คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5239/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทของ ย. และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ย.โดยอ้างเหตุว่าย.ผิดสัญญาเช่าซื้อแล้วถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาโจทก์ที่ 1 บอกเลิกสัญญาต่อจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของ ย. แล้วขอให้บังคับจำเลยทั้งสามคืนรถที่เช่าซื้อหรือชำระราคา จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ รถที่เช่าซื้อเจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้ยึดไว้จำเลยทั้งสามจึงคืนให้ไม่ได้ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะหรือไม่ ย. และจำเลยทั้งสามผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาเช่าซื้อไม่เป็นโมฆะและ ย. และฝ่ายจำเลยทั้งสามไม่ได้ผิดสัญญาแล้วก็ชอบที่จะยกฟ้องของโจทก์ที่ 1 การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสามได้ตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้วย่อมเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกจำเลยสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ และเรียกโจทก์สำนวนหลังว่าจำเลยที่ 1
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2532นายเย็นทำสัญญาเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ขนาดเล็กจากโจทก์ที่ 1จำนวน 1 คัน ในราคา 237,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญาแล้ว60,000 บาท ค้างชำระจำนวน 177,000 บาท ต้องชำระให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม 2533 ยอมให้คิดดอกเบี้ยในเงินที่ค้างในอัตราร้อยละ3 บาทต่อเดือน นายเย็นชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 แล้ว เมื่อวันที่18 ธันวาคม 2532 จำนวน 90,000 บาท เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2533จำนวน 10,000 บาท เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2533 จำนวน 50,000 บาทเมื่อครบกำหนดแล้วนายเย็นไม่ชำระเงินและค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1ตามสัญญาเป็นการผิดนัด ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2533 นายเย็นถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 2 ที่ 3ในฐานะทายาทของนายเย็นกลับนำรถแทรกเตอร์ไปขายให้ผู้มีชื่อเป็นการผิดสัญญา โจทก์ที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อจำเลยทั้งสามแล้ว ขอให้บังคับจำเลยคืนรถแทรกเตอร์ยี่ห้อฟอร์ด สีฟ้าหมายเลขเครื่อง อาร์ดี 015912 บี 5 แก่โจทก์ที่ 1 หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 237,000 บาท
จำเลยทั้งสามให้การว่า รถแทรกเตอร์ที่โจทก์ที่ 1 นำมาให้นายเย็นเช่าซื้อตามสัญญานั้นเป็นรถที่ไม่มีทะเบียนยังไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ สัญญาเช่าซื้อตามฟ้องจึงเป็นโมฆะรถแทรกเตอร์ดังกล่าวเจ้าพนักงานตำรวจยึดเอาไป จำเลยทั้งสามจึงไม่สามารถส่งคืนให้โจทก์ที่ 1 ได้ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1
สำนวนหลังจำเลยที่ 1 ฟ้องว่า นายเย็นทำสัญญาเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ ยี่ห้อฟอร์ด จำนวน 1 คัน จากโจทก์ที่ 1 ในราคา237,000 บาท ชำระเงินแล้ว 210,000 บาท ต่อมานายเย็นถึงแก่กรรม ปรากฏว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ที่ 1 ยังไม่ได้รับโอนทะเบียนรถแทรกเตอร์มาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1สัญญาเช่าซื้อย่อมเป็นโมฆะ โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ที่ 3ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องร่วมกันรับผิดคืนเงินแก่จำเลยที่ 1ขอให้บังคับโจทก์ทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า ขณะนายเย็นทำสัญญาเช่าซื้อนั้น รถแทรกเตอร์เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1ซื้อมาจากโจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 3 ซื้อมาจากบริษัทสหการอุปกรณ์จำกัด สัญญาเช่าซื้อไม่เป็นโมฆะ โจทก์ที่ 1 จดทะเบียนเลิกห้างแล้วจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องผู้เป็นหุ้นส่วนของโจทก์ที่ 1 ให้รับผิดขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ขอถอนฟ้องโจทก์ที่ 2ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าคดีที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องจำเลยทั้งสาม คู่ความไม่ได้อุทธรณ์นั้นไม่ถูกต้อง เพราะอุทธรณ์ที่นายอนัน สุวรรณราช ทนายจำเลยที่ 1เป็นผู้ลงลายมือชื่ออุทธรณ์แทนจำเลยที่ 1 นั้น ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า คู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้วนั้นว่า ฝ่ายจำเลยยังไม่ได้ตกลงเลิกสัญญาอันเป็นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องจำเลยทั้งสามนั่นเอง ประกอบกับศาลชั้นต้นเพิ่งยกปัญหาข้อนี้ขึ้นมาวินิจฉัยในคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ไม่สามารถยกปัญหาข้อนี้ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยที่ 1จึงมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่วินิจฉัยตามประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1อุทธรณ์ในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ที่ 1 กับพวกและข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้น เป็นการพิพากษาคดีที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบด้วยมาตรา 246เพราะไม่ได้วินิจฉัยตามประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ และเป็นประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้ยกขึ้นวินิจฉัยไว้โดยตรง ดังนี้เป็นกรณีที่ปรากฏเหตุต่อศาลฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาชอบที่ศาลฎีกาจะยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เสียแต่เห็นสมควรวินิจฉัยคดีให้ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาใหม่
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าฝ่ายจำเลยไม่มีเจตนาเลิกสัญญานั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1ฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทของนายเย็น และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเย็นโดยอ้างเหตุว่านายเย็นผิดสัญญาเช่าซื้อแล้วถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา โจทก์ที่ 1 บอกเลิกสัญญาต่อจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของนายเย็นแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามคืนรถแทรกเตอร์ที่เช่าซื้อหรือชำระราคา จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับคู่สัญญาต้องคืนสู่สภาพเดิมรถแทรกเตอร์ที่เช่าซื้อเจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้ยึดไว้จำเลยทั้งสามจึงคืนให้ไม่ได้ ดังนั้นประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะหรือไม่ นายเย็นและจำเลยทั้งสามผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่เท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาเช่าซื้อไม่เป็นโมฆะและนายเย็นและฝ่ายจำเลยทั้งสามไม่ได้ผิดสัญญาแล้วก็ชอบที่จะยกฟ้องของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 เสีย ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสามได้ตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายแล้วย่อมเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคำฟ้องและคำให้การ ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยยกคำวินิจฉัยในส่วนนี้เสียยืนในผลที่ให้ยกฟ้อง โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ฉะนั้นจึงไม่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ฝ่ายจำเลยได้ตกลงเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 1 โดยปริยายแล้วหรือไม่”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยยกคำวินิจฉัยเฉพาะในส่วนที่ได้วินิจฉัยว่า”ทั้งสองฝ่ายได้เลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ฝ่ายจำเลยต้องคืนรถที่เช่าซื้อแก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ต้องคืนค่าเช่าซื้อแก่ฝ่ายจำเลย แต่ฝ่ายจำเลยได้ใช้รถที่เช่าซื้อตลอดมาต้องใช้ค่าใช้รถที่เช่าซื้อแก่โจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 1 ได้รับค่าเช่าซื้อมาพอสมควรแล้ว จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องใช้เงินแก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ได้รับรถที่ให้เช่าซื้อคืนมาแล้ว จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องคืนหรือใช้ราคารถที่เช่าซื้อแก่โจทก์ที่ 1 อีก” นั้นเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share