แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทรกับจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินเพื่อชำระค่าที่ดินพร้อมบ้านให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ผิดนัด 3 งวดติดต่อกัน จำเลยที่ 2 จึงขอให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดแทน ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันข้อ 2 กำหนดว่า “หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่ธนาคารไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ โดยมีจำนวนหนี้ค้างชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นสะสมรวมกันตั้งแต่ 3 งวดขึ้นไป … ให้ถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญากู้เงิน และเป็นผลให้หนี้ตามสัญญากู้ถึงกำหนดชำระทันที และผู้ค้ำประกันยินยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน.” และตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่มีข้อตกลงว่าก่อนจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 แทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนแล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทร ข้อ 9 ให้ถือว่าโจทก์ผู้ซื้อผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน
การใช้สิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนไม่อยู่ในบังคับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2544 ข้อ 3 (2) เพราะประกาศดังกล่าวเป็นการควบคุมเฉพาะธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา มิได้หมายรวมถึงธุรกิจการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ด้วย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทรในการกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในการชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 จึงมิใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการบริโภค กรณีจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ดังกล่าว ทั้งเมื่อโจทก์ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เมื่อใด จำเลยที่ 2 เจ้าหนี้จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่จำเลยที่ 2 เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างชำระแทนโจทก์ผู้กู้ยืมจึงชอบแล้ว กรณีไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ต้องแก้ไขการผิดสัญญาก่อน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทได้ตามฟ้องแย้ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองยกเลิกหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ และให้โจทก์มีสิทธิในบ้านและที่ดินตามฟ้องในฐานะผู้ซื้อและผู้อยู่อาศัยปกติตามสัญญาเดิม หรือหากยกเลิกไม่ได้ ให้จัดทำสัญญาฉบับใหม่ให้แก่โจทก์โดยมียอดหนี้ค่าบ้านคงเหลือที่หักจากค่าบ้านที่โจทก์ชำระไปแล้วออกทั้งหมด และให้จำเลยที่ 2 รับชำระหนี้ที่ค้างชำระจากโจทก์ตามปกติต่อไปโดยสัญญาเดิม
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินและบ้านเลขที่ 135/621 ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง กับให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย 8,500 บาท และชำระต่อไปอีกวันละ 100 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะส่งมอบที่ดินและบ้านให้แก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ยังเป็นผู้มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทรที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 และตามสัญญากู้ยืมเงินที่ทำไว้กับจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2 รับชำระหนี้โจทก์จากยอดหนี้ที่ค้างชำระ ณ วันที่ 15 มีนาคม 2553 ตามเดิมทั้งสองสัญญาดังกล่าว กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่โจทก์จำนวน 3,000 บาท และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้งให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 7,600 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งรับฟังเป็นยุติได้ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ.2537 ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการดูแลจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชน จัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทรให้ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทรกับจำเลยที่ 1 โดยตกลงจะซื้อที่ดินเนื้อที่ประมาณ 21 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 135/621 ในโครงการบ้านเอื้ออาทรขอนแก่น 1 ในราคา 390,000 บาท และโจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 386,400 บาท โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินพร้อมบ้านให้โจทก์ครอบครองอยู่อาศัย โจทก์ผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ครบถ้วนและตรงตามสัญญา แต่จำเลยที่ 2 ยังคงรับชำระเรื่อยมา โจทก์ชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 28 พฤษภาคม 2553 โดยการนำเงินเข้าบัญชี แต่จำเลยที่ 2 ไม่รับชำระเนื่องจากจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนและจำเลยที่ 1 ชำระแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายแก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทรแก่โจทก์โดยชอบหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้ครบถ้วนในแต่ละงวด และค้างชำระหนี้เงินกู้เกิน 3 งวด จำเลยที่ 2 จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทน ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน และศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภคนำบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 35 ทวิ และมาตรา 35 ตรี และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2544 ข้อ 3 (2) มาวินิจฉัยไม่ถูกต้อง นั้น โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความรับว่า แม้โจทก์จะไม่ได้ผ่อนชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 ตรงตามกำหนดทุกงวด แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของนางสาวนภาลัย พนักงานของจำเลยที่ 1 และนางพิมพ์ภัทรา ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อของจำเลยที่ 2 ว่า หลังจากโจทก์กู้เงินจากจำเลยที่ 2 โจทก์ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรกตลอดมา ต่อมาโจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่สามงวดขึ้นไป จำเลยที่ 2 จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนและรับซื้อคืนลูกหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2553 จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 383,872.93 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 แทนโจทก์ ทั้งได้ความจากนางพิมพ์ภัทราเบิกความว่า หลังจากโจทก์ได้รับเงินกู้จากจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ผิดนัดหลายงวดติดต่อกัน แต่จำเลยที่ 2 ยังไม่บอกเลิกสัญญาเพราะต้องการให้โอกาสโจทก์ชำระหนี้ต่อไป เมื่อพิเคราะห์บัญชีลูกหนี้รายตัวและหนังสือแจ้งเตือนให้ชำระหนี้เงินกู้ จะเห็นได้ว่าโจทก์ผิดนัดชำระหนี้เป็นช่วง ๆ มีจำนวนหนี้ค้างชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยสะสมรวม 1 งวด และ 2 งวด บางครั้งรวมกันถึง 3 งวด ติดต่อกัน จำเลยที่ 2 จึงขอให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่โจทก์ค้างชำระทั้งหมด ซึ่งตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ 2 กำหนดว่า “หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่ธนาคารไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ โดยมีจำนวนหนี้ค้างชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นสะสมรวมกันตั้งแต่ 3 งวดขึ้นไป … ให้ถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญากู้เงิน และเป็นผลให้หนี้ตามสัญญากู้ถึงกำหนดชำระทันที และผู้ค้ำประกันยินยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินของลูกหนี้ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากธนาคาร..” ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่มีข้อตกลงว่าเมื่อจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 แทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบก่อนแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบก่อนที่จะชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทร ให้ถือว่าโจทก์ผู้ซื้อผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ได้ตามสัญญาดังกล่าว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภคนำบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 35 ทวิ และมาตรา 35 ตรี และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2544 ข้อ 3 (2) ที่กำหนดว่าก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้ และควรกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาก่อนบอกเลิกสัญญามาใช้บังคับกับคดีนี้ นั้น เห็นว่า แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทร ข้อ 9 จะกำหนดว่าในระหว่างที่ผู้ขายยังไม่โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินตามสัญญานี้ให้แก่ผู้ซื้อ หากผู้ซื้อผิดสัญญากู้กับธนาคารที่ผู้ขายเป็นผู้ค้ำประกันทำให้ผู้ขายจะต้องชำระหนี้ให้แก่ธนาคารตามสัญญาค้ำประกันแทนผู้ซื้อแล้วให้ถือว่าผู้ซื้อผิดสัญญาและผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อนซึ่งขัดกับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ข้อ 3 (2) ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ผิดสัญญากู้ จำเลยที่ 2 ไม่ได้บอกเลิกสัญญากู้ยืมแก่โจทก์ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ข้อ 3 (2) การที่โจทก์ผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ โดยมีจำนวนหนี้ค้างชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยสะสมรวมกันตั้งแต่ 3 งวด ขึ้นไป จำเลยที่ 2 มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระหนี้แทนได้ตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ 2 และกรณีถือว่าโจทก์ผิดสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน กรณีไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ข้อ 3 (2) เพราะประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ดังกล่าว เป็นการควบคุมเฉพาะธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา มิได้หมายรวมถึงธุรกิจการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ด้วยแต่อย่างใด จึงไม่อาจนำพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 35 ทวิ และมาตรา 35 ตรี และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2544 ข้อ 3 (2) มาใช้บังคับในคดีนี้ได้ ที่จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายแก่โจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้เงินกู้โดยไม่ได้กำหนดเวลาให้โจทก์แก้ไขการผิดสัญญาก่อนชอบหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ 2 ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนได้ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้กู้ยืมจึงไม่จำเป็นต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดก่อน ตามประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2544 ข้อ 3 (2) นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 ให้โจทก์กู้ยืมเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2544 เมื่อโจทก์ผิดสัญญา จำเลยที่ 2 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โดยต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังโจทก์ก่อน และกำหนดระยะเวลาให้โจทก์แก้ไขการผิดสัญญาเสียก่อนตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ข้อ 3 (2) แต่จำเลยที่ 2 มิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากู้ยืม หากแต่เรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันเป็นผู้ชำระหนี้แทนโจทก์ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทรในการกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในการชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 จึงมิใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการบริโภค กรณีจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ส่วนการค้ำประกัน ในกรณีสัญญากู้ยืมเงินกำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดหาผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงิน ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ หน้า 225 ถึง 227 ในหนังสือสคบ.กับการคุ้มครองผู้บริโภค ข้อ 3 (7) เพียงกำหนดให้มีข้อความ “คำเตือนสำหรับผู้ค้ำประกัน” ไว้หน้าสัญญาค้ำประกัน ด้วยตัวอักษรตัวหนามีขนาดตามที่ระบุในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาดังกล่าว และกำหนดข้อสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดของผู้ค้ำประกันในสัญญาค้ำประกันมีสาระสำคัญตรงกับคำเตือนดังกล่าวเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อโจทก์ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เมื่อใด จำเลยที่ 2 เจ้าหนี้จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 เมื่อไม่ปรากฏว่าประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ได้ระบุเงื่อนไขการให้กู้ยืมเงินเพื่อการบริโภคในกรณีที่ว่า ผู้ให้กู้ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนผู้กู้ หรือต้องได้รับความยินยอมจากผู้กู้ก่อนอันต่างไปจากสัญญาค้ำประกันทั่วไป หากแต่จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันกลับตกลงกับจำเลยที่ 2 ผู้ให้กู้ตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ 2 ว่า “หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่ธนาคารไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ โดยมีจำนวนหนี้ค้างชำระหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นสะสมรวมกันตั้งแต่ 3 งวด ขึ้นไป ..ให้ถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญากู้เงิน และเป็นผลให้หนี้ตามสัญญากู้เงินถึงกำหนดชำระทันที และผู้ค้ำประกันยินยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินของลูกหนี้… ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากธนาคาร..”และข้อ 4 ระบุว่า “ผู้ค้ำประกันยอมสละสิทธิ…เรียกร้องให้ธนาคาร…บังคับเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือตัวลูกหนี้ก่อน…” ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญากู้ยืม จำเลยที่ 2 จะใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้ที่ค้างชำระคืนตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการบริโภค ข้อ 8 แต่ต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ข้อ 3 (2) หรือจะใช้สิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมแทนโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ไม่จำต้องเรียกร้องเอาจากโจทก์ก่อน ตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ 2 และข้อ 4 ก็ได้ โดยไม่จำต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาข้อ 3 (2) ที่จำเลยที่ 2 เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ที่ค้างชำระแทนโจทก์จึงชอบแล้ว กรณีไม่จำต้องมีหนังสือกำหนดเวลาให้โจทก์แก้ไขการผิดสัญญาก่อน ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นเช่นกัน ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินและบ้านพิพาทได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์วันละ 100 บาท นับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 จนถึงวันฟ้องแย้งเป็นเวลา 85 วัน เป็นเงิน 8,500 บาท และวันละ 100 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะส่งมอบที่ดินและบ้านให้จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันแล้ว การที่โจทก์ไม่ยอมออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท ย่อมเป็นการอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทโดยละเมิดสิทธิของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ได้ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทร ข้อ 14 กำหนดว่าเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายสิ้นสุดลง ผู้ซื้อต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดลง หากไม่ส่งมอบคืนภายในกำหนดผู้ซื้อต้องชำระค่าปรับในอัตราวันละ 100 บาท แต่เมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ.2537 จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์จัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนโดยจัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทรให้ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และโจทก์ผ่อนชำระเงินกู้เดือนละไม่น้อยกว่า 2,500 บาท ประกอบกับเมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยที่ 1 ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า เบี้ยปรับตามสัญญาสูงเกินส่วน เห็นสมควรลดลงเหลือวันละ 50 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะส่งมอบที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายและสัญญากู้ยืมเงินยังมีผลใช้บังคับอยู่ จำเลยที่ 1 ไม่อาจฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ได้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภค ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินและบ้านเลขที่ 135/621 ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง กับให้โจทก์ชำระค่าเสียหายวันละ 50 บาท นับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะส่งมอบที่ดินและบ้านดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งนอกจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภคสั่งคืนให้เป็นพับ