แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้ยืมเงินทดรองจากโจทก์ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับขององค์การโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยืมเงินทดรองแล้วมอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 รับแทน แล้วจำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกไปโดยไม่ได้ติดตามควบคุมให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับให้มีการหักล้างเงินยืมภายใน 7 วัน หรือ 30 วัน นับแต่วันจ่ายเงินของแต่ละประเภทตามระเบียบข้อบังคับนั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ปฏิบัติราชการโดยประมาทเลินเล่อต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1
การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ลงชื่อในใบยืมเงินทดรองของโจทก์ไปโดยตำแหน่งหน้าที่ในฐานะพนักงานของโจทก์ในขอบเขตแห่งหน้าที่ของตนตามระเบียบแบบแผนของโจทก์ที่วางไว้เพื่อใช้ดำเนินงานของโจทก์โดยมอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 ส่งเงินไปยังหน่วยงานที่ยืมนั้น แม้จะมีข้อบังคับให้ผู้ยืมต้องส่งเงินเหลือจ่ายคืนพร้อมใบสำคัญคู่จ่ายเพื่อหักล้างบัญชีก็เป็นเรื่องกำหนดความรับผิดชอบของผู้ยืมไว้เป็นการเฉพาะเป็นหลักปฏิบัติงานในหน่วยงานของโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มิได้อยู่ในฐานะของผู้ยืมตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันใช้เงินให้โจทก์ 198,453 บาท 39 สตางค์ โดยให้จำเลยที่ 2 ใช้เงิน 30,541 บาท 15 สตางค์ จำเลยที่ 3 ใช้เงิน 94,089 บาท 50 สตางค์ จำเลยที่ 4 ใช้เงิน 14,183 บาท 84 สตางค์ จำเลยที่ 5 ใช้เงิน 11,102 บาท 50 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่ารับเงินยืมแล้วให้ผู้ยืมไปขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การมีใจความว่า การยืมเงินทดรองมิใช่เป็นเรื่องกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและสุจริตมิได้ประมาทเลินเล่อ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ยืม แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินยืมทดรองไป ต้องรับผิดฐานละเมิดและคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่16 ธันวาคม 2508 คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์โจทก์ได้ออกข้อบังคับฉบับที่ 39 กำหนดว่า เงินยืมทดรองเพื่อนำไปใช้จ่ายตามประเภทค่าใช้จ่ายที่กำหนดผู้ยืมเงินทดรองต้องเป็นพนักงานองค์การโจทก์ และให้ผู้ยืมเงินทดรองส่งเงินที่เหลือจ่ายคืนพร้อมใบสำคัญคู่จ่ายต่อกองบัญชีและคลังเงินภายใน 7 วัน หรือ 30 วันตามประเภทเงินยืมทดรอง หากผู้ยืมไม่ส่งในกำหนดดังกล่าวให้ผู้อำนวยการโจทก์หักเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดของผู้ยืมส่งใช้เงินยืมได้ ปรากฏความตามเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2510 องค์การโจทก์ได้ออกคำสั่งที่ 141/2510 กำหนดว่าเงินยืมทดรองนั้นให้หัวหน้าหน่วยซึ่งได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการให้ยืมได้เป็นผู้ยืมและรับผิดชอบความปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาองค์การโจทก์ได้ออกระเบียบปฏิบัติงานฝ่ายธุรการฉบับที่ 32 ให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2510 ตามเอกสารหมาย จ.6 ยกเลิกคำสั่งที่ 141/2510 โดยออกเป็นระเบียบปฏิบัติงานฝ่ายธุรการ แต่มีใจความทำนองเดียวกับคำสั่งที่ยกเลิกนั้น ต่อมาองค์การโจทก์ได้ออกคำสั่งที่ 14/2511 ให้ใช้แต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2511 กำหนดให้ผู้ยืมต้องรับผิดชอบต่อจำนวนเงินที่ยืมไป หากมีความจำเป็นต้องจ่ายคืนเงินแก่องค์การโจทก์แล้วผู้ยืมนั้นต้องชดใช้คืนจนครบ ปรากฏความตามเอกสารหมาย จ.2 ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นพนักงานของโจทก์สังกัดกองโทรศัพท์ภูมิภาคและโทรศัพท์ทางไกล จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีอำนาจหน้าที่ยืมเงินทดรองของโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกการเงินเขตกองบัญชีและคลังเงิน องค์การโจทก์ได้ออกคำสั่งให้แผนกการเงินเขตกองบัญชีและคลังเงินซึ่งจำเลยที่ 1 