แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สำนักงานกองทุนเงินทดแทนขึ้นอยู่ในกรมแรงงาน การปฏิบัติงานของสำนักงานนี้ดำเนินการโดยคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ซึ่งมีอธิบดีกรมแรงงานเป็นประธาน เมื่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนปฏิบัติงานเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ กรมแรงงานต้องรับผิด ในการกระทำของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนนั้นด้วยโจทก์จึงชอบ ที่จะฟ้องกรมแรงงานได้ ไม่ต้องฟ้องกรรมการทุกคน
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและให้กรมแรงงานจำเลยจ่ายเงินทดแทนและค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทนอ้างว่าโจทก์เดินไปเข้าห้องส้วมตามกระดานที่นายจ้างพาดไว้ไม่เรียบร้อย โจทก์หกล้ม เป็นอัมพาต แต่ทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์เป็นโรคความดันโลหิตสูง อยู่แล้ว มาทำงานล่วงเวลาหลายวันทำให้เกิดความเคร่งเครียดโรคความดันโลหิตสูงทวีความรุนแรงขึ้น ในที่สุดล้มป่วยลงขณะ ทำงานให้นายจ้างและเป็นอัมพาตดังนี้ จะวินิจฉัยว่าโจทก์ ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานมิได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ ปรากฏในคำฟ้องต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน มาตรา 52 ไม่เข้าข้อยกเว้นในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อ ความเป็นธรรมจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ย. จำเลยเป็นกรมในรัฐบาลมีสำนักงานกองทุนเงินทดแทนเป็นหน่วยงานของจำเลย เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2523 โจทก์ทำงานล่วงเวลาให้บริษัทนายจ้างตามปกติ เวลาประมาณ 20 นาฬิกา โจทก์เดินไปเข้าห้องส้วมโดยเดินไปตามกระดานไม้ที่นายจ้างพาดไว้ กระดานไม้ได้พลิกคว่ำ โจทก์หกล้ม ศรีษะและแขนด้านซ้ายกระแทกกับพื้นห้องส้วมอย่างแรงทำให้โจทก์มีอาการปากเบี้ยว คอแข็ง ขยับตัวไม่ได้ ในที่สุดโจทก์เป็นอัมพาตซีกซ้าย เสียสมรรถภาพในการทำงานโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถจะรักษาให้หายเป็นปกติได้ ถือว่าโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานหรือเนื่องจากสภาพของงาน หรือสภาพของโรงงานไม่ปลอดภัย โจทก์ได้ยื่นคำร้องเรียกเงินค่าทดแทน จากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร แต่ได้รับแจ้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแจ้งให้โจทก์ทราบว่า โจทก์มิได้เจ็บป่วยด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบ ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนและค่ารักษาพยาบาลจากเงินกองทุนเงินทดแทนให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องกรมแรงงานจำเลย เพราะคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่โจทก์ขอให้เพิกถอนเป็นของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ไม่เกี่ยวกับกรมแรงงาน อาการอัมพาตเกิดจากโรคประจำตัวของโจทก์ และโรคดังกล่าวมิใช่โรคที่เกิดจากการทำงาน จึงไม่จ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ อัตราการจ่ายเงินทดแทนที่โจทก์คิดมานั้นไม่ถูกต้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง เชื่อว่าคืนเกิดเหตุระหว่างทำงานล่วงเวลา โจทก์ไปเข้าห้องน้ำ เมื่อกลับมานั่งทำงานโดยพับเสื้อได้อีก 1 ตัว ก็เกิดอาการปากเบี้ยวและกลายเป็นอัมพาต พอถือได้ว่าโจทก์ประสบอันตรายโดยได้รับอันตรายแก่กายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง แม้โจทก์จะอ้างมาในฟ้องว่าโจทก์เป็นอัมพาตเพราะหกล้มหน้าห้องส้วม แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นอัมพาตเพราะการทำงานให้นายจ้าง ไม่ใช่หกล้มหน้าห้องส้วม ศาลก็ยังสามารถพิพากษาให้โจทก์ได้รับเงินทดแทนโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 52 แต่โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนและค่ารักษาพยาบาลเท่าใด ชอบที่จะให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนคิดคำนวณให้ ศาลไม่อาจสั่งให้ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนคำขอข้ออื่นของโจทก์ให้ยก
โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 3 ให้มีกองทุนเงินทดแทนในกรมแรงงาน ให้มีสำนักงานกองทุนเงินทดแทนในกรมแรงงานให้มีคณะกรรมการเรียกว่า คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ประกอบด้วยอธิบดีกรมแรงงานเป็นประธาน และกรรมการอื่นอีกมีจำนวนไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินแปดคน คดีนี้โจทก์ฟ้องกรมแรงงานซึ่งเป็นนิติบุคคล สำนักงานกองทุนเงินทดแทนขึ้นอยู่ในกรมแรงงาน เมื่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนปฏิบัติงานอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ กรมแรงงานต้องรับผิดในการกระทำของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนนั้นด้วย โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องกรมแรงงานได้ หาจำต้องฟ้องกรรมการกองทุนเงินทดแทนทุกคนไม่
โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่า ขณะที่โจทก์ทำงานล่วงเวลา โจทก์ไปส้วมเดินไปตามไม้กระดานที่โจทก์วางไว้ กระดานพลิกคว่ำ โจทก์ล้มลง ศรีษะและแขนด้านซ้ายกระแทกกับพื้นห้องส้วมอย่างแรง ทำให้โจทก์มีอาการปากเบี้ยว คอแข็ง ขยับตัวไม่ได้ ในที่สุดโจทก์เป็นอัมพาตและในคำฟ้องของโจทก์ได้กล่าวเท้าความว่า ตามกฎหมาย บริษัทนายจ้างโจทก์จะต้องมีห้องส้วมไม่ต่ำกว่าเจ็ดส้วมและต้องสะอาดและถูกต้องตามสุขลักษณะ แต่ความจริงมีเพียงสองห้อง บริเวณพื้นทางเดินมีน้ำขังอยู่และลื่นใช้เดินไม่ได้ นายจ้างจึงนำขอนไม้มาวางและใช้กระดานพาดไว้ให้ลูกจ้างเดิน โจทก์เดินตามกระดานไม้ที่พาดไว้จึงหกล้ม เป็นการเท้าความให้เห็นว่า การที่โจทก์หกล้มและเป็นอัมพาตนั้นเกิดจากความผิดของนายจ้าง แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ไม่ได้หกล้มขณะไปเข้าห้องน้ำ โจทก์ไปห้องน้ำกลับมาแล้วมานั่งปฏิบัติหน้าที่ทำงานให้นายจ้าง พับเสื้อได้ 1 ตัวก็เกิดอาการปากเบี้ยวแล้วกลายเป็นอัมพาต อันเนื่องมาจากโจทก์มีโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว มาทำงานล่วงเวลาหลายวันติดต่อกันทำให้เกิดความเคร่งเครียดเป็นเหตุให้โรคความดันโลหิตสูงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และที่สุดก็มาล้มป่วยลงขณะที่ทำงานให้นายจ้าง จนเป็นเหตุให้เป็นอัมพาต ศาลแรงงานกลางเห็นว่าพอถือได้ว่าโจทก์ประสบอันตรายโดยได้รับอันตรายแก่กายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ศาลฎีกาเห็นว่า การวินิจฉัยว่าโจทก์ประสบอันตรายหรือป่วยเจ็บหรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานหรือไม่นั้น จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้อง การที่ศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงที่มิได้ปรากฏในคำฟ้องมาวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 52 เพราะไม่เข้าข้อยกเว้นในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้ตามมาตราดังกล่าวแล้ว
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง