แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง หากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็มีทางดำเนินคดีต่อไปได้เพียงประการเดียวคืออุทธรณ์ฎีกาให้ศาลสูงแก้ไขหากเข้ากรณีตาม ป.วิ.พ. 138 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์ คำพิพากษาตามยอมก็ถึงที่สุด ไม่อาจถูกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก การที่จำเลยยื่นคำร้องอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ดำเนินมาทั้งหมดแล้วยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่นั้น ความมุ่งหมายของจำเลยคือต้องการให้คำพิพากษาตามยอมเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับการขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมซึ่งต้องกระทำโดยศาลสูง จำเลยจะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำพิพากษาของศาลนั้นเองไม่ได้ แม้จำเลยจะเพิ่งทราบเหตุที่ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความหลังพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ได้ไต่สวนนั้นชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542 โดยโจทก์ทั้งสิบเอ็ดและโจทก์ร่วมยอมให้จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ร่วม และโจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้ทำสัญญาเช่าจากโจทก์ร่วมมีกำหนดระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันทำสัญญาโดยไม่ต้องชำระค่าเช่าและค่าตอบแทนอื่นใด หากครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสิบเอ็ดหรือคนใดคนหนึ่งต้องการที่ดินพิพาทเพื่อรื้อถอนปรับปรุงหรือซ่อมแซมเป็นที่อยู่อาศัยของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดหรือทายาทโจทก์ทั้งสิบเอ็ดจะต้องแจ้งเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับหรือปิดประกาศไว้ ณ สถานที่พิพาทให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน เพื่อให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป การรื้อถอนหรือปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบเอ็ดต้องขออนุญาตดำเนินการต่อโจทก์ร่วมและได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมแล้ว หากโจทก์ทั้งสิบเอ็ดยังไม่ได้ดำเนินการยอมให้จำเลยอยู่อาศัยต่อไปจนกว่าจะดำเนินการขออนุญาตและได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมแล้วโดยจำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดยอมให้จำเลยอยู่อาศัยต่อไปเดือนละ 2,000 บาท
ต่อมาวันที่ 25 เมษายน 2544 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวน และมีคำสั่งว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ดำเนินมาทั้งหมดแล้วยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลได้พิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว คำพิพากษาย่อมมีผลผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความ หากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ถูกต้อง ก็อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์และคดีถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์ (ที่ถูกจำเลย) จึงไม่มีสิทธิที่จะขอเพิกถอนได้ ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ได้ไต่สวนและมีคำสั่งว่าคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ดำเนินมาทั้งหมดแล้วยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสิบเอ็ด โจทก์ร่วมและจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้วคำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง หากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็มีทางดำเนินคดีต่อไปได้เพียงประการเดียวคืออุทธรณ์ฎีกาให้ศาลสูงแก้ไขหากเข้ากรณีตามมาตรา 138 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์ คำพิพากษาตามยอมก็ถึงที่สุดไม่อาจถูกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก การที่จำเลยยื่นคำร้องอ้างว่า คำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ดำเนินมาทั้งหมดแล้วยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่นั้น ความมุ่งหมายของจำเลยก็คือต้องการให้คำพิพากษาตามยอมเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้นั้นเอง มีผลเป็นอย่างเดียวกับการขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมซึ่งต้องกระทำโดยศาลสูง จำเลยจะมายื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำพิพากษาของศาลนั้นเองไม่ได้ แม้จำเลยจะเพิ่งทราบเหตุที่ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความหลังพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ดังที่อ้างก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวการไต่สวนคำร้องจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ไต่สวนนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน