แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในกรณีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลและศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน แม้ว่าการร้องขอดังกล่าวจะสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญามูลฐาน กล่าวคือ ต้องเกิดการกระทำความผิดมูลฐานขึ้น แต่มาตรการทางแพ่งก็ไม่ผูกติดกับคดีอาญา แยกออกจากกันต่างหาก โดยความผิดและโทษทางอาญามุ่งบังคับแก่ตัวบุคคล ส่วนมาตรการทางแพ่งมุ่งบังคับแก่ตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดมูลฐานเพราะถึงอย่างไรทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ไม่เป็นของผู้กระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ใด เพื่อตัดวงจรการกระทำความผิดมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป ดังนั้น แม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์ไม่ได้ร่วมกระทำความผิด ไม่ได้ถูกฟ้องและได้ทรัพย์สินนั้นมาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน (ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดอยู่ก่อนแล้ว) ก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ใช้มาตรการให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ และมาตรการดังกล่าวก็มิใช่โทษทางอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้
มาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติให้มีคณะกรรมการธุรกรรมประกอบด้วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นประธานกรรมการและผู้ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแต่งตั้งจำนวน 4 คน เป็นกรรมการ และมาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งมาตรา 33 บัญญัติให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมกับการประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมด้วย บัญญัติว่า ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม หากรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ดังนั้น เมื่อองค์ประกอบของคณะกรรมการธุรกรรมตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง มีเพียงประธานกรรมการและกรรมการ หาได้มีรองประธานกรรมการด้วยไม่ ทั้งไม่มีบทบัญญัติว่าในกรณีที่ประธานกรรมการหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ให้รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นประธานที่ประชุมแทนแต่อย่างใด การที่พลตำรวจตรี พ. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการธุรกรรมหมดวาระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ และกรรมการซึ่งมาประชุมมีมติเลือก จ. กรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม จึงเป็นการปฏิบัติชอบด้วยมาตรา 29 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ใช้บังคับในขณะนั้นแล้ว การประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมและมติที่ประชุมครั้งที่ 32/2548 รวมทั้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งออกตามมติดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ในคำคัดค้านเพิ่มเติมของผู้คัดค้านทั้งสามปรากฏข้อต่อสู้เพียงว่า คำร้องของผู้ร้องไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และผู้คัดค้านที่ 3 มิได้รับโอนทรัพย์สินใดมาจากจำเลยในคดีอาญา ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นเจ้าของที่แท้จริง ซึ่งได้มาโดยสุจริต มิได้ต่อสู้เลยว่าในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามไว้ชั่วคราวตามที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติและคำสั่งไม่มีการพิจารณาว่าทรัพย์สินใดเกี่ยวกับการกระทำความผิดอย่างไร และไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินนั้น คณะกรรมการธุรกรรมจึงไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว และผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอคดีนี้ ที่ผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบจึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นในคำคัดค้าน และการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 85, 142 วรรคหนึ่ง, 185 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ส่วนข้อต่อสู้ตามคำคัดค้านเพิ่มเติมข้างต้น ผู้ร้องได้บรรยายมาในคำร้องแล้วว่า กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินซึ่งเป็นเงินฝากในบัญชีเงินฝากของธนาคารต่าง ๆ ของผู้คัดค้านทั้งสามเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลจะได้วินิจฉัยในปัญหาประการต่อไปว่า ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามที่ถูกคณะกรรมการธุรกรรมหรือศาลสั่งยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราว เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดมูลฐาน ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นภริยา ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตร ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 51 วรรคสอง (เดิม) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับในขณะยื่นคำร้อง ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาทรัพย์สินตามคำร้อง ซึ่งประกอบด้วยทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ในลำดับที่ 3 ถึงที่ 7 และที่ 16 ถึงที่ 18 ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของรวม ในลำดับที่ 2 ที่ 8 และที่ 19 และทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 ในลำดับที่ 9 ถึงที่ 14 ที่ 20 ถึงที่ 26 ที่ 28 และที่ 29 พร้อมดอกผล เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) (2)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าทรัพย์สินเงินฝากทั้ง 29 บัญชี มูลค่ารวม 30,136,418.05 บาท พร้อมดอกผลของทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องคัดค้านและแก้ไขคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 