ประจำอยู่มาปฏิบัติงานอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกองโทรศัพท์ภูมิภาคและโทรศัพท์ทางไกล เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยืมเงินทดรองของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้มอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 รับเงินที่ยืมนั้นแทน จำเลยที่ 1 ได้รับเงินยืมไปจากกองบัญชีและคลังเงินแล้ว เงินยืมทดรองเหล่านี้เป็นเงินที่จะต้องส่งไปให้ผู้ปฏิบัติงานเพื่อใช้ในกิจการของโจทก์ตามที่ได้ประมาณราคามา เมื่อผู้ปฏิบัติงานดำเนินการเสร็จก็จะส่งใบสำคัญคู่จ่ายกับเงินเหลือจ่ายคืนมายังผู้ยืม เพื่อทำการหักล้างต่อไปสำหรับจำเลยที่ 1 นั้นฟังได้ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 รับเงินยืมทดรองมาแล้ว มิได้ส่งเงินไปให้หน่วยงานที่ขอเบิกหรือปฏิบัติงานที่จะใช้เงินและเงินยืมรายใดที่จำเลยที่ 1 ส่งเงินให้ไปแล้วแต่เมื่อหน่วยงานหรือปฏิบัติงานส่งเงินที่เหลือคืนมายังจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ส่งคืนกองบัญชีและคลังเงิน และจำเลยที่ 1 ส่งเงินไปยังหน่วยที่ขอเบิกน้อยกว่าที่ยืมมาก็มี รวมเงินที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดทุจริตยักยอกเงินยืมของโจทก์ดังกล่าแล้วไปเป็นเงินทั้งสิ้น 198,453บาท 39 สตางค์ เฉพาะเงินยืมทดรองที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยืมเพื่อจะส่งไปให้ผู้ปฏิบัติงานเพื่อใช้ในกิจการของโจทก์ โดยมอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 รับเงินยืมนั้นแทน แต่ค้างหักล้างเงินยืมไม่ได้ มีเงินยืมทดรองที่จำเลยที่ 2 ยืมและจำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเอาไปเป็นเงิน 27,485 บาท 50 สตางค์ จำเลยที่ 3 ยืมและจำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเอาไปเป็นเงิน 94,089 บาท 50 สตางค์ จำเลยที่ 4 ยืมและจำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเอาไปเป็นเงิน 12,983 บาท 84 สตางค์ จำเลยที่ 5 ยืมและจำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเอาไปเป็นเงิน 10,602 บาท 50 สตางค์ในชั้นฎีกามีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามข้อฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงเงินยืมทดรองที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยืมโดยมอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 รับแทน แล้วจำเลยที่ 1 ได้ทุจริตยักยอกเงินตามจำนวนดังกล่าวนั้นไปหรือไม่ และคดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่
ได้พิเคราะห์แล้ว เหตุผลตามที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องร่วมรับผิดถึงเงินยืมทดรองที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยืมโดยมอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 รับแทน แล้วจำเลยที่ 1 ได้ทุจริตยักยอกไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในขณะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยืมเงินทดรองของโจทก์นั้น มีข้อบังคับที่ 39 และคำสั่งที่ 14/2511 ขององค์การโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2 บังคับไว้ว่า ผู้ยืมเงินจะต้องรับผิดชอบต่อจำนวนเงินที่ตนยืมไป หากเกิดข้อบกพร่องผิดพลาดประการใดผู้ยืมเงินทดรองจะต้องชดใช้คืนจนครบถ้วน ทั้งได้ระบุถึงการหักล้างเงินยืมทดรองนั้นด้วยว่าให้ผู้ยืมปฏิบัติอย่างไรไว้ ฉะนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้ยืมเงินทดรองจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับเช่นว่านั้นเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เมื่อ ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบ และจำเลยมิได้โต้เถียงรับฟังได้ว่า เงินยืมทดรองที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 รับแทนแล้วจำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกไปนั้น ส่วนใหญ่จำเลยที่ 1 รับเงินมาแล้วไม่ส่งไปยังหน่วยงานที่ขอเบิกนอกนั้นเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ส่งเงินไปยังหน่วยงานที่ขอเบิกน้อยกว่าที่ยืมมา กับกรณีที่รับเงินเหลือจ่ายคืนมาแล้วไม่ส่งกองบัญชีและคลังเงิน