คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6434/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

มารดาโจทก์ถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1 โจทก์เกิดโดยมารดาถูกถอนสัญชาติไทยถือว่าเป็นคนต่างด้าว โจทก์เกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติใช้บังคับ โจทก์ไม่ได้สัญชาติไทย ขณะโจทก์เกิดบิดามารดาโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน การที่บิดามารดาโจทก์จดทะเบียนสมรสกันในภายหลังก็มีผลเพียงให้โจทก์กลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 ไม่ทำให้โจทก์ได้สัญชาติไทยตามพ.ร.บ. สัญชาติฯ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติไทย และให้จำเลยรับแจ้งการเกิดของโจทก์ออกสูติบัตรให้แก่โจทก์ เพิ่มชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านเลขที่ 623/1-2 ถนนพรหมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
จำเลยให้การว่า มารดาโจทก์เป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว และเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โจทก์จึงไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13ธันวาคม 2515 ข้อ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติไทย ให้จำเลยรับแจ้งการเกิดของโจทก์ ออกสูติบัตรให้แก่โจทก์ และเพิ่มชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านเลขที่ 623/1-2 ถนนพรหมราช ตำบลในเมืองอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 ว่ามารดาโจทก์เกิดโดยบิดามารดาเป็นคนสัญชาติญวนซึ่งเป็นคนต่างด้าวมารดาโจทก์จึงต้องถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1 โจทก์เป็นบุคคลที่เกิดโดยมารดาที่ถูกถอนสัญชาติไทย ถือว่าเป็นคนต่างด้าว โจทก์เกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติใช้บังคับ แม้จะเกิดในราชอาณาจักรโจทก์ก็ไม่ได้สัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะสั่งเป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะรายไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1 และ 2ของประกาศดังกล่าว สำหรับกรณีของโจทก์ไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งเป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะรายแต่อย่างใด ขณะที่โจทก์เกิดเมื่อปี 2518 บิดามารดาโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน การที่บิดามารดาโจทก์จดทะเบียนสมรสกันในภายหลังก็มีผลเพียงให้โจทก์กลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 ไม่ทำให้โจทก์ได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ดังกล่าวมีผลบังคับเป็นพิเศษยิ่งกว่าพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยสัญชาติทั่ว ๆ ไป ทั้งนี้ก็เพราะการได้สัญชาติ ก่อให้เกิดสิทธิบางประการแก่ผู้ได้รับสัญชาติแต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐต่อผู้ได้รับสัญชาติด้วยจึงเป็นอำนาจของรัฐที่จะให้สัญชาติแก่ผู้ใด ตามเงื่อนไขที่รัฐเห็นว่าเหมาะสม ซึ่งก็อยู่กับนโยบาย เหตุการณ์บ้านเมือง และความจำเป็นของประเทศและการที่นายทะเบียนไม่ได้ออกบัตรประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่มารดาโจทก์ ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าวพุทธศักราช 2493 มาตรา 5 และ 8 นั้นก็ไม่ทำให้มารดาโจทก์กลายเป็นคนมีสัญชาติไทยแต่อย่างใด…”
พิพากษายืน.

Share