แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ถือว่าผู้จัดการมรดกเป็นผู้ถือครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน และมีหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 หากผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยมิชอบขัดต่อกฎหมายและถึงแก่ความตายก่อนจัดการมรดกเสร็จสิ้น ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของทายาทย่อมฟ้องผู้จัดการมรดกที่ศาลแต่งตั้งขึ้นใหม่ให้จัดการแก้ไขแบ่งทรัพย์มรดกให้ถูกต้องได้ภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคท้าย
ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกแก่ทายาทหลังเจ้ามรดกตายเกินกว่า 1 ปี การฟ้องขอเพิกถอนการโอนทรัพย์มรดกดังกล่าว จึงนำอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาใช้ไม่ได้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และเพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากโฉนดที่ดินให้กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้ามรดก และให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจัดการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างและหุ้นพิพาท 37,500 หุ้น ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิรัช ซึ่งมีสิทธิในทรัพย์มรดก 1 ใน 6 ส่วน หากแบ่งไม่ได้ขอให้ขายหรือประมูลราคากันเองระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาด
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ตามคำขอของโจทก์เพื่อให้การจัดการมรดกเสร็จสิ้นไป
จำเลยที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 แบ่งปันหุ้นพิพาทให้แก่โจทก์ 1 ใน 6 ส่วน หากไม่อาจแบ่งปันกันได้ ให้ขายหุ้นพิพาทแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเพียงทุนทรัพย์ที่ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนการจัดการมรดกที่ดินพิพาทขาดอายุความหรือไม่ โจทก์อ้างตนเองเบิกความว่า นางสดใสเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2531 ศาลมีคำสั่งตั้งนายย้อนฝ่อเป็นผู้จัดการมรดก สามีโจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2536 หลังจากสามีโจทก์ถึงแก่ความตายแล้วนายย้อนฝ่อในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2538 ภายหลังสามีโจทก์ถึงแก่ความตายเกือบ 2 ปี เห็นว่า เมื่อนางสดใสถึงแก่ความตาย นายย้อนฝ่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ถือว่าผู้จัดการมรดกเป็นผู้ถือครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการมรดกทั่วไปหรือเพื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 เมื่อได้ความว่า ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่สามีโจทก์มีสิทธิจะได้รับ แต่ผู้จัดการมรดกนำไปยกให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเหตุให้สามีโจทก์ขาดส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกไป เป็นการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยไม่ชอบ ถือว่าผู้จัดการมรดกกระทำหน้าที่โดยมิชอบ เมื่อนายย้อนฝ่อถึงแก่ความตายโดยจัดการแบ่งปันทรัพย์สินยังไม่เสร็จสิ้น ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกของนางสดใสต่อไป โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิรัชทายาทของเจ้ามรดก ย่อมฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ผู้จัดการมรดกคนใหม่ให้จัดการแก้ไขแบ่งส่วนทรัพย์มรดกให้ถูกต้องได้ภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคท้าย ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ในฐานะผู้จัดการมรดกให้แบ่งที่ดินพิพาท จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างนายย้อนฝ่อผู้จัดการมรดกเดิมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทนั้น เห็นว่า นางสดใสเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2531 หลังจากนั้นวันที่ 6 ธันวาคม 2536 นายวิรัชสามีโจทก์ก็ถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2538 นายย้อนฝ่อได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นกรณีที่นายย้อนฝ่อผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกบางส่วนให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทายาทผู้ตายบางคนหลังจากเจ้ามรดกตายเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว จึงนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาใช้แก่กรณีดังกล่าวไม่ได้ ทั้งการที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2541 จึงยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่นางสดใสเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีจึงยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคท้าย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ดินพิพาทซึ่งคิดเป็นทุนทรัพย์ชั้นฎีกามีราคา 880,000 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลจากทุนทรัพย์ 898,727.40 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 15148 ตำบลหน้าเมือง (ดอนตะโก) อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ระหว่างนายย้อนฝ่อผู้จัดการมรดกนางสดใสกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2538 เฉพาะส่วนของทายาทอื่น 4 ใน 6 ส่วน และให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสดใส แบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิรัช 1 ใน 6 ส่วน คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกิน 467.50 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้เป็นเงิน 5,000 บาท