แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการที่ ส. นำรถยนต์ที่จำเลยเช่าซื้อไปใช้ในการกระทำความผิด แต่เหตุที่รถยนต์คันดังกล่าวถูกยึดก็เนื่องจากจำเลยให้ ส. ยืมไปอันเป็นความผิดของจำเลยเอง หาใช่เกิดจากการกระทำของฝ่ายโจทก์ไม่ จำเลยจะอ้างการที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากถูกพนักงานสอบสวนยึดมาเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อหาได้ไม่สัญญาเช่าซื้อยังไม่ระงับ จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อ ให้แก่โจทก์จนกว่าครบถ้วนตามสัญญาหรือมีการบอกเลิกสัญญาโดยชอบ สัญญาเช่าซื้อกำหนดดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าเช่าซื้อที่ผิดนัดค้างชำระในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี แต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างผิดนัดเท่านั้น หามีสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไม่โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันและยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในฐานะลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์รวม 7 งวดแล้วผิดนัดไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 8 ตลอดมาเกินกว่า 2 งวดโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและรับรถยนต์กลับคืนมา การผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คือค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเป็นเวลา 11 เดือน 3 วัน เป็นเงิน86,375 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง 59,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 59,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้ผิดสัญญา พนักงานสอบสวนยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อไปโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอาญา จำเลยที่ 1ได้แจ้งแก่โจทก์แล้วว่า หากโจทก์ไม่ดำเนินการรับรถยนต์มาคืนให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็จะไม่ชำระค่าเช่าซื้ออีกต่อไปโจทก์นำรถยนต์มาคืนให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1จะไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการที่นายสมคิดนำรถยนต์ที่จำเลยที่ 1เช่าซื้อไปใช้ในการกระทำความผิดก็ตาม แต่เหตุที่รถยนต์คันดังกล่าวถูกยึดก็เนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ให้นายสมคิดยืมรถยนต์คันนั้นไป อันเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 เอง หาใช่เกิดจากการกระทำของฝ่ายโจทก์ไม่ ในกรณีเช่นนี้จำเลยที่ 1จะอ้างการที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้รถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากถูกพนักงานสอบสวนยึด เป็นการผิดวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 มาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อหาได้ไม่ สัญญาเช่าซื้อยังไม่ระงับจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์จนกว่าจะครบถ้วนตามสัญญาหรือมีการบอกเลิกสัญญานั้นโดยชอบ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ นับตั้งแต่วันที่ 4กันยายน 2526 จนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2527 อันเป็นวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 เช่นนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายซึ่งโจทก์ขอคิดเพียง 59,000 บาทแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าหลังจากที่รถยนต์ถูกยึดแล้ว โจทก์ในฐานะเจ้าของรถยนต์ไม่ไปติดต่อขอรับคืน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้น คดีได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจตรีชาติพงษ์พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นพยานจำเลยเองว่าเมื่อจำเลยที่ 1มาติดต่อขอรับรถยนต์คืนนั้น ร้อยตำรวจตรีชาติพงษ์ไม่คืนให้เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ แต่แนะนำให้จำเลยที่ 1นำหนังสือมอบฉันทะจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรถมาขอรับรถยนต์คืนจำเลยที่ 1 ได้ทำตามที่ร้อยตำรวจตรีชาติพงษ์แนะนำเมื่อร้อยตำรวจตรีชาติพงษ์เสนอเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาก็ได้รับแจ้งให้รอฟังคำสั่งศาลว่าจะคืนให้หรือไม่ก่อน ดังนั้นจะเห็นว่าโจทก์ได้ดำเนินการเพื่อขอรับรถยนต์คืนแล้วแต่พนักงานสอบสวนยังไม่คืนให้เอง คงมีปัญหาต่อไปว่าโจทก์สมควรได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีหรือไม่ เห็นว่าแม้หนังสือสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 8 จะกำหนดค่าดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าเช่าซื้อที่ผิดนัดค้างชำระในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีก็ตามแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างจำเลยผิดนัดเท่านั้นหามีสิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไม่ โจทก์จึงมีสิทธิคิดเป็นดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 59,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์