7768/2548 ในคดีหมายเลขดำที่ 2295/2540 หมายเลขแดงที่ 843/2546 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี โจทก์ นายสมชาย จำเลยที่ 1 กับพวก ของศาลจังหวัดชลบุรี ว่า จำเลยที่ 1 (ผู้คัดค้านที่ 1 คดีนี้) มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เงินฝากในบัญชีทรัพย์สินลำดับที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 8 ที่ 11 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 21 และที่ 27 รวม 11 บัญชี พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เงินฝากในบัญชีทรัพย์สินลำดับที่ 2 ที่ 5 และที่ 16 ถึงที่ 19 รวม 6 บัญชี พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนคำขอให้เงินฝากในบัญชีทรัพย์สินลำดับที่ 11 ที่ 14 และที่ 21 พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากัน ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรีเป็นโจทก์ฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกต่อศาลจังหวัดชลบุรี กล่าวหาว่าร่วมกันนำที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเนื้อที่ 140 ไร่ ไปขายให้เมืองพัทยาโดยอ้างว่าเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ เป็นเหตุให้เมืองพัทยาหลงเชื่อรับซื้อที่ดินดังกล่าวในราคา 93,520,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 84, 86, 91, 144, 151, 157 และ 267 แล้วที่สุด ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 เพียงบทเดียว ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7768/2548 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี โจทก์ นายสมชาย ที่ 1 กับพวก จำเลย คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นความผิดมูลฐานตาม มาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมีมติให้ยึดและหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามรวม 53 รายการ ไว้เป็นการชั่วคราวตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 32/2558 และสำเนาคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม และแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้คัดค้านทั้งสามกับผู้เกี่ยวข้องทราบ ต่อมาเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินสอบสวนแล้ว คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินซึ่งเป็นเงินฝากในธนาคารต่าง ๆ ซึ่งผู้คัดค้านทั้งสามและนายวิทยา มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีรวมเป็นเงิน 30,136,418,05 บาท ตามสำเนาคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ พ.7/2549 และบัญชีทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน คดีในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 กับส่วนของนายวิทยา ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เงินฝากตามบัญชีเงินฝากลำดับที่ 1 ที่ 15 และที่ 27 เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งที่ราชการอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แล้วมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามในประการแรกว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับย้อนหลังแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามที่ได้มาก่อนที่วันพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในกรณีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอต่อศาลและศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน แม้ว่าการร้องขอดังกล่าวจะสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญามูลฐาน กล่าวคือ ต้องเกิดการกระทำความผิดมูลฐานขึ้น แต่มาตรการทางแพ่งก็ไม่ผูกติดกับคดีอาญาแยกออกจากกันต่างหาก โดยความผิดและโทษทางอาญามุ่งบังคับแก่ตัวบุคคล ส่วนมาตรการทางแพ่งมุ่งบังคับแก่ตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดมูลฐานเพราะถึงอย่างไรทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ไม่เป็นของผู้กระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ใด เพื่อตัดวงจรการกระทำความผิดมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป ดังนั้น แม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์ไม่ได้ร่วมกระทำความผิด ไม่ได้ถูกฟ้อง และได้ทรัพย์สินนั้นมาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน (ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดอยู่ก่อนแล้ว) ก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ใช้มาตรการให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ และมาตรการดังกล่าวก็มิใช่โทษทางอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามในประการที่สองมีว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 32/2548 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่า ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งดังกล่าว เนื่องจากพลตำรวจตรี พีรพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หมดวาระการดำรงตำแหน่ง จึงต้องให้พันตำรวจเอก ยุทธบูล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นประธานที่ประชุมแทน แต่ที่ประชุมกลับมีมติเลือกนายไพจิตรกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานที่ประชุม จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้นำมาใช้กับการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมด้วย ทำให้การประชุมคณะกรรมการธุรกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า มาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติให้มีคณะกรรมการธุรกรรมประกอบด้วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นประธานกรรมการและผู้ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแต่งตั้งจำนวน 4 คน เป็นกรรมการ และมาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งมาตรา 33 บัญญัติให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมกับการประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมด้วย บัญญัติว่า ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม หากรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ดังนั้น เมื่อองค์ประกอบของคณะกรรมการธุรกรรมตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง มีเพียงประธานกรรมการและกรรมการ หาได้มีรองประธานกรรมการด้วยไม่ ทั้งไม่มีบทบัญญัติว่าในกรณีที่ประธานกรรมการหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ให้รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นประธานที่ประชุมแทนแต่อย่างใด การที่พลตำรวจตรี พรีพันธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการธุรกรรมหมดวาระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ และกรรมการซึ่งมาประชุมมีมติเลือกนายไพจิตรกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม จึงเป็นการปฏิบัติชอบด้วยมาตรา 29 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ใช้บังคับในขณะนั้นแล้ว การประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมและมติที่ประชุมครั้งที่ 32/2548 รวมทั้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งออกตามมติดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามในประการที่สามว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะคณะกรรมการธุรกรรมปฏิบัติไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือไม่ ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่า การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 32/2548 ซึ่งพิจารณายึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 48 เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทำหน้าที่โดยหวังสินบนและเงินรางวัล เป็นเหตุให้มติของคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 4/2549 เพื่อพิจารณาส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องจึงไม่ชอบ ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง นั้น เห็นว่า ในคำคัดค้านเพิ่มเติมของผู้คัดค้านทั้งสามปรากฏข้อต่อสู้เพียงว่า คำร้องของผู้ร้องไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และผู้คัดค้านที่ 3 มิได้รับโอนทรัพย์สินใดมาจากจำเลยในคดีอาญา ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นเจ้าของที่แท้จริง ซึ่งได้มาโดยสุจริต มิได้ต่อสู้เลยว่าในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามไว้ชั่วคราวตามที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติและคำสั่งไม่มีการพิจารณาว่าทรัพย์สินใดเกี่ยวกับการกระทำความผิดอย่างไร และไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินนั้น คณะกรรมการธุรกรรมจึงไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว และผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอคดีนี้ ที่ผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบจึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นในคำคัดค้าน และการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 85, 142 วรรคหนึ่ง, 185 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ส่วนข้อต่อสู้ตามคำคัดค้านเพิ่มเติมข้างต้น ผู้ร้องได้บรรยายมาในคำร้องแล้วว่า กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินซึ่งเป็นเงินฝากในบัญชีเงินฝากของธนาคารต่าง ๆ ของผู้คัดค้านทั้งสามเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลจะได้วินิจฉัยในปัญหาประการต่อไปว่า ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามที่ถูกคณะกรรมการธุรกรรมหรือศาลสั่งยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราว เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 ลำดับที่ 9 ถึงที่ 14 ที่ 20 ถึงที่ 26 ที่ 28 และที่ 29 พร้อมดอกผล เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานซึ่งต้องตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ และตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามในประการสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ลำดับที่ 3 ถึงที่ 7 และที่ 16 ถึงที่ 18 และทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของรวม ลำดับที่ 2 ที่ 8 และที่ 19 ตกเป็นของแผ่นดิน ชอบหรือไม่ ซึ่งเห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดมูลฐาน ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นภริยา ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตร ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 51 วรรคสอง (เดิม) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับในขณะยื่นคำร้อง ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาทรัพย์สินตามคำร้อง ซึ่งประกอบด้วยทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ในลำดับที่ 3 ถึงที่ 7 และที่ 16 ถึงที่ 18 ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของรวม ในลำดับที่ 2 ที่ 8 และที่ 19 และทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 ในลำดับที่ 9 ถึงที่ 14 ที่ 20 ถึงที่ 26 ที่ 28 และที่ 29 พร้อมดอกผล เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) (2) ซึ่งจะได้พิจารณาตามลำดับที่ในรายการบัญชีทรัพย์สินดังนี้
