แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นพี่ชาย บิดา และสามีของผู้คัดค้านที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทนผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 ได้
เจ้าของที่แท้จริงในทรัพย์สินเท่านั้นที่มีอำนาจยื่นคำคัดค้านเพื่อขอคืนทรัพย์สิน ผู้ครอบครองทรัพย์สินแม้ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของทรัพย์สินก็ไม่อาจยื่นคำคัดค้านได้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 5 เป็นเพียงผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝาก ส่วนเงินในบัญชีเงินฝากเป็นของผู้คัดค้านที่ 6 ผู้คัดค้านที่ 5 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ในส่วนมาตรการดำเนินคดีต่อทรัพย์สินที่ให้ยึดหรืออายัดและให้ตกเป็นของแผ่นดิน เป็นคนละส่วนกับการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคล แต่เป็นมาตรการพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะให้ดำเนินการทางแพ่งต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยมีเหตุผลมาจากหลักการคุ้มครองประโยชน์ของสังคมหรือประโยชน์สาธารณะ และหลักการติดตามและเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดของรัฐ ทำให้สามารถดำเนินคดีทางแพ่งต่อทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดได้ โดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือไม่ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงใช้บังคับย้อนหลังได้ตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40 – 41/2546
ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ได้มาระหว่างกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสอง ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านที่ 3 จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้
ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 6 ไม่เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (2) ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 6 ต้องแสดงให้เห็นว่าได้รับโอนเงินจากผู้คัดค้านที่ 3 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งให้เงิน 30,278,334 บาท ทรัพย์สินอื่นและเงินตราต่างประเทศ จำนวน 8,901,449.96 บาท เงินฝากในบัญชีธนาคาร รวม 80 บัญชี จำนวน 45,283,818.31 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 84,463,602.27 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นสั่งให้ประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้เพิกถอนการอายัดทรัพย์ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2
ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 5 ถึงที่ 14 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 15 ยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้คัดค้านที่ 15 ที่จะบังคับชำระหนี้จากเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 12 ตามที่ได้ตกลงกันไว้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เงิน 30,278,334 บาท ทรัพย์สินอื่นและเงินตราต่างประเทศคิดเป็นเงิน 8,901,449.96 บาท และเงินฝากในบัญชีธนาคารต่าง ๆ จำนวน 80 บัญชี คิดเป็นเงิน 45,283,818.31 บาท รวมทั้งสิ้น 84,463,602.27 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง แต่ทั้งนี้ให้คุ้มครองสิทธิของผู้คัดค้านที่ 15 ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง โดยให้ผู้คัดค้านที่ 15 มีสิทธิหักเงินจำนวน 3,151.38 บาท จากบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 407 – 3 – 02xxx – x ของผู้คัดค้านที่ 15 สาขาถนนช้างคลาน ซึ่งมีชื่อผู้คัดค้านที่ 12 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าวข้างต้นมาชำระหนี้ที่ผู้คัดค้านที่ 12 ค้างชำระแก่ผู้คัดค้านที่ 15 ได้ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 7 และที่ 9 