คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3790/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งผู้คัดค้านที่ 2 และฝ่ายผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ต่างยื่นคำร้องขอให้ถอนอีกฝ่ายออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องคัดค้านที่ 1 หรือผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเพราะเหตุละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควรหรือไม่ การที่ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ตกลงท้ากันให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าที่ดินมรดกของผู้ตายเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสของผู้ตาย เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยอันมีผลให้คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก โดยมิใช่เหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงมิใช่เป็นการตกลงกันเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีนี้โดยตรง เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นคดีอื่นต่างหาก การที่ศาลชั้นต้นไม่ดำเนินการไต่สวนคำร้องขอแต่กลับพิจารณาตามคำท้าหรือข้อตกลงของคู่ความทั้งสองฝ่าย ถือเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย เห็นควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายมงคล ผู้ตาย ร่วมกัน
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องคัดค้านที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดก เนื่องจากผู้ร้องคัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก
ผู้ร้องคัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องขอขอให้ถอนผู้คัดค้านที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดก และให้ผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกับผู้ร้องคัดค้านที่ 1 โอนที่ดินมรดกดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องคัดค้านทั้งสามภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา หากผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อให้จัดการโอนที่ดินดังกล่าวแก่ผู้ร้องคัดค้านทั้งสาม และหรือบังคับให้ผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ตามกฎหมาย
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ตกลงกันว่า ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกโฉนดเลขที่ 2948 และ 10793 ให้แก่ผู้ร้องคัดค้านทั้งสามภายในวันที่ 11 สิงหาคม 2558 หากฝ่ายใดไม่ไปตามกำหนด ถือว่าฝ่ายนั้นขอถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก และขอถอนคำร้องขอที่ขอถอนอีกฝ่ายหนึ่งจากการเป็นผู้จัดการมรดกด้วย ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 89667 ให้ศาลชี้ขาดว่าเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวของผู้ตาย หากชี้ขาดว่าเป็นสินสมรส ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ขอถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก และผู้ร้องคัดค้านทั้งสามขอถอนคำร้องขอที่ขอให้ถอนผู้คัดค้านที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดก แต่หากชี้ขาดว่าเป็นสินส่วนตัว ผู้คัดค้านที่ 2 ขอถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก และขอถอนคำร้องที่ขอให้ถอนผู้ร้องคัดค้านที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดก โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายจะยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ศาลพิจารณา ไม่ติดใจนำพยานหลักฐานอื่นเข้าไต่สวนอีก หลังจากนั้นผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ไปโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องคัดค้านทั้งสามตามที่ตกลงกัน ส่วนข้อตกลงที่ให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 89667 เป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสของผู้ตายนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นสินสมรส แล้วพิพากษาให้เป็นไปตามข้อตกลงของผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 โดยมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ลาออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย อนุญาตให้ผู้ร้องคัดค้านทั้งสามถอนคำร้องขอ จำหน่ายคดีผู้ร้องคัดค้านทั้งสามออกจากสารบบความ และยกคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้องคัดค้านทั้งสามและคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 2 แล้วมีคำสั่งใหม่ต่อไปตามรูปคดี คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายกับนางแก้วเรือน ผู้ตายจดทะเบียนหย่ากับนางแก้วเรือนแล้ว ต่อมาจดทะเบียนสมรสกับผู้คัดค้านที่ 1 ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องคัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ตายมีทรัพย์มรดกหลายรายการรวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 2948, 10793 และ 89667 ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2948 และ 10793 ให้แก่ผู้ร้องคัดค้านทั้งสาม ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 มีปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว จึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลถอนอีกฝ่ายหนึ่งออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ระหว่างพิจารณาคดีทั้งสองฝ่ายตกลงกันขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 89667 เป็นสินสมรสของผู้ตาย อนุญาตให้ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ลาออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกกับอนุญาตให้ผู้ร้องคัดค้านทั้งสามถอนคำร้องขอที่ขอให้ถอนผู้คัดค้านที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดก ผลจากคำวินิจฉัยดังกล่าวทำให้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพียงผู้เดียว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้องคัดค้านทั้งสามและคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 2 แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากผู้ร้องคัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์ละเลยไม่ทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดก ส่วนผู้ร้องคัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องว่าผู้คัดค้านที่ 2 ละเลยไม่ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดก ขอให้ถอนผู้คัดค้านที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดก และให้ผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกับผู้ร้องคัดค้านที่ 1 โอนทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องคัดค้านทั้งสาม กรณีจึงมีประเด็นให้ต้องพิจารณาว่า มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องคัดค้านที่ 1 หรือผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ซึ่งเหตุที่ถอนผู้จัดการมรดกนั้นกฎหมายได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ว่า “ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง” ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องคัดค้านที่ 1 หรือผู้คัดค้านที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดกเพราะเหตุละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควรหรือไม่ กรณีที่ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ตกลงท้ากันให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าที่ดินมรดกของผู้ตายโฉนดเลขที่ 89667 เป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสของผู้ตาย เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยอันมีผลให้คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก โดยมิใช่เหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงมิใช่เป็นการตกลงกันเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีนี้โดยตรง โดยปัญหาว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนใดจะเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันเป็นคดีอื่นต่างหาก ศาลชั้นต้นไม่อาจนำคำฟ้องหรือข้อตกลงดังกล่าวมาชี้ขาดว่า ทรัพย์มรดกส่วนใดเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสแล้วนำไปสู่การมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ลาออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย รวมถึงการอนุญาตให้ผู้ร้องคัดค้านทั้งสามถอนคำร้องขอได้ โดยในกรณีนี้ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้องคัดค้านทั้งสาม และคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 2 ให้ได้ความว่า มีเหตุสมควรถอนอีกฝ่ายหนึ่งจากการเป็นผู้จัดการมรดกเพราะมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นไม่ดำเนินการไต่สวนดังกล่าวแต่กลับดำเนินการพิจารณาตามคำท้าหรือข้อตกลงของผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และมีเหตุที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้องคัดค้านทั้งสามและคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 2 แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี จึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share