ทรัพย์สินลำดับที่ 2 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี ประเภทกระแสรายวัน เลขที่บัญชี 383-3-01xxxx จำนวนเงิน 772,894.92 บาท ทรัพย์สินลำดับที่ 8 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี ประเภทสะสมทรัพย์ เลขที่บัญชี 383-0-15xxxx จำนวนเงิน 1,092,424.87 บาท และทรัพย์สินลำดับที่ 19 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางแสน ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 640-2-22xxxx จำนวนเงิน 3,338,989.02 บาท ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชี ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำคัดค้าน คำคัดค้านเพิ่มเติมและนำสืบทำนองเดียวกันว่า เป็นบัญชีของบริษัทบางแสนวิลล่า จำกัด เพื่อกันเงินสดไว้สำหรับรายจ่ายเร่งด่วนประจำวันของกิจการโรงแรมบางแสนวิลล่า ขณะเปิดบัญชีมีนางรัศมี และนายพิสุทธิ์ เป็นเจ้าของบัญชี ต่อมามีการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการบริษัทหลายครั้ง ในที่สุดมีผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 และนายณรงค์ชัย เป็นกรรมการบริษัท จึงเปลี่ยนชื่อเจ้าของบัญชีมาเป็นผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เหตุที่เปิดบัญชีในนามบุคคลธรรมดาก็เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ จากคำคัดค้าน คำคัดค้านเพิ่มเติม และทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ดังนี้เป็นการกล่าวอ้างว่า เงินในบัญชีเงินฝากนั้นเป็นเงินของบริษัทบางแสนวิลล่า จำกัด โดยให้ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เปิดบัญชีในฐานะตัวแทนของบริษัท เพื่อสะดวกในการบริหารงานและดำเนินธุรกิจของบริษัท ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ใช่เจ้าของเงินในบัญชีที่จะมีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านได้ เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) เชื่อได้ว่าทรัพย์สินรายการเหล่านี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 3 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี ประเภทสะสมทรัพย์ เลขที่บัญชี 383-0-25xxxx จำนวนเงิน 1,592,151.03 บาท ของผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 มีนางสาวบุญเรือน เป็นพยานเบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ 2 นำเงินรายได้จากการให้เช่าหอพักชื่อ น้องตุ๊ก ที่หน้ามหาวิทยาลัยบูรพามาเข้าบัญชีไว้ นางสาวบุญเรือนเป็นผู้เก็บค่าเช่าจากผู้เช่าแล้วจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายและนำเงินเข้าบัญชีแต่ละเดือนตามที่บันทึกไว้ในสมุดคุมรายได้ แต่นางสาวบุญเรือนเบิกความตอบคำถามค้านผู้ร้องว่า หลังจากฝากเงินเข้าบัญชีแล้วก็ต้องปรับตัวเลขในสมุดคุมรายได้ให้ตรงกับตัวเลขในสมุดคู่ฝากเพราะมีเรื่องค่าน้ำค่าไฟที่มาเก็บภายหลัง ครั้นเมื่อตอบคำถามติงก็เบิกความว่า ความจริงทำบัญชีรายรับรายจ่ายก่อน แล้วจึงนำจำนวนเงินที่เหลือซึ่งลงในสมุดคุมรายได้ไปฝากเงินเข้าบัญชี ซึ่งเป็นการเบิกความกลับไปมาไม่น่าเชื่อถือทั้งที่เป็นตรงงานที่ตนทำเป็นประจำซึ่งทราบดีอยู่แล้ว ทั้งตามสมุดคู่ฝากยังมีรายการฝากเงินจำนวน 67,400 บาท ในวันที่ 9 กันยายน 2546 และฝากเงินจำนวนมากถึง 500,000 บาท ในวันที่ 20 มกราคม 2547 ซึ่งนางสาวบุญเรือนก็เบิกความลอย ๆ ว่า เป็นเงินค่าแชร์ที่ผู้คัดค้านที่ 2 ประมูลแชร์ได้นำมาฝากเข้าบัญชี ซึ่งเห็นได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับค่าเช่าหอพักดังที่กล่าวอ้าง และไม่เป็นเหตุเป็นผลที่ผู้คัดค้านจะนำเงินส่วนตัวมาฝากปะปนเข้าไว้ในบัญชีเงินฝากรายได้ของหอพัก คำเบิกความของนางสาวบุญเรือนจึงไม่น่าเชื่อถือทั้งนางสาวบุญเรือนเป็นเพียงลูกจ้างของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่น่าเชื่อว่าจะรู้ถึงที่มาของเงินทั้งหมดในบัญชีดังกล่าว ประกอบกับผู้คัดค้านที่ 2 ก็ไม่ได้มาเบิกความยืนยันถึงที่มาของเงินในบัญชี จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่อาจแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นเจ้าของเงินฝากดังกล่าวและไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เชื่อว่าทรัพย์สินรายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 4 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี ประเภทสะสมทรัพย์ เลขที่บัญชี 383-0-88xxxx จำนวนเงิน 1,592,572.16 บาท ของผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 มีนายชำนาญ ทนายความของผู้คัดค้านทั้งสามเป็นพยานเบิกความว่า บัญชีดังกล่าวเปิดบัญชีวันที่ 27 มีนาคม 2546 ผู้คัดค้านที่ 2 นำเงินเดือนที่ได้รับจากห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส เอสบางแสนบีช ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2532 เดือนละ 200,000 บาท ไปฝากเข้าส่วนตัวเดือนละ 100,000 บาท โดยผู้คัดค้านที่ 2 มีเพียงสำเนาคำขอเปิดบัญชี และหนังสือรับรองของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส เอส บางแสนบีช มาแสดง โดยที่นายชำนาญเบิกความไปตามเอกสาร และไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนถึงการได้รับเงินเดือนประกอบกับผู้คัดค้านที่ 2 ก็ไม่ได้มาเบิกความยืนยันถึงที่มาของเงินในบัญชีดังกล่าว จึงเชื่อว่าทรัพย์สินรายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 5 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี ประเภทสะสมทรัพย์ เลขที่บัญชี 383-0-91xxxx จำนวนเงิน 124,745.46 บาท ของผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 มีนางสาวบุญเรือน เป็นพยานเบิกความว่า เป็นบัญชีที่นำเงินรายได้จากค่าเช่าตึกแถว 2 ห้อง ของผู้คัดค้านที่ 2 ที่อยู่บริเวณทางไปธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี เป็นเงินห้องละ 2,000 บาท รวมเป็น 4,000 บาท ฝากเข้าบัญชีทุกเดือนซึ่งบางครั้งอาจไม่ตรงกับวันสิ้นเดือน ตามสำเนาคำขอเปิดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ และรายการเคลื่อนไหวทางบัญชี แต่นางสาวบุญเรือนก็เบิกความตอบคำถามค้านของผู้ร้องว่า รายการเคลื่อนไหวทางบัญชีแผ่นที่เขียนตัวเลขไว้ด้านบนข้างขวาว่า 10/198 นั้น จำนวนเงินแต่ละรายการไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าเป็นเงินค่าเช่าตึกแถว และผู้คัดค้านที่ 2 จะนำเงินจากที่ใดมาสร้างตึกแถวพยานก็ไม่ทราบ เห็นว่า