คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2643/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ติดต่อที่จะแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนรับส่งสินค้าทางทะเลขอให้ส่งตัวแทนไปเจรจาข้อปลีกย่อย เมื่อโจทก์และตัวแทนจำเลยที่ 1 ได้เจรจาตกลงกันแล้วจำเลยที่ 1 ได้มีจดหมายยืนยันรายละเอียดที่ได้เจรจากันไปให้โจทก์ทราบ และตัวแทนโจทก์ก็ได้มีจดหมายยืนยันมายังจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกัน และว่าจะส่งหนังสือแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการตามมาภายหลังเมื่อเรือของโจทก์เดินทางมารับสินค้าเป็นลำแรก จำเลยที่ 1 ก็ได้ทำหน้าที่ตามที่ตกลงกันไว้ และแสดงต่อทางราชการว่าเป็นตัวแทนของโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนและจำเลยที่ 1 รับเป็นตัวแทนของโจทก์ในการรับส่งสินค้าทางทะเลแล้ว แม้โจทก์จะยังมิได้มีหนังสือแต่งตั้งจำเลยที่ 1 อย่างเป็นทางการก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะมิใช่กรณีที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือ
สัญญาเช่าเรือขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างโจทก์กับเจ้าของเรือ กำหนดให้เจ้าของเรือรับผิดเช่นเดียวกับโจทก์ผู้เช่าสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าตามที่ปรากฏในใบตราส่งที่กัปตันเรือเป็นผู้ลงชื่อในใบตราส่ง แต่ถ้าโจทก์จะให้กัปตันเรือมอบอำนาจให้โจทก์หรือตัวแทนโจทก์ลงชื่อในใบตราส่งแทนกัปตันเรือก็ได้ ทั้งนี้ต้องออกใบตราส่งให้มีข้อความตรงกับใบรับขั้นต้น กัปตันเรือได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ลงชื่อในใบตราส่งโดยมีข้อกำหนดว่าจะต้องออกใบตราส่งให้มีข้อความตรงกับใบรับขั้นต้น หาไม่แล้วเจ้าของเรือจะไม่รับผิดชอบ จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าสินค้ามันสำปะหลังที่จำเลยที่ 2 มาจ้างขนส่งนั้นยังไม่แห้งสนิทดังที่หมายเหตุไว้ในใบรับขั้นต้น แต่กลับออกใบตราส่งให้จำเลยที่ 2 ไปโดยไม่หมายเหตุความบกพร่องไว้ให้ตรงกับใบรับขั้นต้น เป็นเหตุให้ธนาคารจ่ายเงินค่าสินค้ามันสำปะหลังให้จำเลยที่ 2 ไปตามใบตราส่งที่ไม่มีหมายเหตุความบกพร่อง ต่อมามันสำปะหลังไปถึงผู้รับตราส่งปรากฏว่าชื้นขึ้นราและมีกลิ่น คุณภาพได้เสื่อมลงราคาตกไปประมาณครึ่งหนึ่ง ทำให้ผู้รับตราส่งได้รับความเสียหาย จึงได้ฟ้องให้เจ้าของเรือรับผิด เจ้าของเรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับตราส่งแล้วจึงได้ไล่เบี้ยเอากับโจทก์ที่ออกใบตราส่งไม่ตรงตามสัญญาเช่าเรือ โจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของเรือไปตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จึงต้องถือว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนโจทก์ในการที่ออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ตรงกับใบรับขั้นต้นตามที่ได้รับมอบหมายจากกัปตันเรือ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อให้โจทก์เสียหาย จึงพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยปัญหาที่ว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มิได้ยกปัญหาเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความตั้งประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงถือว่าไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในชั้นอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบเมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกาเรื่องอายุความขึ้นมา จึงต้องถือว่าปัญหาเรื่องอายุความมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายในประเทศปานามา โจทก์ได้เช่าเรือเดินทะเล “โดนามารี” จากบริษัทเจเนอรัล