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านในชั้นนี้ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านที่ 3 พร้อมยึดทรัพย์สินต่าง ๆ หลายรายการได้เป็นของกลาง ในวันเดียวกัน เจ้าพนักงานตำรวจอีกชุดหนึ่งเข้าตรวจค้นบ้านของนายสุพจน์ และผู้คัดค้านที่ 14 ที่จังหวัดเชียงใหม่พร้อมยึดทรัพย์สินต่าง ๆ อีกหลายรายการได้เป็นของกลาง ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 เจ้าพนักงานตำรวจยึดเงินสดอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 3,000,000 บาท ได้จากบ้านของผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งจากการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเชื่อว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐาน คณะกรรมการธุรกรรมจึงส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 14 ถูกดำเนินคดีในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและศาลพิพากษาลงโทษจำคุกผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 14 แล้ว ที่ผู้คัดค้านที่ 3 ฎีกาว่า เงินและทรัพย์สินอื่นที่ถูกยึดหรืออายัดในคดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน จึงไม่ต้องด้วยข้อกฎหมายที่จะถูกริบเป็นของแผ่นดิน เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นพี่ชายของผู้คัดค้านที่ 7 เป็นสามีของผู้คัดค้านที่ 9 และเป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 8 ที่ 10 และที่ 11 แต่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้คัดค้านที่ 3 มีอำนาจฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทนผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคำคัดค้านว่า บัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ เลขที่ 101 – 4 – 05xxx – x ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ที่ถูกอายัดไว้ในคดีนี้เป็นของผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 6 โดยผู้คัดค้านที่ 6 ใช้บัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีผ่านเพื่อการรับโอนเงินจากบริษัทคู่ค้าในประเทศเมียนมาร์แทนการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้คัดค้านที่ 6 โดยตรงนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีอำนาจยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีนี้ต้องเป็นเจ้าของที่แท้จริงในทรัพย์สินของกลางเท่านั้น หากเป็นเพียงผู้ครอบครองทรัพย์สินของกลางซึ่งแม้จะต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของทรัพย์สินนั้น ก็ไม่อาจยื่นคำคัดค้านเพื่อขอคืนทรัพย์สินของกลางนั้นได้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 5 เป็นเพียงผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากเท่านั้น ส่วนเงินในบัญชีเงินฝากเป็นของผู้คัดค้านที่ 6 ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 5 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของผู้คัดค้านที่ 5 มานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านที่ 5
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ว่า ทรัพย์สินตามรายการบัญชีทรัพย์สินที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งและคำพิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดินเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริตหรือไม่ โดยผู้คัดค้านที่ 3 ฎีกาว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 ตกเป็นของแผ่นดิน เพราะทรัพย์สินทั้งหมดเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ได้มาก่อนที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จะใช้บังคับ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีความประสงค์ตัดวงจรการประกอบอาชญากรรม และทำลายแรงจูงใจสำคัญในการประกอบอาชญากรรมที่ให้ผลตอบแทนที่สูง จึงกำหนดให้มีมาตรการดำเนินการต่อการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ มาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคล และมาตรการที่ดำเนินคดีต่อทรัพย์สิน โดยในทางอาญานั้นพระราชบัญญัตินี้กำหนดความผิดที่จะลงโทษทางอาญาโดยการจำคุก ปรับ หรือริบทรัพย์ทางอาญา ส่วนมาตรการที่ดำเนินคดีต่อทรัพย์สินนั้นจะให้ยึดหรืออายัดไว้ และให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งเป็นการดำเนินการที่เป็นคนละส่วนกับการดำเนินการทางอาญาต่อบุคคล โดยมาตรการนี้จะเป็นมาตรการพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะที่รัฐกำหนดให้ใช้การดำเนินการทางแพ่งต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 โดยมีเหตุผลมาจากหลักของการคุ้มครองประโยชน์ของสังคมหรือประโยชน์สาธารณะ หลักการติดตามและเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดของรัฐ เป็นต้น ทำให้มาตรการนี้สามารถดำเนินคดีทางแพ่งต่อทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำที่กฎหมายกำหนดให้เป็นความผิดได้ โดยให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีผลใช้บังคับหรือไม่ก็ตาม เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40 – 41/2546 ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ผู้คัดค้านที่ 3 ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าผู้คัดค้านที่ 3 ได้กระทำความผิดฐานฟอกเงินหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงินตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2542 อันเป็นมูลคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเป็นคดีนี้ ผู้คัดค้านที่ 3 ประกอบอาชีพโดยสุจริตมากว่า 30 ปี ประกอบการค้าขายสินค้าหลายอย่างรวมทั้งมีร้านทองอยู่ในประเทศเมียนมาร์ ธุรกิจโพยก๊วน และการค้าขายทองคำและเครื่องประดับ ทรัพย์สินที่ถูกยึดในคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ได้มาโดยสุจริตจากการประกอบธุรกิจดังกล่าวก่อนกระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ดังนั้น ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ที่ถูกยึดดังกล่าวจึงไม่อยู่ในข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 นั้น ผู้คัดค้านที่ 3 มีผู้คัดค้านที่ 3 เบิกความว่า ตั้งแต่ปี 2520 ผู้คัดค้านที่ 3 ประกอบธุรกิจซื้อถั่ว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ หอม กระเทียม ถั่วชนิดต่าง ๆ จากประเทศเมียนมาร์นำเข้ามาขายในประเทศไทย ขายเครื่องอุปโภคบริโภค เปิดร้านขายทองที่ประเทศเมียนมาร์ 2 ร้าน ทำธุรกิจโพยก๊วน คือ รับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เมื่อกลางปี 2542 นายสุพจน์ และผู้คัดค้านที่ 14 ซึ่งเป็นพ่อค้าแลกเงินที่รู้จักกันมาก่อนได้นำเงินสดมาให้ผู้คัดค้านที่ 3 ช่วยโอนเงินเข้าบัญชีลูกค้าของบุคคลทั้งสอง โดยทำเช่นนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2542 จนกระทั่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 ผู้คัดค้านที่ 3 ให้การต่อพนักงานสอบสวน มีการตรวจพบหลักฐานการโอนเงิน เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารรวมทั้งเครื่องประดับที่ถูกยึด ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้เป็นค่าตอบแทนจากการโอนเงินหรือฟอกเงินตามที่ผู้คัดค้านที่ 3 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา แต่เป็นเงินและทรัพย์สินที่ได้มาจากการประกอบธุรกิจดังกล่าวข้างต้น เห็นว่า ทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น ต้องเป็นทรัพย์ที่ผู้กระทำความผิดมูลฐานได้มาในขณะผู้กระทำความผิดมูลฐานเริ่มมีพฤติกรรมเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือหลังจากผู้กระทำความผิดมูลฐานได้กระทำความผิดมูลฐานแล้ว ผู้ร้องนำสืบว่า ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 ผู้คัดค้านที่ 3 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3, 5, 60 สำหรับบัญชีเงินฝากธนาคาร เมื่อพิจารณาสมุดเงินฝากธนาคาร สำเนาคำขอเปิดบัญชี ใบฝากเงิน และรายการเดินบัญชี ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 3 ขอเปิดบัญชีเงินฝากดังนี้ 1. บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางยี่ขัน บัญชีเลขที่ 137 – 0 – 46xxx – x ขอเปิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2536 2. บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางยี่ขัน บัญชีเลขที่ 137 – 0 – 58xxx – x ขอเปิดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2539 3. บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางยี่ขัน บัญชีเลขที่ 137 – 0 – 69xxx – x ขอเปิดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2543 4. บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางยี่ขัน บัญชีเลขที่ 137 – 2 – 26xxx – x ขอเปิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2542 5. บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานพระปิ่นเกล้า บัญชีเลขที่ 162 – 0 – 87xxx – x ขอเปิดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2542 6. บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาตลิ่งชัน บัญชีเลขที่ 211 – 0 – 45xxx – x ขอเปิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2542 7. บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาพุทธมณฑล บัญชีเลขที่ 247 – 0 – 19xxx – x ขอเปิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2543 8. บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาระนอง บัญชีเลขที่ 291 – 3 – 02xxx – x ขอเปิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2528 9. บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางพลัด บัญชีเลขที่ 175 – 1 – 01xxx – x ขอเปิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2542 10. บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางพลัด บัญชีเลขที่ 175 – 1 – 00xxx – x ขอเปิดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2542 11. บัญชีเงินฝากกองทุนเปิดรวงข้าว กองทุนรวมกสิกรไทย สาขาบางยี่ขัน บัญชีเลขที่ 0000047500xxxx ซื้อหน่วยลงทุนเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2543 12. บัญชีเงินฝากเพื่อรับโอนเงินค่าขายคืนและหรือเงินปันผล ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางยี่ขัน บัญชีเลขที่ 047 – 2 – 84xxx – x ขอเปิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2543 13. บัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางยี่ขัน บัญชีเลขที่ 047 – 2 – 84xxx – x ขอเปิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2543 แม้ว่าบัญชีเงินฝากธนาคารทั้ง 13 บัญชี ดังกล่าวจะมีบางบัญชีขอเปิดบัญชีก่อนที่ผู้คัดค้านที่ 3 จะกระทำความผิดฐานฟอกเงิน แต่ทั้ง 13 บัญชี มีการนำเงินเข้าฝากเป็นจำนวนมากในระยะเวลาระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 3 กระทำความผิดฐานฟอกเงิน และผู้คัดค้านที่ 3 ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ผู้คัดค้านที่ 3 จะนำเงินสดไปฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางยี่ขันและสาขาตลิ่งชันเป็นส่วนใหญ่ ผู้คัดค้านที่ 3 จะนำเงินให้พนักงานของธนาคารนับจำนวนที่ผู้คัดค้านที่ 3 นำไป แล้วโทรศัพท์ติดต่อกับนายสุพจน์ว่าจะให้โอนเงินจำนวนเท่าใด ไปให้ใคร แล้วผู้คัดค้านที่ 3 จะโอนให้ตามคำสั่ง เงินที่เหลือจากการโอนในวันนั้น ผู้คัดค้านที่ 3 จะนำเข้าบัญชีของผู้คัดค้านที่ 3 ไว้ที่ธนาคารที่ผู้คัดค้านที่ 3 ไปโอน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เงินในบัญชีเงินฝากทั้ง 13 บัญชี เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 3 กระทำความผิดฐานฟอกเงิน ส่วนบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยสะพานปลาระนอง บัญชีเลขที่ 527 – 0 – 01xxx – x, 527 – 2 – 00xxx – x และ 527 – 3 – 00xxx – x ทั้ง 3 บัญชี ขอเปิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2537 และบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาระนอง บัญชีเลขที่ 232 – 1 – 01xxx – x ขอเปิดเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2527 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ผู้คัดค้านที่ 3 กระทำความผิดฐานฟอกเงิน และในระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 3 กระทำความผิดฐานฟอกเงินปรากฏว่าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยสะพานปลาระนอง บัญชีเลขที่ 527 – 0 – 01xxx – x และ 527 – 2 – 00xxx – x กับบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาระนอง บัญชีเลขที่ 232 – 1 – 01xxx – x ไม่มีเงินหมุนเวียนในบัญชีทั้ง 3 บัญชี ดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยสะพานปลาระนอง บัญชีเลขที่ 527 – 3 – 00xxx – x ปรากฏว่ามีการนำเงินเข้าฝาก 13 ครั้ง รวมเป็นเงิน 147,050 บาท และมีการถอนเงินเพียงครั้งเดียวเป็นเงิน 65,000 บาท ซึ่งเป็นการฝากและถอนเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น มิได้มีความผิดปกติแต่อย่างใด เงินในบัญชีเงินฝากทั้ง 4 บัญชี ดังกล่าวจึงไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งต้องคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ส่วนทรัพย์สินประเภทเครื่องประดับ 3 รายการ คือ แหวน 42 วง สร้อยคอสีทองและสีเงิน 8 เส้น และสร้อยคอ 9 เส้น นั้น ผู้คัดค้านที่ 3 มีนายอภิชิต เจ้าของร้านเพชรเจริญรัตน์และนางปราณี เจ้าของร้านเพชรเบ๊งี่จั๊วมาเบิกความประกอบบัญชีรายการทรัพย์สินที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ภาพถ่าย และบัญชีทรัพย์ที่เก็บรักษาว่า ตามบัญชีทรัพย์ที่เก็บรักษา รายการที่ 3 ลำดับที่ 3 ที่ 9 ที่ 16 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 34 ที่ 36 และที่ 37 ผู้คัดค้านที่ 3 นำพลอยและเพชรเก่ามาให้ร้านเพชรเจริญรัตน์ทำตัวเรือนใหม่ และบางรายการได้สั่งทำและซื้อจากสินค้าที่ตั้งโชว์หน้าร้านระหว่างปี 2537 ถึงปี 2539 และตามบัญชีทรัพย์ที่เก็บรักษา รายการที่ 3 ลำดับที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 21 ที่ 27 ที่ 28 ที่ 38 ที่ 39 และที่ 40 เป็นแหวนที่ผู้คัดค้านที่ 3 ซื้อไปจากร้านเพชรเบ๊งี่จั๊วระหว่างปี 2536 ถึงปี 2540 เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงิน แต่ผู้คัดค้านที่ 3 มิได้เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวโดยทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางยี่ขัน บัญชีเลขที่ 137 – 0 – 46xxx – x ขอเปิดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2536 และมีเงินหมุนเวียนเป็นจำนวนมากก่อนที่ผู้คัดค้านที่ 3 จะกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามรายการเดินบัญชี และผู้คัดค้านที่ 3 มีหลักฐานเกี่ยวกับการซื้อทองเพื่อนำไปขายตั้งแต่ปี 2538 ถึงปี 2541 มาแสดง เมื่อผู้คัดค้านที่ 3 มีเจ้าของร้านเพชรมาเบิกความรับรอง จึงน่าเชื่อว่าแหวนจำนวน 17 รายการ ดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 3 ได้มาก่อนที่จะกระทำความผิดฐานฟอกเงิน จึงไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งต้องคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 เช่นกัน ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 3 อ้างว่า ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ที่เก็บรักษา รายการที่ 3 ลำดับที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 15 ที่ 17 ที่ 22 ถึงที่ 25 ที่ 29 ถึงที่ 33 รายการที่ 6 สร้อยทอง 8 เส้น และรายการที่ 16 สร้อยคอ 9 เส้น ผู้คัดค้านที่ 3 ซื้อมาจากจังหวัดระนองระหว่างปี 2535 ถึงปี 2540 รายการที่ 3 ลำดับที่ 26 ผู้คัดค้านที่ 3 ซื้อมาจากประเทศสิงคโปร์เมื่อปี 2538 นั้น ผู้คัดค้านที่ 3 เบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน โดยเฉพาะรายการที่ 3 ลำดับที่ 29 ถึงที่ 31 นางปราณีกลับเบิกความว่าซื้อมาจากร้านเพชรเบ๊งี่จั๊ว