นางสาวบุญเรือนเบิกความลอย ๆ ว่าเงินในบัญชีดังกล่าวเป็นเงินค่าเช่าตึกแถว โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน หลักฐานการเสียภาษีจากเงินได้นี้ก็ไม่มีมาแสดง นางสาวบุญเรือนเป็นเพียงลูกจ้างของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่น่าเชื่อว่าจะรู้ถึงที่มาของเงินทั้งหมดในบัญชี ประกอบกับผู้คัดค้านที่ 2 ก็ไม่ได้มาเบิกความยืนยันถึงที่มาของเงินในบัญชีดังกล่าว จึงเชื่อว่าทรัพย์สินรายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 6 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี ประเภทสะสมทรัพย์ เลขที่บัญชี 383-0-92xxxx จำนวนเงิน 1,314,565.41 บาท ของผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 มีนางสาวบุญเรือนเป็นพยานเบิกความว่า เป็นบัญชีที่นำเงินรายได้จากการให้เช่าหอพักชื่อ น้องตุ๊ก ที่วงเวียนบางแสนซึ่งต่อมามีผู้เช่าทำเป็นร้านขายอาหารแทนมาฝากเข้าบัญชี โดยนางสาวบุญเรือนเป็นผู้เก็บค่าเช่าจากผู้เช่าแล้วฝากเข้าบัญชีเดือนละ 15,000 บาท เห็นว่า นางสาวบุญเรือนเบิกความตอบคำถามค้านกลับไปกลับมาโดยครั้งแรกเบิกความว่า สมุดคุมรายได้หอพักเป็นการบันทึกรายได้ของหอพักชื่อ น้องตุ๊ก ที่หน้ามหาวิทยาลัยบูรพาเพียงแห่งเดียว ต่อมาก็เบิกความตอบผู้ร้องถามค้านว่า มีการบันทึกรายได้ในส่วนของหอพักชื่อ น้องตุ๊ก ที่วงเวียนบางแสนอีกแห่งหนึ่ง ยังมีรายการฝากเงินจำนวนมากถึง 1,900,000 บาท ในวันที่ 3 มีนาคม 2547 ซึ่งนางสาวบุญเรือนก็เบิกความลอย ๆ ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 นำเงินมาให้ฝากเข้าบัญชีโดยทราบเพียงว่าเป็นเงินที่ได้จากการขายที่ดิน ดูเหมือนจะเป็นที่ดินที่บางละมุง ซึ่งเห็นได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับค่าเช่าหอพักดังที่กล่าวอ้าง คำเบิกความของนางสาวบุญเรือนจึงไม่น่าเชื่อถือ นางสาวบุญเรือนเป็นเพียงลูกจ้างของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่น่าเชื่อว่าจะรู้ถึงที่มาของเงินทั้งหมดในบัญชี ประกอบกับผู้คัดค้านที่ 2 ก็ไม่ได้มาเบิกความยืนยันถึงที่มาของเงินในบัญชีดังกล่าว จึงเชื่อว่าทรัพย์รายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 7 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี ประเภทประจำ เลขที่บัญชี 383-2-18xxxx จำนวนเงิน 4,317,264.70 บาท ของผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 นำสืบว่า ผู้คัดค้านที่ 2 นำที่ดินไปให้นายพิทักษ์ น้องชายของผู้คัดค้านที่ 2 ทำหมู่บ้านจัดสรร แต่ทางการห้ามจัดสรร จึงขายให้ผู้ซื้อรวมกัน 27 คน โดยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ไปแล้วและนายพิทักษ์ทยอยจ่ายเงินค่าที่ดินคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 2 นำไปเข้าบัญชี โดยผู้คัดค้านที่ 2 มีนายพิทักษ์เป็นพยานเบิกความว่า ได้รับมอบหมายจากผู้คัดค้านที่ 2 ไปขายที่ดิน 2 แปลง ให้แก่ผู้ซื้อรวม 27 คน แต่เก็บเงินได้บ้างไม่ได้บ้าง โดยเงินค่าที่ดินที่เก็บได้มี 2 ครั้ง ครั้งละ 1,000,000 บาท แผ่นที่มีเลขกำกับไว้ด้านบนข้างขวาว่า 10/213 ซึ่งมีลายมือเขียนไว้ว่า จ่ายค่าที่ดินโรงโป๊ะ 1,000,000 บาท และเงินอีก 1,000,000 บาท ตามที่ปรากฏในแผ่นที่มีเลขกำกับไว้ด้านบนข้างขวาว่า 10/214 ซึ่งเป็นใบนำฝากของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เห็นว่า เอกสารใบนำฝากดังกล่าวเป็นสำนาใบนำฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้าบัญชีเลขที่ 383-3-00xxxx เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2547 และวันที่ 16 พฤษภาคม 2548 ตามลำดับ ซึ่งเป็นเลขบัญชีคนละบัญชีกับทรัพย์สินลำดับที่ 7 ทั้งนายพิทักษ์เบิกความตอบคำถามค้านของผู้ร้องว่า มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงให้ผู้ซื้อทั้งหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2538 แต่เพิ่งมานำฝากเงินให้ผู้คัดค้านที่ 2 ในปี 2548 หลังจากโอนกรรมสิทธิ์กันแล้วร่วม 10 ปี โดยไม่มีเหตุผล ทั้งจำนวนเงินค่าขายที่ดินที่อ้างว่าโอนเข้าบัญชีมีเพียง 2,000,000 บาท ซึ่งน้อยกว่าเงินในบัญชีตามทรัพย์สินลำดับที่ 7 มาก ประกอบกับผู้คัดค้านที่ 2 ก็ไม่ได้มาเบิกความยืนยันถึงที่มาของเงินในบัญชีดังกล่าว จึงเชื่อว่าทรัพย์สินรายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 9 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี ประเภทสะสมทรัพย์ เลขที่บัญชี 383-0-78xxxx จำนวนเงิน 1,404,596.71 บาท และทรัพย์สินลำดับที่ 10 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี ประเภทสะสมทรัพย์ เลขที่บัญชี 383-078xxxx จำนวนเงิน 180,806.06 บาท ซึ่งผู้คัดค้านที่ 3 มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีทั้งสองบัญชีผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านและนำสืบว่า ทั้งสองบัญชีเป็นของบริษัท สกายอินน์ จำกัด โดยผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้บริหาร ประกอบกิจการโรงแรมที่พัก โรงซักรีด มีรายรับรายจ่ายประจำวัน และรายรับรายจ่ายค่าบริการซักรีดทั่วไปและบริษัทหรือโรงแรมในเครือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจการ เหตุที่เปิดบัญชีทั้งสองในนามของผู้คัดค้านที่ 3 บุคคลธรรมดาก็เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ เห็นว่า จากคำร้องคัดค้านและทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 3 ดังนี้เป็นการกล่าวอ้างว่า เงินในบัญชีเงินฝากทั้งสองดังกล่าวเป็นเงินของบริษัทสกายอินน์ จำกัด โดยให้ผู้คัดค้านที่ 3 เปิดบัญชีในฐานะตัวแทนของบริษัท เพื่อสะดวกในการบริหารงานและดำเนินธุรกิจของบริษัท ผู้คัดค้านที่ 3 จึงไม่ใช่เจ้าของเงินในบัญชีทั้งสองที่จะมีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านได้ เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่อาจแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเชื่อได้ว่าทรัพย์สินสองรายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 