ซึ่งเงินยืมเหล่านั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ยืมมาคนละหลายครั้งหลายหนในช่วงระยะเวลานาน กล่าวคือจำเลยที่ 2 ยืมครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2509 ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2511 จำเลยที่ 3 ยืมครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2511 ครั้งสุดท้ายวันที่ 5 กันยายน 2511 จำเลยที่ 4 ยืมครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2511 ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2511 และจำเลยที่ 5 ยืมครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2508 ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2509เงินยืมเหล่านี้ได้ค้างหักล้างอยู่เป็นจำนวนคนละมาก ๆ ถ้าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ติดตามควบคุมให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับโดยให้มีการหักล้างเงินยืมภายใน 7 วันหรือ 30 วันนับแต่วันจ่ายเงินของแต่ละประเภทตามระเบียบข้อบังคับ หรือเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ส่งเงินยืมไปยังหน่วยงานที่ใช้เงินและเมื่อเสร็จแล้วให้ปฏิบัติการหักล้างรวมทั้งตรวจหลักฐานการเงินเช่นผู้ปฏิบัติหน้าที่พึงปฏิบัติโดยชอบแล้วจำเลยที่ 1 ก็คงไม่อาจทุจริตยักยอกเงินไปได้ ข้อที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อ้างว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินไปมิใช่จำเลยปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับและคำสั่งของโจทก์ แต่การหักล้างเงินยืมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มิใช่ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ถึงหากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จะได้เร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ทำการหักล้างเงินยืมทดรอง จำเลยที่ 1 จะทำตามหรือไม่เป็นเรื่องนอกอำนาจของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จะสั่งได้นั้น เห็นว่าข้ออ้างเช่นนี้รับฟังไม่ขึ้นเพราะเป็นการเถียงระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์ที่ให้ผู้ยืมเงินทดรองจัดส่งเอกสารหักล้างเงินยืมของตนตามกำหนดในข้อบังคับหรือระเบียบการเมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นผู้ยืมเงินทดรอง จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จะต้องปฏิบัติการดังกล่าวนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มิได้สนใจปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวเสียเลย โดยถือว่าไม่ใช่หน้าที่ของตน ความเสียหายจึงเกิดขึ้นเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินยืมของโจทก์ไปเช่นนั้น จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ปฏิบัติราชการโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินยืมทดรองไป ส่วนในข้อที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อ้างว่าข้อบังคับและคำสั่งของโจทก์ดังกล่าวหละหลวมแม้แต่นายจรูญ วัชราภัย ผู้อำนวยการของโจทก์ก็มีความเห็นเช่นนั้น และได้มีหนังสือถึงกระทรวงการคลังตามเอกสารหมาย ล.8 โดยที่ประชุมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์โจทก์ เห็นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้ยืมเงินมิได้สมคบกับผู้ทุจริตควรให้ผู้ทุจริตรับผิดชอบโดยตรงมิควรที่จะให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับผิดชอบ และโดยที่ผู้อำนวยการโจทก์เป็นผู้แทนโจทก์และเป็นผู้แทนในการแสดงเจตนาที่จะไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าได้ความจากนายจรูญ วัชราภัยว่า เมื่อทางองค์การโทรศัพท์โจทก์รายงานความเห็นดังกล่าวไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามระเบียบราชการแล้ว หน่วยงานราชการทั้งสามดังกล่าวได้แจ้งมายังโจทก์ว่า เนื่องจากตามข้อบังคับคำสั่งของโจทก์ ผู้บังคับบัญชาต้องร่วมรับผิดชดใช้เงินที่ถูกผู้ใต้บังคับบัญชาทุจริตยักยอกไปด้วย ให้โจทก์ดำเนินคดีเรียกเงินจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ด้วยโจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นคดีนี้ขึ้น เหตุนี้จะว่าโจทก์ไม่ติดใจเอาความกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แล้วนั้นอย่างไรได้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงเงินยืมทดรองของโจทก์ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยืมและมอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 รับแทนแล้วจำเลยที่ 1 ได้ทุจริตยักยอกไปตามจำนวนดังกล่าวนั้นด้วย
ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกาว่า ความในเอกสารหมาย จ.24 เห็นได้ว่าโจทก์ได้ทราบถึงการละเมิดอันเกิดจากการทุจริตยักยอกเงินของจำเลยที่ 1 และรู้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้ยืมเงินทดรองไปเท่าไรยังมิได้หักล้างเป็นจำนวนเท่าไรแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2511 ซึ่งนับจากวันโจทก์รู้ถึงวันฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี แล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเอกสารหมาย จ.24 เป็นบันทึกของคณะกรรมการซึ่งโจทก์แต่งตั้งให้ทำการสอบสวนพฤติการณ์และปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเงินของจำเลยที่ 1 ได้รายงานผลของการตรวจสอบการเบิกเงินและรับเงินจากกองบัญชีและคลังเงินซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินไปเป็นจำนวนเท่าไร เป็นบันทึกการสอบสวนถึงพฤติการณ์และการปฏิบัติงานเฉพาะที่จำเลยที่ 1เท่านั้นที่จะต้องรับผิด ไม่ได้สอบถึงพฤติการณ์และการปฏิบัติงานที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จะต้องรับผิดเกี่ยวกับเงินยืมทดรองแต่อย่างใด แม้ในการสอบสวนพฤติการณ์และการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 จะมีข้อความถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มอบให้จำเลยที่ 1 ยืมเงินทดรองแทนอยู่ด้วยในรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการ ก็มิใช่เป็นเรื่องที่คณะกรรมการตรวจสอบรายงานผลเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้โจทก์ทราบ จะฟังว่าโจทก์ได้ทราบว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องรับผิดสำหรับเงินยืมทดรองโดยผลรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบตามเอกสารหมาย จ.24 นั้นแล้วไม่ได้ โจทก์เพิ่งมีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2512 ตามเอกสารหมาย จ.26 และเพื่อให้การสอบสวนหาตัวผู้ร่วมรับผิดในทางแพ่งตามคำสั่งดังกล่าวให้เรียบร้อยและรวดเร็วขึ้นโจทก์ได้ตั้งกรรมการอีก 3 นายเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2512 ตามเอกสารหมาย จ.23 และคณะกรรมการได้รายงานผลการตรวจสอบผู้ต้องร่วมรับผิดในทางแพ่งต่อผู้อำนวยการองค์การโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.22 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2513 ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กับบุคคลอื่น ๆ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2514 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่า ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยืมเงินทดรองไปจากโจทก์ดังกล่าว ต้องรับผิดในฐานะผู้ยืมด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ลงชื่อในใบยืมเงินทดรองของโจทก์นั้น ได้กระทำไปโดยตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในฐานะพนักงานของโจทก์ในขอบเขตแห่งหน้าที่ของตนตามระเบียบแบบแผนของโจทก์ที่วางไว้เพื่อใช้ดำเนินงานของโจทก์ โดยมอบฉันทะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเงินไปยังหน่วยงานที่ยืมนั้นเพื่อให้งานของโจทก์ดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย แม้จะมีข้อบังคับที่ 39 และคำสั่งที่ 14/2511 ให้ผู้ยืมต้องส่งเงินเหลือจ่ายคืนพร้อมใบสำคัญคู่จ่ายเพื่อหักล้างบัญชี มิฉะนั้นผู้ยืมจะถูกหักเงินเดือนหรือค่าจ้าง ฯลฯ ก็เป็นเรื่องกำหนดความรับผิดชอบของผู้ยืมไว้เป็นการเฉพาะเป็นหลักปฏิบัติงานในหน่วยงานของโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มิได้อยู่ในฐานะของผู้ยืมตามกฎหมาย
สรุปแล้วฎีกาจำเลยทุกข้อและคำแก้ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว
พิพากษายืน