คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 449/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ได้สมยอมแกล้งเป็นหนี้จำเลยที่ 2 และสมยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้ศาลพิพากษาตามยอม โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 2จะอ้างสิทธิตามคำพิพากษาตามยอมยึดทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ หรือให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และให้ถอนการยึดทรัพย์ทั้งหมดที่จำเลยที่ 2 ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้แล้วแต่การยอมความเป็นเรื่องของจำเลยทั้งสอง ไม่มีผลเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1เพราะในการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 ต่อจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2คงยึดทรัพย์ได้เฉพาะสินส่วนตัวและสินสมรสที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 1เท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1488จะยึดสินสมรสส่วนของโจทก์มิได้ ถ้าจำเลยที่ 2 นำยึดโจทก์ก็ขอกันสินสมรสส่วนของตนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 287 เมื่อจำเลยที่ 2 มีสิทธิยึดสินสมรสส่วนของจำเลยที่ 1ได้ตามมาตรา 1488 โจทก์จะฟ้องขอห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ยึดสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 2 ถอนการยึดทรัพย์มิได้ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 นำยึดทรัพย์อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ได้ไปติดพันหญิงอื่นฉันชู้สาวและกลั่นแถลงฟ้องหย่าโจทก์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2528 แต่ศาลพิพากษายกฟ้องตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 20164/2528 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันเดือนปีใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 ได้แล้วสมยอมกับจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาอ้อมน้อย ลงวันที่ 4ธันวาคม 2528 จำนวนเงิน 700,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2ทั้ง ๆ ที่ไม่มีมูลหนี้ครั้นวันที่ 24 มกราคม 2529 จำเลยที่ 2 ได้นำเช็คดังกล่าวไปฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น ขอให้จำเลยที่ 1ใช้เงินตามเช็ค แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 แกล้งสมยอมกันโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2529 ว่า จำเลยที่ 1 ยอมใช้เงินให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นจำนวน 701,938 บาท โดยการผ่อนชำระตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2182/2529 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม2529 และวันที่ 29 พฤศจิกายน 2529 จำเลยที่ 2 นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์สินของโจทก์ และที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ความจริงจำเลยที่ 1 มีรายได้ดี ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยที่ 2 แต่สมยอมแกล้งเป็นหนี้จำเลยที่ 2 เพื่อยึดทรัพย์สินของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2182/2529 ของศาลชั้นต้นทำการยึดทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้หรือถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาดังกล่าว ให้จำเลยที่ 2 ไปถอนการยึดทรัพย์สินทั้งหมดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2182/2529 ระหว่างนางพยุรี สรสุชาติ โจทก์ นายพยัมพร ตันตีลีปิกร จำเลย โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในการถอนการยึด
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 กระทงหรืองดเว้นกระทำการใด และจำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2182/2529จริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1จริง และมีสิทธิบังคับคดีเอาชำระหนี้จากสินสมรสของจำเลยที่ 1 ได้โจทก์ชอบที่จะขอกันส่วนในฐานะภริยาของจำเลยที่ 1 เท่านั้นการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะโจทก์ทราบถึงหนี้เช็คที่จำเลยที่ 1 ออกชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่3 กรกฎาคม 2529 แต่ฟ้องคดีเมื่อเกิด 1 ปี นอกจากนี้โจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกโมฆียะกรรมหรือการฉ้อฉลภายใน 1 ปี นับแต่วันทราบขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยที่ 2 อ้างสิทธิตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2182/2529 เฉพาะส่วนที่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของโจทก์และให้จำเลยที่ 1 ไปถอนการยึดทรัพย์ที่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 ได้นำยึดไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2182/2529 ของศาลแพ่ง โดยจำเลยที่ 2เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อแรกที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ได้สมยอมแกล้งเป็นหนี้จำเลยที่ 2 และสมยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมโจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิตามคำพิพากษาตามยอมยึดทรัพย์อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ หรือให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และให้ถอนการยึดทรัพย์ทั้งหมดที่จำเลยที่ 2 ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้แล้ว ตามคำฟ้องดังกล่าว การยอมความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเรื่องของบุคคลทั้งสองไม่มีผลเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 เลย เพราะในการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 ต่อจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 คงยึดทรัพย์ได้เฉพาะสินส่วนตัวและสินสมรสที่เป็นส่วนของจำเลยที่ 1 เท่านั้นทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1488 จะยึดสินสมรสส่วนของโจทก์มิได้ ถ้าจำเลยที่ 2 นำยึดโจทก์ก็ขอกันสินสมรสส่วนของตนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 เมื่อจำเลยที่ 2 มีสิทธิยึดสินสมรสส่วนของจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1488 ดังกล่าว เช่นนี้โจทก์จะฟ้องขอห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ยึดสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ และจะให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิรับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก็มิได้ เพราะจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินส่วนของจำเลยที่ 1 ได้ และที่โจทก์ขอให้ถอนการยึดทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 นำยึดไว้นั้นเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2ย่อมมีสิทธิยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจใดที่จะขอให้จำเลยที่ 2 ถอนการยึดทรัพย์ได้ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 นำยึดทรัพย์อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เสียด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share