ซึ่งขัดแย้งกับคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 3 ส่วนรายการที่ 3 ลำดับที่ 5 ที่ 6 และที่ 35 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 3 อ้างว่าซื้อมาจากร้านเพชรเบ๊งี่จั๊วนั้น นางปราณีก็ไม่เบิกความรับรองแต่อย่างใด ส่วนรายการที่ 3 ลำดับที่ 18 ที่ 41 และที่ 42 ผู้คัดค้านที่ 3 มิได้นำสืบว่าได้มาเมื่อใด ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นผู้คัดค้านที่ 3 ได้มาระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 3 กระทำความผิดฐานฟอกเงิน ดังนั้น เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร แหวน และสร้อยคอที่ผู้คัดค้านที่ 3 ได้มาระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 3 กระทำความผิดฐานฟอกเงินดังกล่าวข้างต้นนั้น จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสอง กล่าวคือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านที่ 3 จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ แต่ในทางไต่สวน ผู้คัดค้านที่ 3 คงมีแต่หลักฐานการประกอบธุรกิจก่อนที่จะกระทำความผิดฐานฟอกเงิน เช่น หลักฐานเกี่ยวกับการซื้อทองเพื่อนำไปขายตั้งแต่ปี 2538 ถึงปี 2541 นอกจากนี้นายอภิชิตและนางปราณีต่างเบิกความว่า หลังจากปี 2540 ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ได้ซื้อสินค้าจากร้านเพชรเจริญรัตน์และร้านเพชรเบ๊งี่จั๊วอีกเลย โดยเฉพาะนายอภิชิตยังเบิกความอีกว่า หลังจากปี 2539 ผู้คัดค้านที่ 3 บอกว่าธุรกิจของผู้คัดค้านที่ 3 เริ่มมีปัญหา จึงไม่ได้มาสั่งทำจิวเวอร์รี่อีก พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 3 ที่นำสืบมาไม่สามารถพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีจึงต้องรับฟังว่า บัญชีเงินฝากธนาคาร 13 บัญชี แหวนจำนวน 25 วง สร้อยสีเงินและสีทอง 8 เส้น และสร้อยคอ 9 เส้น เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน
สำหรับผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 6 พยานหลักฐานของผู้ร้องมิได้ยืนยันว่าผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 6 เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานแต่ประการใด กรณีจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 (2) คือผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 6 ต้องแสดงให้เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 6 ได้รับโอนเงินจากผู้คัดค้านที่ 3 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน โดยผู้คัดค้านที่ 4 ฎีกาว่า ไม่มีพยานผู้ร้องปากใดเบิกความยืนยันว่าเงินในบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสำเพ็ง เลขที่ 112 – 0 – 26xxx – x ของผู้คัดค้านที่ 4 เป็นเงินที่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ายาเสพติดหรือฟอกเงินโอนเข้าไปฝากไว้แต่อย่างใด เงินดังกล่าวเป็นเงินของผู้คัดค้านที่ 4 ที่จะต้องโอนให้แก่แรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ซึ่งผู้คัดค้านที่ 4 รับแลกเปลี่ยนไว้ เงินฝากดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดแต่อย่างใด ส่วนผู้คัดค้านที่ 6 ฎีกาว่า ผู้คัดค้านที่ 6 มีการติดต่อค้าขายกับบริษัทเจแอนด์เจ จำกัด และบริษัทฟู้ดเฮาส์โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นคู่ค้าระหว่างประเทศ จึงต้องมีการชำระค่าสินค้าระหว่างกัน การโอนเงินระหว่างบริษัทคู่ค้าในประเทศเมียนมาร์มายังผู้คัดค้านที่ 6 จะไม่มีการใช้เลตเตอร์ออฟเครดิต เนื่องจากมีความไม่สะดวก แต่จะมีการชำระเงินผ่านธุรกิจร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราในประเทศเมียนมาร์หรือโพยก๊วน ซึ่งผู้คัดค้านที่ 6 ไม่ทราบว่าทางโพยก๊วนจะให้ผู้ใดเป็นผู้โอนเงินให้ผู้คัดค้านที่ 6 ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คัดค้านที่ 5 กับผู้คัดค้านที่ 6 เป็นการรู้จักในเชิงคู่ค้าเกี่ยวกับธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตราหรือโพยก๊วนเท่านั้น