แคเรียส์ เอสเอ ออฟ ปานามา ใช้ในการประกอบกิจการรับส่งสินค้าและคนโดยสารตามประเทศต่าง ๆ ทางทะเล สำหรับประเทศไทย โจทก์ได้มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการรับส่งสินค้าและจัดหาลูกค้ากับมีหน้าที่จัดทำใบตราส่ง (บิลล์ออฟเลดดิ้ง) ให้แก่ผู้ส่งสินค้าด้วย โดยได้รับค่าบำเหน็จตอบแทน จำเลยที่ 1จะต้องตรวจรับสินค้าที่นำมาบรรทุกเรือ หากสินค้ามีความบกพร่องหรือสภาพไม่เรียบร้อย ไม่ตรงกับข้ออ้างหรือตามประเพณีอันจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ตัวการหรือเจ้าของเรืออันอาจจะถูกเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากสินค้าที่รับขนส่งบกพร่องหรือเกิดความเสียหายไม่เป็นไปตามที่ปรากฏในใบตราส่งจำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้าบรรทุกลงเรือ หรือรับไว้โดยลงเงื่อนไขหรือระบุแสดงความบกพร่องของสินค้าไว้ในใบตราส่งให้ผู้รับตราส่งทราบเพื่อตัวการหรือเจ้าของเรือจะได้พ้นจากความรับผิด เมื่อเดือนตุลาคม 2511จำเลยที่ 1 ได้รับสินค้ามันสำปะหลังจากจำเลยที่ 2 จำนวน 956,692 ลองตันบรรทุกเรือโดนามารีส่งไปให้ลูกค้าที่ประเทศเยอรมันตะวันตก โดยความประมาทเลินเล่อหรือโดยจงใจของจำเลยที่ 1 ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่ามันสำปะหลังยังไม่แห้งสนิทไม่อยู่ในสภาพที่จะรับบรรทุกโดยปราศจากเงื่อนไข อันเชื่อได้ว่ามันสำปะหลังจะต้องเสียหายโดยสภาพก่อนถึงผู้รับสินค้า หากจำเลยที่ 1 ระบุสภาพแท้จริงของมันสำปะหลังไว้ในใบตราส่ง ผู้รับตราส่งจะไม่ยอมรับมันสำปะหลัง จำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 3 ทำการแทนได้ขอให้จำเลยที่ 1 ยอมรับบรรทุกโดยไม่ระบุข้อบกพร่องโดยจำเลยที่ 2 ทำหนังสือคำมั่นสัญญารับรองต่อจำเลยที่ 1 ว่าหากมันสำปะหลังที่เสียหายเป็นเหตุให้ทางฝ่ายเรือได้รับความเสียหายจากการนี้แล้ว จำเลยที่ 2จะเป็นผู้รับชดใช้เอกสารดังกล่าว จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบก่อนรับขน ทั้งยังออกใบตราส่งไปโดยแสดงว่าสินค้าอยู่ในสภาพเรียบร้อย (คลีนบิลล์ออฟเลดดิ้ง) ทั้งที่เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสินค้าบันทึกสภาพมันสำปะหลังในใบรับขั้นต้น (เมทรีซีท) ว่ายังไม่แห้งสนิทซึ่งเป็นการกระทำงดเว้นกระทำตามหน้าที่ตัวแทน หรือด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กล่าวคือเมื่อมันสำปะหลังไปถึงผู้รับตราส่งเกิดเป็นราและมีกลิ่นซึ่งเป็นโดยสภาพของมันสำปะหลังที่ยังไม่แห้งนั่นเอง ทำให้หมดราคาหรือเสื่อมราคาลง ทางฝ่ายเรือจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้ ทั้งนี้เนื่องจากใบตราส่งมิได้ระบุความบกพร่องของสินค้าไว้ ผู้รับตราส่งได้ยื่นฟ้องบริษัทเจเนอรัล แคเรียส์เอส เอ ออฟ ปานามา เจ้าของเรือเป็นจำเลยต่อศาลในประเทศอังกฤษ ซึ่งศาลดังกล่าวได้พิพากษาให้เจ้าของเรือใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 18,392.78 ปอนด์เสตอร์ลิงพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมอีก 2,759.87 ปอนด์เสตอร์ลิงแก่ผู้รับตราส่ง เจ้าของเรือได้ชำระเงินดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว เจ้าของเรือจึงเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้เงินที่เจ้าของเรือจ่ายให้ผู้รับตราส่งตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าว โจทก์และเจ้าของเรือตกลงกันนำข้อพิพาทดังกล่าวเสนอต่ออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดทั้งนี้เป็นไปตามสัญญาเช่าเรือ อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้โจทก์รับผิดชดใช้เงินให้เจ้าของเรือทั้งสิ้น 25,846.61 ปอนด์เสตอร์ลิง