คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ตามคำฟ้องในช่องคู่ความจะระบุว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมของ ช. ก็ตาม แต่ข้อความในคำฟ้องได้บรรยายว่าโจทก์ทั้งสอง ส. และจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ ช. เจ้ามรดก ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างกันแล้วจำเลยได้คัดค้านการโอนที่ดินมรดกซึ่งเป็นส่วนแบ่งของโจทก์ทั้งสองจึงขอให้จำเลยถอนคำคัดค้าน ดังนี้โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องในฐานะส่วนตัวหาใช่ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช.ไม่ โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้อง หนังสือยินยอมทายาทมีใจความว่าโจทก์ทั้งสอง ส. และจำเลยทราบการประกาศขอรับมรดกที่ดินตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองแล้วไม่ขัดข้องยินยอมให้โจทก์ทั้งสองรับมรดกที่ดินนั้นไปได้แต่เพียงฝ่ายเดียวต่างไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย ดังนี้ข้อความดังกล่าวเป็นการตกลงกันไว้เพื่อให้เป็นที่แน่นอนว่าต่างฝ่ายต่างไม่โต้เถียงแย่งเอาที่ดินนั้นแก่กันและกัน เป็นการระงับข้อพิพาทอันอาจจะมีขึ้นในภายหน้าให้เสร็จไป จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 จำเลยต้องผูกพันปฏิบัติตามจะกล่าวอ้างเรื่องข้อตกลงอื่นที่มิได้กำหนดไว้ในสัญญามาปฏิเสธหรือยกเลิกหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยถอนคำคัดค้านการโอนมรดกของโจทก์ทั้งสองที่ยื่นไว้ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปถอนคำคัดค้านการจดทะเบียนโอนที่ดินของโจทก์ทั้งสองมาเป็นทรัพย์มรดกของโจทก์ทั้งสองนั้น มีความหมายเพียงว่าให้จำเลยไปถอนคำคัดค้านเท่านั้น หาได้หมายความเลยไปว่าให้ที่ดินมรดกตามฟ้องตกได้แก่โจทก์ทั้งสองด้วยไม่ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่เกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองและนางเสาวณีย์จุฬามรกต กับจำเลยต่างเป็นทายาทโดยธรรมของนางชูเกียรติรังสิยานนท์ ผู้ตายทายาททุกคนได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันแล้วโดยโจทก์ที่ 1 ได้ที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 258/216, เลขที่ 307/259,เลขที่ 259/258 และ 274/259 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ โจทก์ที่ 2 ได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1044 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นางเสาวณีย์จุฬามรกต ได้ที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 40 ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี และที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 3ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ส่วนจำเลยได้ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 102 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ รถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ กาแลนท์ซิกมา คันหมายเลขทะเบียน ก-6116 เชียงใหม่ และรถกระบะยี่ห้อโตโยต้า เฮอร์คิวลิสคันหมายเลขทะเบียน น-6937 เชียงใหม่ ปรากฏตามหนังสือยินยอมทายาทเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยได้รับส่วนแบ่งตามข้อตกลงครบถ้วนแล้วกลับยื่นเรื่องราวคัดค้านการโอนมรดกของโจทก์ทั้งสองและนางเสาวณีย์จุฬามรกต อันเป็นการผิดข้อตกลงแบ่งมรดกตามที่ประนีประนอมยอมความกัน ขอให้บังคับจำเลยถอนคำคัดค้านการโอนมรดกของโจทก์ทั้งสองที่ยื่นไว้ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยกับโจทก์ทั้งสองตกลงแบ่งทรัพย์มรดกของนางชูเกียรติกันจริง แต่ส่วนแบ่งมรดกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ทั้งสองและนางเสาวณีย์ตกลงให้เงินสดตามบัญชีเงินฝากเลขที่ 390-203191-7 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาประตูช้างเผือก ซึ่งมีเงินฝากในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2529จำนวน 855,039 บาท ให้แก่จำเลยด้วย ส่วนบัญชีเงินฝากเลขที่390-209836-1 ที่ธนาคารดังกล่าวเช่นกันให้เป็นของโจทก์ทั้งสองและนางเสาวณีย์และการตกลงแบ่งมรดกกันนั้นไม่ได้บันทึกไว้เป็นหลักฐานแต่ต่างฝ่ายต่างไปขอรับโอนมรดกตามข้อตกลงโดยต่างจะต้องจัดการทำบันทึกสัญญาสละมรดกให้แก่กัน ข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความและไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ส่วนหนังสือยินยอมสละมรดกเอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความนอกจากนี้โจทก์ทั้งสองและนางเสาวณีย์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่ไปทำบันทึกยกเงินตามบัญชีเงินฝากเลขที่ 390-203191-7ให้แก่จำเลย ข้อตกลงแบ่งมรดกจึงเป็นอันยกเลิกขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยถอนคำคัดค้านการขอจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 258/216เลขที่ 307/259 เลขที่ 259/258 และเลขที่ 274/259 ตำบลสุเทพอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 1 โฉนดที่ดินเลขที่ 1044 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มาเป็นทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 2หากจำเลยเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนางชูเกียรติหรือไม่ เห็นว่าแม้ตามคำฟ้องในช่องคู่ความจะระบุว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมของนางชูเกียรติก็ตาม แต่ข้อความในคำฟ้องได้บรรยายว่าโจทก์ทั้งสองนางเสาวณีย์ และจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนางชูเกียรติเจ้ามรดกตกลงแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างกันแล้วจำเลยได้คัดค้านการโอนที่ดินมรดกซึ่งเป็นส่วนแบ่งของโจทก์ทั้งสอง จึงขอให้จำเลยถอนคำคัดค้าน ดังนี้โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องในฐานะส่วนตัวหาใช่ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางชูเกียรติไม่ โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาต่อไปว่า หนังสือยินยอมทายาทตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.6และ จ.11 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เห็นว่า เอกสารดังกล่าวโจทก์ทั้งสอง นางเสาวณีย์และจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ทุกฉบับ แต่ละฉบับมีใจความอย่างเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองนางเสาวณีย์ และจำเลยทราบการประกาศขอรับมรดกที่ดินตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองแล้วไม่ขัดข้อง ยินยอมให้โจทก์ทั้งสองรับมรดกที่ดินนั้นไปได้แต่ฝ่ายเดียว ต่างไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย ดังนี้ข้อความดังกล่าวมาเป็นการตกลงกันไว้เพื่อให้เป็นที่แน่นอนว่าต่างฝ่ายต่างไม่โต้เถียงแย่งเอาที่ดินนั้นแก่กันและกัน จึงเป็นการระงับข้อพิพาทอันอาจจะมีขึ้นในภายหน้าให้เสร็จไป หนังสือยินยอมทายาทนี้จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 จำเลยต้องผูกพันปฏิบัติตามจะกล่าวอ้างเรื่องข้อตกลงอื่นที่มิได้กำหนดไว้ในสัญญามาปฏิเสธหรือยกเลิกหาได้ไม่
ปัญหาประการสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอหรือไม่เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยไปถอนคำคัดค้านการจดทะเบียนโอนที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มาเป็นทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 1และที่ 2 นั้น มีความหมายเพียงว่า ให้จำเลยไปถอนคำคัดค้านที่จำเลยได้ยื่นคำคัดค้านไว้ในเรื่องที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนโอนที่ดินมาเป็นทรัพย์มรดกของโจทก์ที่ 1และที่ 2 เท่านั้น หาได้มีความหมายเลยไปว่าให้ที่ดินมรดกตามฟ้องตกได้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ด้วยไม่ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่เกินคำขอ ดังนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share