คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

มัดจำต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ในวันทำสัญญาไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ในวันอื่น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทำขึ้นเมื่อวันที่3มีนาคม2532ระบุว่าในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้ชำระเงินสดจำนวน200,000บาทและในวันที่20มีนาคม2532อีกจำนวน3,300,000บาทเงินสดจำนวน200,000บาทเท่านั้นที่เป็นเงินมัดจำที่จะต้องริบเมื่อผู้ซื้อผิดสัญญาส่วนเงินจำนวน3,300,000บาทนั้นไม่ใช่มัดจำแต่เป็นเพียงการชำระราคาค่าที่ดินบางส่วนล่วงหน้าซึ่งชำระภายหลังวันทำสัญญาเท่านั้นจึงริบไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2532 จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินเนื้อที่ประมาณ 350 ไร่ ราคาไร่ละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 17,500,000 บาท ให้โจทก์ กำหนดชำระเงิน 3 งวดงวดละ 4,375,000 บาท 2 งวด และ 5,250,000 บาท ภายในวันที่ 20 เมษายน 2532 วันที่ 20 สิงหาคม 2532 และวันที่ 20 ธันวาคม 2532 ตามลำดับ วันทำสัญญาโจทก์ชำระเงิน200,000 บาท ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2532 ชำระ 3,300,000 บาทรวมเป็นเงินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสอง 3,500,000 บาทต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2532 โจทก์จำเลยทั้งสองตกลงเลื่อนเวลาชำระค่าที่ดินงวดที่ 1 จากวันที่ 20 เมษายน 2532 เป็นภายในวันที่ 30 เมษายน 2532 ปลายเดือนมีนาคม 2532 โจทก์จะเข้าไปปรับปรุงพัฒนาที่ดินบางส่วนตามที่จำเลยทั้งสองให้สัญญา แต่ที่ดินดังกล่าวมีชื่อผู้อื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งได้โต้แย้งขัดขวางไม่ให้โจทก์เข้าไปดำเนินการ วันที่ 3 เมษายน 2532 จำเลยทั้งสองหาเหตุบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระเงินงวดที่ 1 โจทก์ติดต่อกับจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองหลบเลี่ยงโจทก์จึงมอบให้ทนายความบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวน 3,500,000 บาท แก่โจทก์พร้อมค่าเสียหาย2,000,000 บาท ภายใน 7 วัน แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับหนังสือการกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองต้องคืนเงินจำนวน 3,500,000 บาท และค่าเสียหายอีกสองเท่าของราคาซื้อขาย แต่โจทก์เรียกร้องเพียง 2,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2532ซึ่งถือว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 5,500,000 บาทและดอกเบี้ย 103,125 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 5,603,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินจำนวน 5,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ โดยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง ในวันทำสัญญาจำเลยทั้งสองได้รับเงินจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท และต่อมาวันที่20 มีนาคม 2532 ได้รับเงินอีก 3,300,000 บาทรวมเป็นเงินมัดจำที่จำเลยทั้งสองได้รับ 3,500,000 บาท ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2532จำเลยทั้งสองโอนที่ดินจำนวน 2 แปลง ให้โจทก์เนื้อที่รวม 4 ไร่2 งาน 51 ตารางวา คิดเป็นเงิน 2,000,000 บาท โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา กล่าวคือ งวดที่ 1 โจทก์ต้องชำระเงินจำนวน4,375,000 บาท เป็นเช็คที่ธนาคารรับรองไว้ล่วงหน้าในวันทำสัญญาลงวันที่สั่งจ่ายภายในวันที่ 20 เมษายน 2532 แต่โจทก์ผิดนัดไม่ยอมชำระให้จำเลยทั้งสองในวันทำสัญญา จำเลยทั้งสองทวงถามหลายครั้งโจทก์ขอเลื่อนอ้างว่าไม่มีเงิน ครั้งแรกอ้างว่าจะจ่ายเช็คให้วันที่ 24 มีนาคม 2532 พอถึงกำหนดก็ผิดนัด ต่อมาวันที่25 มีนาคม 2532 โจทก์ขอเลื่อนวันสั่งจ่ายเงินจำนวน4,375,000 บาท จากภายในวันที่ 20 เมษายน 2532 ไปภายในวันที่ 30 เมษายน 2532 โจทก์ไม่สามารถชำระเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน2,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน จำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2532 จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามแผนผังจำลองและระวางรูปถ่ายทางอากาศหมายเลข4746 แผ่นที่ 112 ตามผัง ก. ข. และค. ตั้งอยู่หมู่ที่ 2ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ350 ไร่ ในราคาไร่ละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 17,500,000 บาทโดยการผ่อนชำระราคาเป็นงวด ปรากฏตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ต่อมา จำเลยทั้งสองโอนที่ดินให้โจทก์ 2 แปลงรวมเนื้อที่ดิน 4 ไร่ 2 งาน 51 ตารางวา ส่วนการชำระเงินค่าซื้อที่ดินพิพาทงวดที่ 1 ซึ่งต้องชำระภายในวันที่ 20 เมษายน 2532โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2532 ให้เลื่อนไปวันที่ 30 เมษายน 2532 ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.2 (หรือ ล.12)วันที่ 2 เมษายน 2532 จำเลยทั้งสองมอบให้ทนายความบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายโดยอ้างว่าโจทก์ไม่ชำระเงินค่าซื้อที่ดินงวดที่ 1ตามเอกสารหมาย จ.4 (หรือ ล.10) วันที่ 17 เมษายน 2532 โจทก์มีหนังสือถึงนายอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ อ้างว่าจำเลยทั้งสองไม่ขายที่ดินให้ตามสัญญา วันที่ 22 พฤษภาคม 2532จำเลยทั้งสองมอบให้ทนายความมีหนังสือให้โจทก์นำเงินค่าที่ดินงวดที่ 1 ไปชำระภายใน 