โจทก์ชำระหนี้ไปตามคำชี้ขาดดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังต้องเสียค่าทนายความในการต่อสู้คดีชั้นอนุญาโตตุลาการอีก 775 ปอนด์เสตอร์ลิง จึงรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 26,621.61ปอนด์เสตอร์ลิง นอกจากความประมาทเลินเล่อดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยังประมาทเลินเล่อต่อการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนของโจทก์ โดยไม่สอบสวนฐานะการเงินของจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดว่ามีหลักทรัพย์พอที่จะปฏิบัติตามหนังสือรับชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ได้ครบถ้วนหรือไม่ และมิได้ให้จำเลยที่ 2 หาผู้ค้ำประกันหรือวางหลักทรัพย์เป็นประกันสัญญารับชดใช้ความเสียหาย ทำให้โจทก์ไม่มีทางจะบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันฟ้อง 1 ปอนด์เสตอร์ลิง 49.02บาท ขอให้ศาลพิพากษาและบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,304,991 บาท 32 สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นตัวแทนโจทก์ในการรับส่งสินค้าทางทะเลและจัดหาลูกค้าที่จะส่งสินค้าทางเรือ ไม่มีหน้าที่จัดทำใบตราส่งให้แก่ผู้ส่งสินค้า จำเลยที่ 1 เพียงรับทำการให้โจทก์เป็นครั้งคราวตามที่โจทก์แจ้ง การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำตามความต้องการของโจทก์ทั้งสิ้น ในทางการที่จำเลยที่ 1 บริการให้โจทก์จำเลยที่ 1 ก็ปฏิบัติไปตามความรู้ความชำนาญและจารีตประเพณีโดยมิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด จำเลยที่ 1ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดหากสินค้าบกพร่องหรือสภาพไม่เรียบร้อย และไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้าบรรทุกลงเรือ หรือยอมรับไว้โดยมีเงื่อนไขระบุในใบตราส่งซึ่งเป็นอำนาจของนายเรือ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้รับสินค้ามันสำปะหลังจากจำเลยที่ 2 เพียงแต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้แจ้งให้จำเลยที่ 2 นำมันสำปะหลังไปลงเรือโดนามารีเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาชดใช้ค่าเสียหายเป็นเรื่องระหว่างนายเรือกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และต้องถือว่ามีการประนีประนอมยุติไปแล้ว เหตุที่เกิดขึ้นและความเสียหายมิได้เป็นเพราะจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อ การที่เจ้าของเรือต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับตราส่ง และการที่โจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของเรือตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตลอดจนค่าทนายความในการต่อสู้ชั้นอนุญาโตตุลาการจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด และจำเลยที่ 1เป็นบุคคลนอกสัญญา สัญญาเช่าเรือจึงไม่มีผลถึงจำเลยที่ 1 ในการดำนินเรื่องในชั้นอนุญาโตตุลาการของโจทก์ โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ค่าเสียหายของโจทก์ไม่ถึงจำนวนตามฟ้อง การเทียบเงินปอนด์เสตอร์ลิงเป็นเงินไทยในวันฟ้องไม่ถูกต้อง การสอบสวนฐานะการเงินของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ไม่มีทางจะบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด คดีโจทก์ขาดอายุความ ฯลฯ

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