11 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี ประเภทสะสมทรัพย์ เลขที่บัญชี 383-4-12xxxx จำนวนเงิน 663,773.01 บาท ของผู้คัดค้านที่ 3 ผู้คัดค้านที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ 3 นำเงินสดส่วนตัวเปิดบัญชีตามคำขอร้องของพนักงานธนาคารเพื่อให้ช่วยเพิ่มยอดเงินฝาก จากนั้นก็ยืมเงินอีก 5,000,000 บาท จากห้างหุ้นส่วนจำกัด บางแสนมหานคร มาฝากเข้าบัญชี ต่อมาถอนเงินสด 900,000 บาท ไปคืนห้างดังกล่าว เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 3 อ้างว่าเป็นบัญชีของตนเองแต่กลับนำเงินส่วนใหญ่มาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด บางแสนมหานคร เงินจำนวน 5,000,000 บาท ที่อ้างว่ายืมจากห้างดังกล่าวมาเพิ่มยอดเงินฝาก ก็มีการถอนออกไปในวันถัดมานั้นเอง จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเจ้าของเงินในบัญชีที่แท้จริง ในส่วนของเงินสด 900,000 บาท ที่อ้างว่าถอนไปคืนห้างหุ้นส่วนจำกัด บางแสนมหานคร นั้น ผู้คัดค้านที่ 3 เพียงแต่เบิกความลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานที่มาของเงินที่ฝากเข้าในบัญชีมาแสดง และที่อ้างว่านำเงินจำนวนนี้ไปคืนห้างก็ไม่มีหลักฐานอื่นประกอบ ทั้งยังมีพิรุธที่ถอนไปหลังจากคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวเพียงวันเดียว คำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 3 ฟังไม่ขึ้น เชื่อว่าทรัพย์สินรายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 12 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี ประเภทสะสมทรัพย์ เลขที่บัญชี 383-0-95xxxx จำนวนเงิน 5,037.27 บาท ซึ่งผู้คัดค้านที่ 3 มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชี ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า เป็นบัญชีค่าประกันพนักงานของกิจการร่วมค้าอีสเวสท์แมนเนสเมนท์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของบุคคลภายนอก และอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เป็นบัญชีที่เปิดโดยใช้ชื่อว่า เงินกองทุนโดยนางสาวจิราภรณ์ และนางไสว เพื่อรับฝากเงินชำระค่างวดรถยนต์และเงินดาวน์จากบริษัทร่วมค้า คือ บริษัทฉัตรไทย จำกัด ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นรับฝากค่าประกันพนักงานของกิจการร่วมค้าอีสเวสท์แมนเนสเมนท์ และตอบคำถามค้านของผู้ร้องว่า เป็นบัญชีที่ใช้ในกิจการของบริษัท อีส เวสท์ แมนเนสเมนท์ จำกัด เห็นว่า จากคำร้องคัดค้านและทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 3 ดังนี้เป็นการกล่าวอ้างว่า เงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวเป็นเงินของบริษัท อีส เวสท์ แมนเนสเมนท์ จำกัด โดยให้ผู้คัดค้านที่ 3 และนางไสวเปิดบัญชีในฐานะตัวแทนของบริษัทอีส เวสท์ แมนเนสเมนท์ จำกัด เพื่อสะดวกในการบริหารงานของบริษัท อีส เวสท์ แมนเนสเมนท์ จำกัด ผู้คัดค้านที่ 3 จึงไม่ใช่เจ้าของเงินในบัญชีที่จะมีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านได้ เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่อาจแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงเชื่อว่าทรัพย์สินรายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 13 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี ประเภทสะสมทรัพย์ เลขที่บัญชี 383-4-04xxxx จำนวนเงิน 168,928.24 บาท ของผู้คัดค้านที่ 3 ผู้คัดค้านที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เป็นบัญชีธุรกิจที่ผู้คัดค้านที่ 3 เปิดร่วมกับนายณรงค์ชัย เพื่อใช้สำหรับเก็บค่าเช่าที่ดินเดือนละ 15,000 บาท จากผู้มาขอเช่าร้านชื่อไม้เอก ประกอบกิจการร้านค้า ส่วนเงินจำนวน 378,358.25 บาท ที่นำเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2548 โอนมาจากบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี เลขที่บัญชี 383-0-41xxxx เห็นว่า รายการเคลื่อนไหวบัญชีของสมุดคู่ฝากดังกล่าวเป็นเงินฝากคราวละเล็กน้อย และผู้คัดค้านที่ 3 มีหนังสือสัญญาเช่าอุปกรณ์และทรัพย์สินอ้างส่งศาล สอดคล้องกับที่ผู้คัดค้านที่ 3 นำสืบ จึงเชื่อว่าไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 14 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี ประเภทกระแสรายวัน เลขที่บัญชี 383-3-02xxxx จำนวนเงิน 154,798.03 บาท ของผู้คัดค้านที่ 3 ผู้คัดค้านที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เป็นบัญชีที่เปิดใช้เป็นค่าใช้จ่ายของศูนย์ช่วยเหลือประชาชนโดยยืมมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด บางแสนมหานคร เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 3 มีเพียงสำเนาใบนำฝากและสำเนาเช็ค มาแสดงโดยอ้างว่าเป็นหลักฐานการยืมเงิน และเป็นการนำเงินที่ยืมซึ่งห้างจ่ายเป็นเช็คตามสำเนาเช็คเข้าฝากในบัญชีดังกล่าวตามใบนำฝากต่าง ๆ เท่านั้น แต่ไม่มีหลักฐานที่มาของเงินที่อ้างว่ายืมมาและรายการใช้จ่ายของศูนย์ช่วยเหลือประชาชนตามที่กล่าวอ้างมาแสดง ข้ออ้างดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือ จึงเชื่อว่าทรัพย์สินรายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 16 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางแสน ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 640-2-14xxxx จำนวนเงิน 1,341,580.34 บาท ทรัพย์สินลำดับที่ 17 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางแสน ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 640-2-30xxxx จำนวนเงิน 925,110.67 บาท และทรัพย์สินลำดับที่ 18 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางแสน ประเภทฝากประจำ เลขที่บัญชี 640-1-04xxxx จำนวนเงิน 105,138.95 บาท ของผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 นำสืบว่า เป็นบัญชีที่ผู้คัดค้านที่ 2 เปิดไว้สำหรับนำเงินรายได้จากค่าบริการห้องน้ำและหอพักหน้าชายหาดบางแสนมาเข้าบัญชีตามสมุดคู่ฝาก