝากประจำเล่มใหม่ให้และนางอัมพรได้ถอนเงินฝากทั้งสองบัญชีไปจนหมดและปิดบัญชีแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ สิทธิเรียกร้องเงินฝากตามบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์ทั้งสองบัญชีพ้นกำหนด 10 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 184,411.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 103,172.50 บาท นับแต่วันที่ 4พฤษภาคม 2521 และจากต้นเงิน 81,239 บาท นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน2521 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2520 นางอัมพร ศรีสวัสดิ์ นำเงินเข้าฝากบัญชีเงินฝากประจำไว้แก่จำเลย สาขาลำปาง บัญชีเลขที่ 1097-2 ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2521 มีเงินคงเหลือ 81,239 บาท และเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2520 นางอัมพรนำเงินเข้าฝากบัญชีเงินฝากประจำไว้แก่จำเลย สาขาลำปาง อีก 1 บัญชี คือบัญชีเลขที่ 431-3 ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2521 มีเงินคงเหลือ 103,172.50บาท ต่อมานางอัมพรถึงแก่กรรม ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางอัมพร และเมื่อปี 2537 โจทก์ขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำทั้งสองบัญชีของนางอัมพร จำเลยไม่ยอมคืนเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์เห็นว่า คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางอัมพรโดยคำสั่งศาลแพ่งธนบุรีฟ้องเรียกเงินฝากที่นางอัมพรฝากไว้แก่จำเลย สาขาลำปาง คืนจากจำเลยอายุความจึงต้องถือตามบทบัญญัติในเรื่องฝากทรัพย์ เมื่อไม่ใช่กรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดเพื่อใช้เงินบำเหน็จ ค่าฝากทรัพย์ชดใช้เงินค่าใช้จ่ายและใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30แม้ตามสำเนาสมุดเงินฝากประจำเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 มีการแสดงยอดเงินคงเหลือครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2521 และวันที่ 4 พฤษภาคม2521 ตามลำดับนับถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 10 ปีก็ตาม แต่ตามระเบียบการฝากเงินประจำโดยใช้สมุดคู่ฝากที่ปรากฏในสำเนาสมุดเงินฝากประจำเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ข้อ 3 ระบุว่า การฝากทุก ๆ รายการจำเลยถือว่าผู้ฝากตกลงฝากประจำมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันเดือนปีที่ปรากฏของแต่ละรายการนั้น ๆ และข้อ 4 ระบุว่าอัตราดอกเบี้ย จำเลยคำนวณให้เช่นเดียวกับเงินฝากประจำอื่นดังนี้ ฯลฯ ฝากตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไปและได้ฝากครบกำหนดระยะเวลานั้น คำนวณดอกเบี้ยให้ร้อยละ 8 ต่อปีกับข้อ 5 ระบุว่าระเบียบการนอกจากนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบและประเพณีพึงปฏิบัติของธนาคารทุกประการ โดยระเบียบประเพณีและข้อตกลงดังกล่าวจำเลยต้องแสดงยอดเงินฝากคงเหลือของเงินฝากแต่ละรายการพร้อมดอกเบี้ยทุกระยะ 1 ปีต่อครั้งให้แก่ผู้ฝาก แม้จะยังมิได้แสดงไว้ในสำเนาสมุดเงินฝากตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ก็ตามแต่ก็ถือว่าจำเลยได้ปฏิบัติการชำระดอกเบี้ยทุกระยะเวลา 1 ปี อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อผู้ฝากซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยการชำระดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงและอายุความจะสะดุดหยุดลงเรื่อยไปทุกระยะเวลา 1 ปี ฉะนั้น แม้โจทก์จะนำคดีมาฟ้องเรียกเงินฝากคืนพร้อมดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2539 หลังจากที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินประมาณเกือบสองปีแล้ว ก็ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปีตามที่จำเลยฎีกาสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน