แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์มรดกโดยโจทก์มิได้เข้ามาเกี่ยวข้องเลยเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้ว ฉะนั้น สิทธิของโจทก์ให้จำเลยทั้งสี่แบ่งมรดกจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 สิทธิในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยสมบูรณ์
หลังจากที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว ช. ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกแต่ก็เป็นเวลาภายหลังที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วประมาณ 15 ปี และเป็นเวลาภายหลังจากที่สิทธิของโจทก์ขาดอายุความมรดก และในการยื่นคำร้องขอของ ช. ก็มิได้ระบุว่าโจทก์เป็นทายาท ครั้น ช. ขอถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกจำเลยที่ 4 ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 4 ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก็ไม่ระบุว่าโจทก์เป็นทายาทเช่นกัน และเมื่อจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 และ ป. ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ถอนจำเลยที่ 4 จากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกแทน ได้มีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ที่ดินและตึกแถวตกแก่จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 ถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกและให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกแทน ดังนี้ การยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกโดย ช. และโดยจำเลยที่ 4 การร้องคัดค้านของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และ ป. ที่ให้ถอนจำเลยที่ 4 จากการเป็นผู้จัดการมรดก รวมทั้งการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นก็เพื่อจะดำเนินการให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนเพื่อให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 แล้วไม่ ฉะนั้น จึงถือไม่ได้ว่า ช. ป. และจำเลยทั้งสี่ครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแทนหรือเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ไม่โจทก์จะยกเอาประโยชน์แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 มาอ้างสิทธิเพื่อเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่แบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางทองปลั่งหรือปลั่ง หุ้นเป้าหรือปัทมานุชหรือเรืองกูร เจ้ามรดก เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2518 มีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก 7 คนคือ โจทก์ นางชวนชื่น ไชยชนะ จำเลยทั้งสี่ และนายปราโมช จีระพันธ์เจ้ามรดกมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 527 ตำบลคลองสาน อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ 39 ตารางวาพร้อมตึกแถว 3 ชั้น 14 ห้อง และบ้านเดี่ยว 2 หลัง ร่วมกับนายประสงค์ปัทมานุช หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทายาทได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยทั้งสี่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมและได้มีการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 527 ไปเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการยักย้ายปิดบังที่ดินทรัพย์มรดกส่วนของโจทก์ตามกฎหมายคิดเป็นเนื้อที่ 36.58 ตารางวา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 527 เฉพาะส่วนที่เป็นมรดกตกแก่โจทก์เนื้อที่ 36.58 ตารางวา คืนแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่หากไม่อาจปฏิบัติได้ ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน9,145,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่ความตาย นายสมชาติ ลาภคล้อยมาทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 527 ตำบลคลองสาน อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนที่เป็นมรดกตกแก่โจทก์จำนวน 20.90 ตารางวา โดยให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าภาษีอากรและค่าธรรมเนียมการโอน มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ หากไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 2,090,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2539จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ ให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 527 เฉพาะส่วนที่เป็นมรดกตกแก่โจทก์ เป็นเนื้อที่ 14.632 ตารางวา หากไม่สามารถโอนได้ให้ร่วมกันชำระเงิน 1,463,200 บาท แก่โจทก์ยกคำขอในส่วนที่ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าภาษีอากรและค่าธรรมเนียมการโอน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเดิมนางทองปลั่งหรือปลั่ง หุ่นเป้าหรือปัทมานุชหรือเรืองกูร เจ้ามรดก มีสามีคนแรกคือนายเชาว์ เรืองกูร มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนางชวนชื่น ไชยชนะ ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2484 เจ้ามรดกได้จดทะเบียนสมรสกับนายประสงค์ปัทมานุช มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 527 ตำบลคลองสาน อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานครมีการแบ่งแยกโดยนายประสงค์ได้รับยกให้มีเนื้อที่ 1 ไร่ 39 ตารางวา วันที่ 6มิถุนายน 2489 นายประสงค์ได้จดทะเบียนให้เจ้ามรดกเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมโดยเสน่หา แต่ไม่ได้ระบุว่าให้เป็นสินส่วนตัวหรือสินเดิมหรือสินสมรสจึงต้องถือว่าเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1466 (เดิม) ซึ่งเจ้ามรดกมีสิทธิ 1 ใน 3 ส่วน ตามมาตรา 1517(เดิม) วันที่ 6 พฤษภาคม 2491 นายประสงค์และเจ้ามรดกหย่าขาดจากกัน หลังจากนั้นเจ้ามรดกไปอยู่กินฉันสามีภริยากับนายสายัณห์หรืออาทิตย์ จีระพันธ์ และมีบุตรด้วยกันคือนายปราโมช จีรพันธ์ต่อมาเจ้ามรดกได้เลิกร้างจากนายสายัณห์และไปอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2518 วันที่ 14เมษายน 2518 เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมและไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้ มีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามคำฟ้องโจทก์7 คน คือโจทก์ นางชวนชื่น จำเลยทั้งสี่และนายปราโมทย์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เพิ่งจะจดทะเบียนสมรสกับเจ้ามรดกเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2518 ก่อนที่เจ้ามรดกจะถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 14เมษายน 2518 ซึ่งเป็นระยะเวลาห่างกันประมาณ 3 เดือน นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโจทก์ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือครอบครองที่ดินพิพาทเลยจนกระทั่งปัจจุบันโดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้นำตึกแถว 14 ห้อง ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทให้ผู้อื่นเช่าโดยโจทก์และทายาทอื่นไม่เคยได้รับเงินค่าเช่าเลย โจทก์ได้บวชเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2532 และลาสิกขาบทเมื่อวันที่ 19มิถุนายน 2539 ดังนี้ แสดงให้เห็นว่าเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 เท่านั้นที่เข้าครอบครองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์มรดกโดยโจทก์มิได้เข้ามาเกี่ยวข้องเลยเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้ว ฉะนั้น สิทธิของโจทก์ให้จำเลยทั้งสี่แบ่งมรดกซึ่งเป็นคดีมรดกจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 สิทธิในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกแก่จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 โดยสมบูรณ์ แม้นางชวนชื่น ไชยชนะ จะเคยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2533 แต่ก็เป็นภายหลังที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วประมาณ 15 ปี และเป็นภายหลังจากที่สิทธิของโจทก์ขาดอายุความมรดก อีกทั้งคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางชวนชื่นนั้นก็มิได้ระบุว่าโจทก์เป็นทายาทแต่อย่างใด และในคดีที่นางชวนชื่นในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อให้ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ก็ระบุว่าทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกมีเพียง 5 คน คือ นางชวนชื่นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และนายปราโมชเท่านั้น เมื่อนางชวนชื่นขอถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก็ไม่ระบุว่าโจทก์เป็นทายาทเช่นกัน ครั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และนายปราโมชยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ถอนจำเลยที่ 4 จากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกแทน จำเลยที่ 4 จึงขอถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความยื่นต่อศาล ซึ่งสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวตกลงให้ที่ดินพิพาทและตึกแถว 14 ห้อง อันเป็นทรัพย์มรดกตกแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3เท่านั้น ศาลจึงอนุญาตให้จำเลยที่ 4 ถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกแทน ดังนี้ จึงเป็นที่เห็นได้ว่าการยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกโดยนางชวนชื่นและโดยจำเลยที่ 4 การร้องคัดค้านของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และนายปราโมชที่ให้ถอนจำเลยที่ 4จากการเป็นผู้จัดการมรดก รวมทั้งการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นก็เพื่อจะดำเนินการให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนเพื่อให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แล้วไม่ ฉะนั้น จึงถือไม่ได้ว่านางชวนชื่น นายปราโมช และจำเลยทั้งสี่ครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแทนหรือเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ไม่ โจทก์จะยกเอาประโยชน์แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 มาอ้างสิทธิเพื่อเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่แบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วหาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์