โดยมีนางสาวอรุณี ซึ่งเป็นพนักงานดูแลห้องน้ำและห้องพักชายหาดบางแสนของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า พยานลงบัญชีรายรับรายจ่ายไว้ในสมุดบัญชีรับจ่าย เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าตนเป็นเจ้าของห้องน้ำและห้องพักตามที่กล่าวอ้างว่าเป็นที่มาของเงินที่นำเข้าบัญชี ส่วนสมุดบัญชีรับจ่ายเป็นเอกสารที่นางสาวอรุณี จัดทำขึ้นเองในลักษณะของรายการสรุปประจำเดือน จึงไม่น่าเชื่อถือ นางสาวอรุณีเป็นเพียงลูกจ้างของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่น่าเชื่อว่าจะรู้เห็นถึงที่มาของเงินในบัญชีดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง ดังเช่นที่ได้เบิกความตอบคำถามค้านของผู้ร้องว่าไม่ทราบเงินจำนวน 267,463 บาท ของวันที่ 8 เมษายน 2547 และเงินจำนวน 215,135.36 บาท ของวันที่ 29 เมษายน 2547 จะฝากเข้ามาในบัญชีตามสมุดคู่ฝากได้อย่างไร กับไม่รู้ว่าเงิน 2,000,000 บาท ของวันที่ 6 สิงหาคม 2547 เป็นเงินจำนวนเดียวกันกับ 2,000,000 บาท ที่พยานเบิกความว่าถอนจากบัญชีนี้ไปเข้าบัญชีเงินฝากประจำหรือไม่ ประกอบกับผู้คัดค้านที่ 2 ก็มิได้มาเบิกความยืนยันถึงที่มาของเงินในบัญชีดังกล่าว ซึ่งหลายรายการมีจำนวนมาก จึงเชื่อว่าทรัพย์สินรายการเหล่านี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 20 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยไชยยศ ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 040-2-23xxxx จำนวนเงิน 252,935.35 บาท ของผู้คัดค้านที่ 3 ผู้คัดค้านที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เป็นบัญชีที่ผู้คัดค้านที่ 3 นำเงินส่วนตัวมาฝากไว้เพื่อตัดเงินกู้ยืมที่ผู้คัดค้านที่ 3 กู้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการซื้อห้องชุดเลขที่ 144/105 ชั้น 9 ชื่ออาคารชุดลาเมซอง ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 36/2539 เห็นว่า รายการเคลื่อนไหวทางบัญชีในสมุดคู่ฝากเป็นการฝากเงินที่มีจำนวนเงินฝากสม่ำเสมอสอดคล้องกับเอกสารกู้ยืมเงินเพื่อซื้อห้องชุดดังกล่าว เชื่อว่าเป็นบัญชีของผู้คัดค้านที่ 3 ที่ใช้เพื่อชำระหนี้เงินที่กู้ยืมมาซื้อห้องชุดจริง จึงเชื่อว่าไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 21 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางแสน ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 640-2-16xxxx จำนวนเงิน 4,645,807.54 บาท ของผู้คัดค้านที่ 3 ผู้คัดค้านที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เป็นบัญชีใช้จ่ายส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ 3 โดยเป็นรายได้จากการบริหารงานจากที่ต่าง ๆ เงินปันผล เงินร่วมลงทุนกับเพื่อน เงินยืมระหว่างบริษัทในเครือ รายได้จากการขายรถยนต์และที่ดินอีกหลายแปลง เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าเงินในบัญชีนี้ ส่วนใดได้มาจากการประกอบธุรกิจอะไรคงเพียงแต่เบิกความกว้าง ๆ และมีแต่เอกสารที่แสดงว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นกรรมการบริษัทต่าง ๆ และหลักฐานการซื้อขายที่ดินและการรับเช็คจากบุคคลต่าง ๆ โดยไม่ปรากฏชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับยอดเงินใดบ้าง ทั้งตามรายการบัญชีเอกสารพบว่านับแต่ปี 2544 เป็นต้นมามีรายการฝากเงินจำนวนมากผิดปกติหลายครั้ง ทำให้เงินในบัญชีเพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 1,000,000 บาท เป็นเกือบ 5,000,000 บาท โดยไม่ปรากฏที่มาของเงินที่ชัดเจน ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่อาจแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินรายการนี้ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงเชื่อว่าทรัพย์สินรายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 22 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางแสน ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 640-2-18xxxx จำนวนเงิน 2,316,196.35 บาท และทรัพย์สินลำดับที่ 24 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางแสน ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 640-2-26xxxx จำนวนเงิน 2,205,927.16 บาท ซึ่งผู้คัดค้านที่ 3 มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชี ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านและนำสืบว่า เป็นบัญชีสวัสดิการพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด บางแสนมหานคร และบัญชีสำหรับผู้รับเหมาที่มารับช่วงงานซึ่งมีหน้าที่ต้องประกันผลงานโดยมีการหักเงินประกันผลงานของผู้รับเหมา ห้างหุ้นส่วนจำกัด บางแสนมหานคร มีผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้บริหาร เหตุที่เปิดบัญชีในนามบุคคลธรรมดาก็เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ห้างดังกล่าวมีพนักงานประจำ 500 คน บางครั้งมีการขายเศษเหล็กเศษวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างนำเงินมาฝากเข้าบัญชีเก็บไว้เป็นทุนสำรองของห้าง ปัจจุบันได้นำเงินในบัญชีไปค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด บางแสนมหานคร ด้วย เห็นว่า จากคำร้องคัดค้านและทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 3 ดังนี้เป็นการกล่าวอ้างว่าเงินในบัญชีเงินฝากทั้งสองบัญชีเป็นเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัด บางแสนมหานคร โดยให้ผู้คัดค้านที่ 3 เปิดบัญชีในฐานะตัวแทนของห้าง เพื่อสะดวกในการบริหารงานของห้างผู้คัดค้านที่ 3 จึงไม่ใช่เจ้าของเงินในบัญชีดังกล่าวที่จะมีอำนาจยื่นคำคัดค้านได้ เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่อาจแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เชื่อได้ว่าทรัพย์สินรายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 23 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางแสน ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 