คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4298/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ลงชื่อในช่องผู้ค้ำประกันไว้ท้ายสัญญาและเขียนกำกับไว้ในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนว่าใช้สำหรับประกันถมดินเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ โดยไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่ค้ำประกันไว้ อันเป็นการค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัด จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดรวมถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้นั้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคหนึ่ง และมาตรา 683 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องคืนเงินมัดจำและค่าเสียหายซึ่งโจทก์ต้องเสียไปจากการว่าจ้างผู้อื่นถมดินในราคาที่สูงขึ้น รวมเป็นเงิน 1,379,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามมาตรา 391 วรรคสอง และวรรคท้าย แต่ตามสัญญาว่าจ้างเหมางานถมดินและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าจำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ความรับผิดของจำเลยที่ 3 จึงมีเฉพาะกรณีหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ต้องชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,621,407 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน จำนวน 1,379,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 พฤษภาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 3,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 241,707 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 พฤษภาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถมดินในที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 7316 ในราคา 2,599,000 บาท แบ่งจ่ายเงินเป็น 3 งวด งวดที่ 1 จ่ายมัดจำในวันทำสัญญาร้อยละ 30 เป็นเงิน 779,700 บาท งวดที่ 2 จ่ายหลังจากถมดินชั้นแรกได้สูง 0.60 เมตร เป็นเงิน 779,700 บาท งวดที่ 3 จ่ายหลังจากถมดินตามสัญญาเรียบร้อยตามแบบสูง 164.28 เซนติเมตร ในส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นเงิน 1,039,600 บาท โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาไม่ถมดินให้แล้วเสร็จ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่คืนเงินมัดจำ 779,700 บาท โจทก์ว่าจ้างผู้รับจ้างรายอื่นมาถมดินแทนโดยมีค่าจ้างสูงขึ้นกว่าสัญญาเดิม 600,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า สัญญาว่าจ้างงานถมดินซึ่งจำเลยที่ 3 ค้ำประกันไม่ได้ระบุวงเงินค้ำประกันไว้ จึงเป็นการค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัด จำเลยที่ 3 จึงต้องชำระหนี้ทั้งหมดรวมทั้งดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ นั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาสัญญาว่าจ้างเหมางานถมดิน ซึ่งจำเลยที่ 3 ลงชื่อในช่องผู้ค้ำประกันไว้ท้ายสัญญา ประกอบข้อความที่จำเลยที่ 3 เขียนกำกับไว้ในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนว่าใช้สำหรับประกันถมดินที่ดอยสะเก็ดเชียงใหม่เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ โดยไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่ค้ำประกันไว้ อันเป็นการค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัด จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดรวมถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้นั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคหนึ่ง และมาตรา 683 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องคืนเงินมัดจำ 779,700 บาท และใช้ค่าเสียหาย 600,000 บาท ซึ่งโจทก์ต้องเสียไปจากการว่าจ้างผู้อื่นถมดินในราคาที่สูงขึ้น รวมเป็นเงิน 1,379,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามมาตรา 391 วรรคสอง และวรรคท้าย จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมนั้น เห็นว่า ตามสัญญาว่าจ้างเหมางานถมดินและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าจำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ความรับผิดของจำเลยที่ 3 จึงมีเฉพาะกรณีหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ต้องชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภค ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง โจทก์เป็นผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเพียงให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 1,379,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 3,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับยกเว้น ให้จำเลยทั้งสามนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share