คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6567/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เข้าใจโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 แจ้งว่าหลักฐานทางทะเบียนและใบคู่มือจดทะเบียนนั้นอยู่ที่จำเลยที่ 2 ต้องรอให้จำเลยที่ 2ส่งมาก่อนเนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้ออกหนังสือรับรองการจำหน่ายรถยนต์ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์ ดังนี้ ตามพฤติการณ์เชื่อว่าจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จะต้องทำการค้ารถยนต์กันมานานหากจำเลยที่ 1 ออกใบรับรองซึ่งหัวกระดาษเป็นชื่อของจำเลยที่ 2ให้แก่ลูกค้าทั่ว ๆ ไป จำเลยที่ 2 น่าจะทราบ หากจำเลยที่ 2 ไม่เชิดหรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนจำเลยที่ 2แล้ว จำเลยที่ 2 ก็น่าจะต้องทักท้วงหรือสั่งห้ามจำเลยที่ 1ไม่ให้กระทำเช่นนั้น การที่จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบกิจการขายรถยนต์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ในประการที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1จะนำรถยนต์พิพาทไปขายแก่บุคคลทั่ว ๆ ไป พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 อีกเช่นกัน เมื่อโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต จำเลยที่ 2 อีกเช่นกัน เมื่อโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และได้กระทำแทนจำเลยที่ 2 ภายในขอบอำนาจแห่งฐานเป็นตัวแทน จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามฟ้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้แก่โจทก์จึงไม่ชอบ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1จะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาคดีให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายให้จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดชอบส่งมอบหลักฐานใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบหลักฐานใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ แบบกระบะ สีเขียวหมายเลขเครื่อง เอฟ-10867 หมายเลขตัวถัง เอ 9139008 ให้แก่โจทก์หากไม่สามารถส่งมอบได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน338,595 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนขายรถ จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์ที่โจทก์กล่าวอ้างไปจากจำเลยที่ 2 โดยชำระราคาเป็นเช็คและเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงยึดหน่วงชุดจดทะเบียนไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ และไม่เคยออกหนังสือรับรองการขายรถให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบหลักฐานใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขเครื่อง เอฟ – 10867 หมายเลขตัวถังเอ 9139008 ให้แก่โจทก์ หากส่งมอบไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 338,595 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 13 ตุลาคม 2540) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 3,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2ให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนจำเลยที่ 2