มิได้เกี่ยวกับการฟอกเงินหรือคดียาเสพติดแต่อย่างใด ผู้ร้องมีนายชาญชัย ผู้อำนวยการสืบสวน 1 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมาเป็นพยานเบิกความว่า พยานได้รับมอบหมายจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินคดีนี้ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปที่บ้านของผู้คัดค้านที่ 3 เพื่อร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบ้านของผู้คัดค้านที่ 3 ผลการตรวจค้นพบเงินสดและทรัพย์สินอื่นอีกหลายรายการจึงได้ยึดไว้ หลังจากนั้นนำผู้คัดค้านที่ 3 ไปสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ผู้คัดค้านที่ 3 ให้การว่า ตนมีหน้าที่ในการเก็บรวบรวมเงินจากบุคคลภายนอกซึ่งนำมามอบให้ จากนั้นจะแบ่งเงินแล้วโอนให้แก่บุคคลต่าง ๆ ตามคำสั่งการของนายสุพจน์ เมื่อดำเนินการแล้วก็จะต้องรายงานผลการดำเนินการให้นายสุพจน์ทราบ สำหรับทรัพย์สินหมวดที่เป็นบัญชีเงินฝากพบว่ามีการฝากเงินในนามผู้อื่นหลายรายซึ่งรวมทั้งผู้คัดค้านในคดีนี้บางราย มีการนำเงินเข้าฝากจากสาขาบางยี่ขัน ซึ่งเป็นสาขาเดียวกับที่ผู้คัดค้านที่ 3 เปิดบัญชีไว้ ผู้ร้องยังมีนางเจียมรัตน์ มาเป็นพยานเบิกความว่า พยานทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่รักษาเงินอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางยี่ขัน มีหน้าที่ดูแลลูกค้ารายใหญ่เบิกถอนเงิน ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ผู้คัดค้านที่ 3 นำเงินมาฝากที่ธนาคารเป็นจำนวนมาก พยานเป็นผู้บริการให้กับผู้คัดค้านที่ 3 และผู้คัดค้านที่ 3 ได้โอนเงินฝากให้กับบุคคลอื่นทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดครั้งละเป็นจำนวนมาก การโอนเงินให้กับบุคคลอื่นต้องเขียนใบโอนเงิน หลังจากที่ผู้คัดค้านที่ 3 ถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมาสอบปากคำพยาน พยานได้ถ่ายสำเนาใบโอนเงินและสมุดบันทึกของพยานที่พยานบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับเงินที่ผู้คัดค้านที่ 3 นำไปโอนให้กับบุคคลอื่นมอบให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เห็นว่า นายชาญชัยและนางเจียมรัตน์เบิกความเชื่อมโยงกันถึงการตรวจสอบบัญชีธนาคารที่ผู้คัดค้านที่ 3 โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 นอกจากนี้ตามสำเนาบันทึกเอกสาร ซึ่งผู้คัดค้านที่ 3 บันทึกรายชื่อและบัญชีที่นายสุพจน์สั่งให้ผู้คัดค้านที่ 3 โอนเงินเข้าบัญชีของบุคคลดังกล่าว ปรากฏว่ามีชื่อและหมายเลขบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 อยู่ในสำเนาบันทึกดังกล่าวด้วย ประกอบกับผู้คัดค้านที่ 3 เบิกความตอบทนายผู้คัดค้านที่ 4 ถาม โดยยืนยันว่าผู้คัดค้านที่ 3 ได้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสำเพ็ง เลขที่ 112 – 0 – 26xxx – x ของผู้คัดค้านที่ 4 หลายครั้ง และเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 ถาม โดยยืนยันว่ารู้จักกับผู้คัดค้านที่ 5 และผู้คัดค้านที่ 3 โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 101 – 4 – 05xxx – x ของผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 6 มิได้นำสืบหักล้างคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 3 ดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 3 โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 ดังกล่าว ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 4 นำสืบว่า ผู้คัดค้านที่ 4 ประกอบธุรกิจค้าขายเงินตราที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อคนงานไทยได้เงินเดือนแล้วจะนำเงินมาฝากโอนที่สำนักงานของผู้คัดค้านที่ 4 แล้วผู้คัดค้านที่ 4 จะโอนเงินผ่านธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ และธนาคารโอซีบีซี บางครั้งจะโอนผ่านผู้มีอาชีพค้าเงินด้วยกันเพื่อให้มีการโอนเงินต่ออีกครั้งหนึ่ง โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 4 แล้วผู้คัดค้านที่ 4 