7 วัน มิฉะนั้น จำเลยทั้งสองจะเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยทั้งหมดตามเอกสารหมาย ล.3วันที่ 23 พฤษภาคม 2532 โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองตาม เอกสารหมาย จ.7 คดีมีปัญหาว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองมีสิทธิริบเงินมัดจำได้ตามสัญญาข้อ 7 ซึ่งระบุว่า”หากผู้จะซื้อผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้ขายริบเงินมัดจำนั้นทั้งหมด” มีปัญหาว่า โจทก์ได้วางเงินมัดจำไว้เป็นจำนวนเท่าไร ในข้อนี้ตามสัญญาไม่ปรากฏข้อความชัดเจนว่าเงินจำนวนใดเป็นเงินมัดจำ จำเป็นต้องพิเคราะห์ถึงความหมายของเงินมัดจำ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377บัญญัติว่า “เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้วอนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย” ถ้อยคำที่กฎหมายบัญญัติว่า “เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ” แสดงความหมายของมัดจำว่า จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ในวันทำสัญญานั้นเองไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ในวันอื่นนอกจากวันทำสัญญาดังจะเห็นได้จากผลของมัดจำตามมาตรา 378 นั้นว่าถ้าผู้รับมัดจำเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องส่งคืนมัดจำ แต่ถ้าผู้วางมัดจำผิดสัญญา ผู้รับมัดจำมีสิทธิริบมัดจำ ฉะนั้นตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 3 ที่ระบุข้อความว่า “ในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้ชำระเงินสดจำนวน 200,000 บาท และในวันที่ 20 มีนาคม2532 อีกจำนวน 3,300,000 บาท” เงินสดจำนวน 200,000 บาทซึ่งโจทก์ได้ให้จำเลยทั้งสองยึดเป็นประกันเท่านั้นที่เป็นเงินมัดจำส่วนเงินจำนวน 3,300,000 บาท ซึ่งจะมีการชำระในวันที่20 มีนาคม 2532 หลังวันทำสัญญานานถึง 14 วันนั้น ไม่ใช่เงินมัดจำตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 แต่เป็นเพียงการชำระราคาค่าที่ดินพิพาทบางส่วนล่วงหน้าซึ่งจะชำระภายหลังวันทำสัญญาเท่านั้น เมื่อได้ความว่า จำเลยทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 (หรือ ล.10)ถึงโจทก์เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2532 ก่อนวันที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.7 นับแต่วันนั้นโจทก์และจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ซึ่งบัญญัติว่า”เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมแต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืน ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้” ฉะนั้นเมื่อฟังข้อเท็จจริงได้ว่าเงินจำนวน 3,300,000 บาท ซึ่งโจทก์มอบให้จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่20 มีนาคม 2532 เป็นเงินค่าที่ดินบางส่วนล่วงหน้าไม่ใช่เงินมัดจำจำเลยทั้งสองก็มีหน้าที่ต้องคืนให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตั้งแต่เวลาที่รับเงินไว้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินมัดจำซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ต้องคืนให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนโจทก์ซึ่งได้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสองก็ต้องโอนคืนให้จำเลยทั้งสองเฉพาะที่ดินตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งยังมีชื่อทางทะเบียนเป็นของโจทก์จำนวน 2 ไร่ 1 งาน 02 ตารางวาสำหรับที่ดินตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งโจทก์ให้นางจงกลนีบุคคลภายนอกเป็นผู้รับโอนจากจำเลยทั้งสองจำนวน 2 ไร่ 1 งาน49 ตารางวา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2532 นั้น โจทก์คงมีหน้าที่ต้องชดใช้ราคาที่ดินให้จำเลยทั้งสองแทนเพื่อไม่ให้เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งรับโอนที่ดินไปโดยสุจริต ส่วนราคาที่ดินนั้น โจทก์ตอบคำถามติงของทนายโจทก์ว่า ขณะจำเลยทั้งสองโอนมาให้โจทก์นั้นราคาแปลงละ 300,000 บาท ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์คือนายวีระชัย เชื่อมั่นนางสบสุข เจือศรีกุล ที่เบิกความว่า ปัจจุบันที่ดินพิพาท 1 ไร่ราคาประมาณ 100,000 บาท เมื่อคำนึงถึงราคาที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ในวันที่ 6 มีนาคม 2532 ราคาเพียงไร่ละ50,000 บาท แล้วไม่น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 รับซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาในราคา 2,000,000 บาท หรือราคาไร่ละประมาณ500,000 บาท ดังคำอ้าง ฟังได้ว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าที่ดินพิพาทจำนวน 2 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวาซึ่งได้โอนให้บุคคลภายนอกไปแล้วจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 21 มีนาคม 2532 อันเป็นวันที่โจทก์ให้นางจงกลนีบุคคลภายนอกรับโอนที่ดินฎีกาโจทก์ฟังขึ้นเพียงบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าที่ดินล่วงหน้าจำนวน 3,300,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 20 มีนาคม 2532 ให้โจทก์คืนที่ดินโฉนดเลขที่ 8256 ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตองจังหวัดเชียงใหม่ และชดใช้เงินค่าที่ดินโฉนดเลขที่ 5255ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ราคา 300,000 บาทให้จำเลยทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่21 มีนาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share