คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งให้เลิกจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1249 ให้พึงถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีส่วนการตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีนั้นก็มีผลเพียงให้ผู้นั้นเป็นผู้มีอำนาจในการกระทำการต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1259 และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 ยังคงเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่จำกัดจำนวน ตามมาตรา 1077 (2)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมากจากศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันลาเพื่อการคลอดบุตร สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสี่ คดีอยู่ระหว่างการบังคับคดีโจทก์ทั้งยี่สิบสี่นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 791/2547 ให้เลิกจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 และตั้งนายฉลอง รัศมีแสงทองกับนางสาวนฤนาถ รัศมีแสงทอง เป็นผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 2 ไม่ได้อยู่ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อไป จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งยี่สิบสี่ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่ให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 และให้ตั้งผู้ชำระบัญชีนั้น ไม่ทำให้หนี้ของจำเลยที่ 1 ระงับ จำเลยที่ 2 ในฐานะลูกหนี้ร่วมยังคงต้องร่วมรับผิดอยู่ มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งยี่สิบสี่หรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จะมีคำสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249 ก็ให้พึงถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีส่วนการตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีนั้นก็มีผลเพียงให้ผู้นั้นเป็นผู้มีอำนาจในการกระทำการต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1259 และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 ยังคงเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัดจำนวน ตามมาตรา 1077 (2) จำเลยที่ 2 จึงยังต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งยี่สิบสี่ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share