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2539 โจทก์ได้ซื้อรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุสีเขียวหมายเลขเครื่อง เอฟ – 10867 หมายเลขตัวถัง เอ 9139008 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 จากจำเลยที่ 1 ในราคา 332,000 บาท โดยชำระราคาครบถ้วน และรับรถยนต์คันดังกล่าวจากจำเลยที่ 1ไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมส่งมอบหลักฐานทางทะเบียนและใบคู่มือจดทะเบียนให้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทจำกัดตามเอกสารหมาย จ.1 ประกอบกิจการขายรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 วันที่ 28สิงหาคม 2539 โจทก์ได้ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 1 ราคา332,000 บาท โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้วนอกจากรถยนต์คันที่โจทก์ซื้อแล้ว ร้านของจำเลยที่ 1 ยังมีรถยนต์อีกหลายคันเป็นรถยนต์ใหม่ยี่ห้ออีซูซุ โจทก์รับรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 มาแล้ว จำเลยที่ 1 แจ้งว่าหลักฐานทางทะเบียนและใบคู่มือจดทะเบียนนั้น อยู่ที่จำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 1เป็นตัวแทนขายรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 ต้องใช้เวลาประมาณ1 เดือน โจทก์จึงจะได้รับ ระหว่างรอหลักฐานจำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการจำหน่ายรถยนต์ให้แก่โจทก์ ซึ่งหนังสือเป็นของจำเลยที่ 2ตามเอกสารหมาย จ.4 หลังจากครบกำหนดแล้ว โจทก์ไปทวงถามหลักฐานทางทะเบียนรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1เพิกเฉย โจทก์จึงไปทวงถามจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 บอกโจทก์ว่าต้องจ่ายเงินให้อีก 150,000 บาท จึงจะให้หลักฐานทางทะเบียนโจทก์ไม่ยอมจ่ายให้เพราะจ่ายเงินให้ครบถ้วนแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2มีนางสุดาลักษณ์ วัชรโรทยางกูร ซึ่งมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์ซื้อขาย ให้เช่า เช่าซื้อ และแลกเปลี่ยนรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุทุกรุ่นทุกแบบในจังหวัดเชียงใหม่ ตามเอกสารหมาย จ.1 สาขาของบริษัทจำเลยที่ 2 จะปรากฏอยู่ในเอกสารหมาย จ.1 แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีสาขาตามภูมิลำเนาที่ระบุในใบรับเงินเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่เคยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการจำหน่ายรถยนต์ เอกสารหมาย จ.4ไม่ใช่เอกสารของจำเลยที่ 2 เนื่องจากกระดาษที่จำเลยที่ 2 ใช้จะไม่ใช้แบบเอกสารหมาย จ.4 แต่จะใช้แบบอื่น การลงท้ายหนังสือ กรรมการผู้มีอำนาจจะลงลายมือชื่อและประทับตรา และตราที่ประทับในเอกสารหมาย จ.4 ไม่ใช่ตราประทับของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีชื่อเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 2 เมื่อเปรียบเทียบพยานหลักฐานโจทก์และพยานจำเลยที่ 2 แล้ว เห็นว่า ก่อนที่โจทก์จะไปซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ได้ไปพบนายซ้อน พะตัน เพื่อถามขอซื้อรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุจากนายซ้อน แต่ของนายซ้อนไม่มี จึงพาโจทก์ไปซื้อกับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มีนายซ้อนมาเบิกความสนับสนุนว่าพยานประกอบอาชีพขายรถยนต์ ใช้ชื่อร้านว่า “หงษ์ทองบริการ”เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ พยานรู้จักจำเลยที่ 1เนื่องจากเป็นพ่อค้าขายรถยนต์เช่นเดียวกับพยาน จำเลยที่ 1ขายรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ พยานเป็นประธานชมรมพ่อค้ารถยนต์อำเภอสันป่าตอง จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนขายรถยนต์ของจำเลยที่ 2พยานโจทก์ปากนี้เป็นผู้ประกอบอาชีพขายรถยนต์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และยังเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุของจำเลยที่ 2 จึงทำให้น่าเชื่อว่าโจทก์เข้าใจโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุของจำเลยที่ 2 และการที่จำเลยที่ 1 แจ้งว่าหลักฐานทางทะเบียนและใบคู่มือจดทะเบียนนั้นอยู่ที่จำเลยที่ 2 ต้องรอให้จำเลยที่ 2 ส่งมาก่อนเนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้ออกหนังสือรับรองการจำหน่ายรถยนต์ให้แก่โจทก์หนังสือฉบับนี้เป็นของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.4 นั้น แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะปฏิเสธว่าเอกสารหมาย จ.4 ไม่ใช่เอกสารที่จำเลยที่ 2ออกให้แก่ลูกค้า แต่ตามพฤติการณ์เชื่อว่าจำเลยที่ 1 กับที่ 2จะต้องทำการค้ารถยนต์กันมานาน หากจำเลยที่ 1 ออกใบรับรองตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งหัวกระดาษเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 ให้แก่ลูกค้าทั่ว ๆ ไป จำเลยที่ 2 ก็น่าจะทราบ หากจำเลยที่ 2 ไม่เชิดหรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2ก็น่าจะต้องทักท้วงหรือสั่งห้ามจำเลยที่ 1 ไม่ให้กระทำเช่นนั้น และที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์คันพิพาทไปจากจำเลยที่ 2 โดยชำระราคาเป็นเช็คและเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้นั้นจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีพยานมาสืบสนับสนุนยืนยันให้ได้ความชัดตามข้อต่อสู้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ขายรถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว นอกจากนี้ยังได้ความจากการนำสืบของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นหนึ่งในสองผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุในจังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่บริษัทตรีเพชรอีซูซุเซล จำกัด ชุดจดทะเบียนรถยนต์พิพาทอยู่ที่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จะหาผู้เช่าซื้อไปทำสัญญากับจำเลยที่ 2 หรือจะโทรศัพท์ให้จำเลยที่ 2 ให้คนขับรถมาส่งที่ร้านจำเลยที่ 1 กรณีรถยนต์คันพิพาทจำเลยที่ 1 โทรศัพท์ให้จำเลยที่ 2นำรถยนต์พิพาทมาส่งที่ร้านจำเลยที่ 1 ดังนี้ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1ซึ่งประกอบกิจการขายรถยนต์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ในประการที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะนำรถยนต์พิพาทไปขายแก่บุคคลทั่ว ๆ ไปพฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยที่ 2 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 อีกเช่นกัน เมื่อโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

อนึ่ง ตามคำฟ้องและทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และได้กระทำแทนจำเลยที่ 2 ภายในขอบอำนาจแห่งฐานเป็นตัวแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามฟ้องได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้แก่โจทก์จึงไม่ชอบ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ทั้งไม่อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรพิพากษาคดีให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5)”

พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบหลักฐานใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ แบบกระบะสีเขียว หมายเลขเครื่อง เอฟ – 10867หมายเลขตัวถัง เอ – 9139008 ให้แก่โจทก์ หากส่งมอบไม่ได้ ให้จำเลยที่ 2ชำระเงินจำนวน 338,595 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 13 ตุลาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1

Share