โจทก์ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนโจทก์รับส่งสินค้าทางทะเลและมีหน้าที่ทำใบตราส่ง (บิลล์ออฟเลดดิ้ง) ด้วยวิธีการปฏิบัติในการออกใบตราส่งจะไม่บันทึกข้อบกพร่องของสินค้าลงไว้ แต่ผู้ตราส่งจะต้องทำสัญญาค้ำประกันการเสียหายไว้ จำเลยที่ 1 ปฏิบัติรับบรรทุกสินค้าลงเรือแทนโจทก์ไปตามประเพณีที่ผู้รับส่งสินค้าปฏิบัติกันโดยทั่ว ๆ ไป จำเลยที่ 1 จึงมิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อให้โจทก์เสียหาย และคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ได้ปฏิบัติหน้าที่ในธุรกิจที่ได้รับมอบหมายด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่สืบฐานะของจำเลยที่ 2 ดูให้แน่นอนเสียก่อนว่ามีฐานะพอจะรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันชดใช้ค่าเสียหายได้หรือไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาชดใช้ค่าเสียหายที่ทำไว้ พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามฟ้องพร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พฤติการณ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1แสดงออกชัดว่าโจทก์ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน และจำเลยที่ 1 ยอมรับเป็นตัวแทนในการรับส่งสินค้าทางทะเลแล้ว ถึงแม้จะยังมิได้มีหนังสือแต่งตั้งก็หาใช่ข้อสารสำคัญไม่ เพราะมิใช่กรณีที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้ต้องทำเป็นหนังสือ จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนของโจทก์ด้วยความประมาท จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงแต่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2ทำสัญญารับชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิดไม่ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวนตามฟ้องให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 รับมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 2 นำมาจ้างให้บรรทุกเรือโดนามารีซึ่งโจทก์เป็นผู้เช่ามาจากบริษัทเจเนอรัล แคเรียส์ เอส เอ ออฟ ปานามา ไว้โดยรู้อยู่แล้วว่ามันสำปะหลังดังกล่าวบกพร่องคือมีสภาพยังไม่แห้งสนิท เพื่อส่งไปให้ผู้ซื้อที่เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมันตะวันตก จำเลยที่ 1ออกใบตราส่ง (บิลล์ออฟเลดดิ้ง) ให้จำเลยที่ 2 โดยมิได้ระบุความบกพร่องลงไว้ให้ตรงกับใบรับขั้นต้น (แมทรีซีท) ที่หมายเหตุไว้ว่า “ยังไม่แห้งสนิท” ต่อมาเมื่อมันสำปะหลังถึงผู้รับตราส่ง ปรากฏว่ามันสำปะหลังชื้น ขึ้นราและมีกลิ่นซึ่งเกิดจากสภาพที่ยังไม่แห้งสนิท เจ้าของเรือไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้ เนื่องจากในใบตราส่งมิได้ระบุความบกพร่องไว้ ผู้รับตราส่ง จึงฟ้องบริษัทเจเนอรัล แคเรียส์เอส เอ ออฟ ปานามา เจ้าของเรือเป็นจำเลยต่อศาลในประเทศอังกฤษ ศาลดังกล่าวพิพากษาให้เจ้าของเรือชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 18,392.78 ปอนด์เสตอร์ลิง พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมอีก 2,759.87 ปอนด์เสตอร์ลิง แก่ผู้รับตราส่ง เจ้าของเรือจึงเรียกให้โจทก์ชดใช้เงินที่เจ้าของเรือจ่ายให้ผู้รับตราส่งผลที่สุดอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้โจทก์รับผิดชดใช้เงินให้เจ้าของเรือรวมทั้งสิ้น 25,846.61 ปอนด์เสตอร์ลิง โจทก์ชำระให้แก่เจ้าของเรือไปแล้ว และยังต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในการต่อสู้คดีชั้นอนุญาโตตุลาการอีก 775 ปอนด์เสตอร์ลิงด้วย

ปัญหาวินิจฉัยข้อแรกที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นตัวแทนรับส่งสินค้าทางทะเลของโจทก์ จำเลยที่ 1 เพียงแต่รับจ้างโจทก์ทำเป็นครั้งคราวนั้นโจทก์ได้โทรพิมพ์มาถึงจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์อยากจะแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนบริษัทโจทก์ แต่มีข้อตกลงปลีกย่อยที่จะต้องเจรจากันก่อน ขอให้ผู้แทนจำเลยที่ 1ไปพบโจทก์ที่แอนท์เวิฟ ประเทศเบลเยียม ผู้แทนจำเลยที่ 1 จึงได้เดินทางไปเจรจากับโจทก์กลับมาแล้ว จำเลยที่ 1 