จะโอนเงินไปเข้าบัญชีที่คนงานไทยระบุไว้ทั่วประเทศไทย จากทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 4 ดังกล่าว แสดงว่าเงินในบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 4 ต้องโอนมาจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ เห็นว่า ตามใบฝากเงินและรายการเดินบัญชี ปรากฏว่า ผู้คัดค้านที่ 3 นำเงินสดเข้าฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางยี่ขัน เพื่อโอนเข้าบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสำเพ็ง เลขที่ 112 – 0 – 26xxx – x ของผู้คัดค้านที่ 4 ระหว่างวันที่ 12 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 จำนวน 11 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 16,888,500 บาท หาใช่โอนมาจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ตามที่ผู้คัดค้านที่ 4 นำสืบดังกล่าว และมิได้นำสืบให้เห็นว่าเหตุใดผู้คัดค้านที่ 3 จึงโอนเงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 4 พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 4 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า ผู้คัดค้านที่ 4 ได้รับโอนเงินจากผู้คัดค้านที่ 3 มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 6 นำสืบว่า ระหว่างปี 2542 ถึง 2544 ผู้คัดค้านที่ 6 ส่งสินค้าไปประเทศเมียนมาร์ 14 ครั้ง เงินในบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 101 – 4 – 05xxx – x ของผู้คัดค้านที่ 5 เป็นเงินที่ได้มาโดยสุจริตจากการทำธุรกิจดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 5 และนายพัฒน์ กรรมการของผู้คัดค้านที่ 6 ต่างไม่รู้จักกับผู้คัดค้านที่ 3 นั้น เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 3 นำเงินสดเข้าฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางยี่ขัน เพื่อโอนเข้าบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 101 – 4 – 05xxx – x ของผู้คัดค้านที่ 5 ระหว่างวันที่ 4 เมษายน 2543 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2544 จำนวน 9 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,000,000 บาท โดยการโอนเงินในวันที่ 4, 7 และ 10 เมษายน 2543 มีรายการตรงกับสำเนาบันทึกเอกสาร ที่ผู้คัดค้านที่ 3 บันทึกรายชื่อและบัญชีที่นายสุพจน์สั่งให้ผู้คัดค้านที่ 3 โอนเงินเข้าบัญชี โดยผู้คัดค้านที่ 6 ไม่นำสืบว่าเหตุใดผู้คัดค้านที่ 3 จึงโอนเงินเข้าบัญชีของผู้คัดค้านที่ 5 ดังกล่าว ทั้งที่ผู้คัดค้านที่ 6 นำสืบว่าไม่รู้จักกับผู้คัดค้านที่ 3 แต่กลับนำสืบว่า เงินคงเหลือในบัญชีที่ถูกยึดไว้เป็นเงินที่ได้จากการขายสินค้า ซึ่งมิได้หักล้างทางนำสืบของผู้ร้องแต่อย่างใด พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 6 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า ผู้คัดค้านที่ 6 ได้รับโอนเงินจากผู้คัดค้านที่ 3 มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน กรณีจึงรับฟังได้ว่าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสำเพ็ง เลขที่ 112 – 0 – 26xxx – x ของผู้คัดค้านที่ 4 และบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 101 – 4 – 05xxx – x ของผู้คัดค้านที่ 5 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้บัญชีเงินฝากทั้งสองบัญชีตกเป็นของแผ่นดิน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยสะพานปลาระนอง บัญชีเลขที่ 527 – 0 – 01xxx – x, 527 – 2 – 00xxx – x และ 527 – 3 – 00xxx – x กับบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาระนอง บัญชีเลขที่ 232 – 1 – 01xxx – x แหวน 17 วง ตามบัญชีทรัพย์ที่เก็บรักษา รายการที่ 3 ลำดับที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 9 ที่ 16 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 27 ที่ 28 ที่ 34 ที่ 36 ที่ 37 ที่ 38 ที่ 39 และที่ 40 แก่ผู้คัดค้านที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