640-2-21xxxx จำนวนเงิน 246,952.08 บาท ซึ่งผู้คัดค้านที่ 3 มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชี ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านและนำสืบว่า เป็นบัญชีสวัสดิการพนักงานของบริษัทบางแสนซัพพลาย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการขายเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ ให้แก่โรงแรมและร้านค้าทั่วไป เป็นบัญชีที่เก็บเงินคงเหลือจากเงินเดือนของพนักงานและเก็บรายได้จากการเป็นตัวแทนขายเบียร์ เพื่อใช้เป็นเงินสำรองให้พนักงานเบิกจ่ายและเป็นเงินสำรองใช้หน้าร้าน เหตุที่เปิดบัญชีในนามบุคคลธรรมดาก็เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ เห็นว่า จากคำร้องคัดค้านและทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 3 ดังนี้เป็นการกล่าวอ้างว่า เงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวเป็นเงินของบริษัทบางแสนซัพพลาย จำกัด โดยให้ผู้คัดค้านที่ 3 เปิดบัญชีในฐานะตัวแทนของบริษัทเพื่อสะดวกในการบริหารงานของบริษัท ผู้คัดค้านที่ 3 จึงไม่ใช่เจ้าของเงินในบัญชีที่จะมีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านได้ เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่อาจแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เชื่อได้ว่าทรัพย์สินรายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 25 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางแสน ประเภทประจำ เลขที่บัญชี 640-1-03xxxx จำนวนเงิน 134,732.69 บาท ของผู้คัดค้านที่ 3 ผู้คัดค้านที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เป็นบัญชีส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ 3 ที่ธนาคารให้ช่วยเปิดบัญชีเงินฝากประจำ 1 ปี เมื่อครบ 1 ปี จะมีการถอนและนำฝากใหม่โดยมีดอกเบี้ยเข้าทุกปี และเอกสารประกอบคำชี้แจงของผู้คัดค้านที่ 3 เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 3 นำเงินมาเปิดบัญชีตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2540 ตามรายการบัญชีดังกล่าวเห็นได้ว่าแทบไม่มีการเคลื่อนไหวบัญชีนอกจากการถอนและนำฝากใหม่ และดอกเบี้ยกับภาษี ตรงตามที่ผู้คัดค้านที่ 3 เบิกความ จึงเชื่อว่าเป็นบัญชีเงินฝากส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 26 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางแสน ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 640-2-34xxxx จำนวนเงิน 100,446 บาท ซึ่งผู้คัดค้านที่ 3 มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชี ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านและนำสืบว่า เป็นบัญชีของบริษัท บางแสนมหานคร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นประธานกรรมการ เปิดบัญชีโดยใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ 3 กับบุคคลอื่น เพื่อใช้ฝากเงินประกันค่าแบบเหล็กที่ผู้รับเหมานำไปใช้ซึ่งหากเกิดความเสียหายก็จะริบเงินประกันที่ฝากไว้ ถ้าไม่มีความเสียหายก็จะคืนเงินให้ผู้รับเหมา เหตุที่เปิดบัญชีในนามบุคคลธรรมดาก็เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ เห็นว่า จากทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 3 ดังนี้ เป็นการกล่าวอ้างว่าเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวเป็นเงินของบริษัท บางแสนมหานคร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด โดยให้ผู้คัดค้านที่ 3 เปิดบัญชีในฐานะตัวแทนของบริษัทเพื่อสะดวกในการบริหารงานของบริษัท ผู้คัดค้านที่ 3 จึงไม่ใช่เจ้าของเงินในบัญชีที่จะมีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านได้ เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่อาจแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เชื่อได้ว่าทรัพย์สินรายการนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 28 เงินฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 275-2-33xxxx จำนวนเงิน 35,474.14 บาท ของผู้คัดค้านที่ 3 ผู้คัดค้านที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ได้มาจากการประกอบธุรกิจโดยสุจริตนำมาซื้อกองทุนเปิดรวงข้าวหุ้นบริพัตร เห็นว่า เงินในบัญชีนี้มีการฝากเป็นเงินก้อนแล้วถอนไปภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน ส่วนที่เหลือเป็นเพียงเงินฝากหลักร้อยเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ เท่านั้น เชื่อว่าเป็นเงินของผู้คัดค้านที่ 3 จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ทรัพย์สินลำดับที่ 29 เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน-ชลบุรี ประเภทประจำ เลขที่บัญชี 275-3-06xxxx จำนวนเงิน 545,960.72 บาท ของผู้คัดค้านที่ 3 ผู้คัดค้านที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ได้มาจากการบริหารบริษัทต่าง ๆ เป็นเงินปันผล เงินได้จากธุรกิจนำไปฝากเพื่อรับดอกเบี้ย เห็นว่า ตามรายการบัญชีในสมุดคู่ฝากเป็นเงินฝากประจำโดยไม่มีการเบิกถอน คงมีแต่ดอกเบี้ยเข้าบัญชีทุก 3 เดือน เชื่อว่าเป็นเงินของผู้คัดค้านที่ 3 จริง จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้นบางส่วน ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษายกคำขอให้ทรัพย์สินลำดับที่ 13 ที่ 20 ที่ 25 ที่ 28 และที่ 29 พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน โดยมิได้มีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51/1 วรรคหนึ่ง นั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เงินฝากในบัญชีทรัพย์สินลำดับที่ 9 ถึงที่ 12 ที่ 14 ที่ 21 ถึงที่ 24 และที่ 26 รวม 10 บัญชี ตามบัญชีทรัพย์สิน พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินเสียด้วย และให้คืนทรัพย์สินลำดับที่ 13 ที่ 20 ที่ 25 ที่ 28 และที่ 29 พร้อมดอกผลแก่ผู้คัดค้านที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