ได้มีจดหมายสรุปผลข้อเจรจาตกลงยืนยันไปยังโจทก์ ขณะเดียวกันตัวแทนโจทก์ก็ได้มีจดหมายยืนยันมายังจำเลยที่ 1 ว่าจะส่งจดหมายแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการตามมาภายหลังเมื่อเรือโดนามารีของโจทก์เดินทางมารับรรทุกสินค้าที่กรุงเทพฯ เป็นลำแรกจำเลยที่ 1 ก็ได้ทำหน้าที่ตามที่ตกลงกันไว้ และแสดงต่อทางราชการว่าเป็นตัวแทนของโจทก์พฤติการณ์แสดงออกชัดว่าโจทก์ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน และจำเลยที่ 1 รับเป็นตัวแทนของโจทก์ในการรับส่งสินค้าทางทะเลแล้ว แม้โจทก์จะยังมิได้มีหนังสือแต่งตั้งจำเลยที่ 1 อย่างเป็นทางการก็ไม่ใช่ข้อสำคัญเพราะมิใช่กรณีที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือ

ปัญหาวินิจฉัยต่อมาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ออกใบตราส่งให้จำเลยที่ 2 โดยทำตามประเพณีขนส่งสินค้าทางทะเล และได้ปฏิบัติโดยเรียบร้อยทุกประการแล้วจึงไม่ต้องรับผิดนั้น ปรากฏว่าสัญญาเช่าเรือขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างโจทก์กับเจ้าของเรือกำหนดให้เจ้าของเรือรับผิดเช่นเดียวกับโจทก์ผู้เช่าสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าตามที่ปรากฏในใบตราส่งที่กัปตันเรือเป็นผู้ลงชื่อในใบตราส่ง แต่ถ้าโจทก์จะให้กัปตันเรือมอบอำนาจให้โจทก์หรือตัวแทนโจทก์ลงชื่อในใบตราส่งแทนกัปตันเรือก็ได้ ทั้งนี้ต้องออกใบตราส่งให้มีข้อความตรงกับใบรับขั้นต้น กัปตันเรือได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ลงชื่อในใบตราส่งโดยมีข้อกำหนดว่าจะต้องออกใบตราส่งให้มีข้อความตรงกับใบรับขั้นต้น หาไม่แล้วเจ้าของเรือจะไม่รับผิดชอบ จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าสินค้ามันสำปะหลังที่จำเลยที่ 2 มาจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งนั้นยังไม่แห้งสนิท ดังที่หมายเหตุไว้ในใบรับขั้นต้น แต่กลับออกใบตราส่งให้จำเลยที่ 2 ไป โดยไม่หมายเหตุความบกพร่องไว้ให้ตรงกับใบรับขั้นต้น เป็นเหตุให้ธนาคารจ่ายเงินค่าสินค้ามันสำปะหลังให้จำเลยที่ 2 ไปตามใบตราส่งที่ไม่มีหมายเหตุความบกพร่อง ต่อมามันสำปะหลังไปถึงผู้รับตราส่งปรากฏว่าชื้นขึ้นราและมีกลิ่น คุณภาพได้เสื่อมลง ราคาตกไปประมาณครึ่งหนึ่งทำให้ผู้รับตราส่งได้รับความเสียหายจึงได้ฟ้องให้เจ้าของเรือรับผิด เจ้าของเรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับตราส่งแล้ว จึงได้ไล่เบี้ยเอากับโจทก์ที่ออกใบตราส่งไม่ตรงตามสัญญาเช่าเรือ โจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของเรือไปตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จึงถือว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนโจทก์ในการที่ออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ไม่ตรงกับใบรับขั้นต้นตามที่ได้รับมอบหมายจากกัปตันเรือ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติในการรับบรรทุกส่งสินค้าลงเรือแทนโจทก์ตามประเพณีที่ผู้รับส่งสินค้าปฏิบัติกันโดยทั่วไป จำเลยที่ 1 จึงมิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อให้โจทก์เสียหาย จึงพิพากษายกฟ้อง โดยไม่วินิจฉัยปัญหาที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 มิได้ยกปัญหาเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความตั้งประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์จึงถือว่าไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในชั้นอุทธรณ์ เป็นการไม่ชอบ เมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาเรื่องอายุความขึ้นมา จึงต้องถือว่าปัญหาเรื่องอายุความมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ฎีกาจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share