คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1804/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงอัตราวันละ 1,883.08 บาท ขัดกับเอกสารและคำรับของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ กรณีต้องฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าจ้างเดือนละ 40,800 บาท อันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสามหมายถึงสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตั้งแต่แรกเมื่อเข้าทำสัญญากันว่าตกลงจ้างมีกำหนดระยะเวลานานเท่าใดเมื่อครบกำหนดระยะเวลานั้นแล้วก็จะไม่มีการจ้างกันต่อไปอีก นอกจากจำเลยทั้งสองตกลงจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลา15 เดือนแล้ว ยังมีข้อความต่อไปอีกว่า “และสามารถต่ออายุสัญญาได้โดยการตกลงร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของโครงการ” ดังนี้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 15 เดือนแล้ว หากงานตามโครงการของจำเลยทั้งสองยังมีความต้องการจ้างโจทก์ต่อไปอีก จำเลยทั้งสองและโจทก์สามารถตกลงต่ออายุสัญญาคือขยายระยะเวลาการจ้างต่อไปอีกได้ งานตามโครงการของจำเลยทั้งสองจะหมดความจำเป็นที่จะจ้างโจทก์เมื่อใดไม่อาจกำหนดระยะเวลาให้แน่นอนลงไปได้การจ้างจะมีกำหนดระยะเวลานานเท่าใดจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของโครงการซึ่งอาจมีต่อไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดความจำเป็นการที่สัญญาดังกล่าวจะได้กำหนดระยะเวลาการจ้างช่วงแรกไว้เป็นเวลา 15 เดือน ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสาม อันจะทำให้จำเลยทั้งสองได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เมื่อเลิกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2537 จำเลยทั้งสองว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประสานงานได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายชั่วโมงละ 235,385 บาท โดยทำงานวันละ8 ชั่วโมง โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 1,883.08 บาท ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย90 วัน เป็นเงิน 169,477.20 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองไม่ยอมจ่ายให้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยจำนวน169,477.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเนื่องจากจำเลยทั้งสองจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยด้านเอกสารการนำเข้าประจำโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันที่จำเลยทั้งสองประมูลได้โดยโจทก์มีหน้าที่ในการตรวจสอบ บันทึกและยื่นเอกสารการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ งานที่โจทก์ทำมีลักษณะเป็นงานครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานไม่เกิน 2 ปีกล่าวคือ เมื่อจำเลยทั้งสองนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการก่อสร้างจากต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว งานที่จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์ทำก็จะเสร็จสิ้น และจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นหนังสือตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนนอกจากนี้งานที่จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์ทำก็เป็นงานในโครงการสร้างโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นงานในโครงการเฉพาะไม่ใช่งานปกติของธุรกิจจำเลย ทั้งเป็นงานที่มีระยะเวลาเริ่มต้นกับเวลาสิ้นสุดของงานที่แน่นอน และสัญญาจ้างโจทก์ได้กำหนดค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นรายเดือนเดือนละ 40,800 บาท หากโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยก็ไม่เกิน 122,400 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยจำนวน 169,477.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2537 จำเลยทั้งสองว่าจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประสานงานโดยทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือตามเอกสารหมาย ล.1 มีกำหนดระยะเวลาจ้าง 15 เดือนจำเลยทั้งสองและโจทก์ตกลงทำสัญญาเป็นหนังสือขยายระยะเวลาจ้างต่อไปอีก 6 เดือน ตามเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาจ้างในวันที่ 21 พฤษภาคม 2539 แต่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 ก่อนครบกำหนดตามสัญญา โดยจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ไปจนถึงวันครบกำหนดตามสัญญาจ้างเป็นเวลา 51 วัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ข้อแรกว่าที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงอัตราวันละ 1,883.08 บาท นั้น ขัดกับเอกสารและคำรับของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ กรณีต้องฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าจ้างเดือนละ 40,800 บาท เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ว่าสัญญาจ้างระหว่างจำเลยทั้งสองกับโจทก์เป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนหรือไม่นั้น เห็นว่า สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสาม หมายถึง สัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ตั้งแต่แรกเมื่อเข้าทำสัญญากันว่าตกลงจ้างมีกำหนดระยะเวลานานเท่าใด เมื่อครบกำหนดระยะเวลานั้นแล้วก็จะไม่มีการจ้างกันต่อไปอีก แต่สัญญาจ้างตามเอกสารหมาย ล.1นอกจากจำเลยทั้งสองตกลงจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลา15 เดือนแล้ว ยังมีข้อความต่อไปอีกว่า “และสามารถต่ออายุสัญญาได้โดยการตกลงร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของโครงการ”จากข้อความดังกล่าวเห็นได้ว่าเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 15 เดือนแล้วหากงานตามโครงการของจำเลยทั้งสองยังมีความต้องการจ้างโจทก์ต่อไปอีก จำเลยทั้งสองและโจทก์สามารถตกลงต่ออายุสัญญาคือขยายระยะเวลาการจ้างต่อไปอีกได้ งานตามโครงการของจำเลยทั้งสองจะหมดความจำเป็นที่จะจ้างโจทก์เมื่อใดไม่อาจกำหนดระยะเวลาให้แน่นอนลงไปได้ การจ้างจะมีกำหนดระยะเวลานานเท่าใดจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของโครงการซึ่งอาจมีต่อไปได้เรื่อย ๆจนกว่าจะหมดความจำเป็น เมื่อสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.1มีข้อความให้เห็นได้ดังกล่าวแล้วแม้สัญญาดังกล่าวจะกำหนดระยะเวลาการจ้างช่วงแรกไว้เป็นเวลา 15 เดือน ก็ถือไม่ได้ว่าสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.1 เป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา การจ้างไว้แน่นอน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสาม อันจะทำให้จำเลยทั้งสองได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เมื่อเลิกจ้าง ด้วยเหตุนี้เมื่อจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์
พิพากษายืน

Share