คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4712/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เรียกค่าดำเนินการสำหรับการจะเข้ามารับงานก่อสร้างสถานีเครือข่ายโทรคมนาคมของจำเลยที่ 1 จากนาย ณ. พนักงานบริษัท ท. ให้แก่บริษัท ค. ซึ่งจะเข้ามาประมูลงานก่อสร้างจากจำเลยที่ 1 และได้จัดส่งราคากลางแล้วยืนยันแนวโน้มจะได้รับงานจากจำเลยที่ 1 เป็นการอาศัยตำแหน่งความเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แอบอ้างเรียกเอาผลประโยชน์จากบุคคลภายนอกให้แก่บริษัท ค. การกระทำดังกล่าวแม้ว่าจะเพื่อให้มีบุคคลภายนอกเข้ามาประมูลงานหรือร่วมงานกับจำเลยที่ 1 แต่ก็ทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจได้ว่าการจะเข้ามาร่วมงานกับจำเลยที่ 1 จะต้องมีการวิ่งเต้นเสียเงินตอบแทนทำให้จำเลยที่ 1 เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และอาจทำให้บุคคลภายนอกที่เข้าใจว่าจะต้องเสียเงินเป็นค่าดำเนินการและไม่เข้ามาร่วมงานกับจำเลยที่ 1 ได้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจของบริษัท ค. อันอาจมีผลกระทบเสียหายถึงผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4), 67
สำหรับค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น แม้ว่าโจทก์จะฟ้องเรียกอ้างว่าเป็นค่าเสียหายแต่ก็เป็นการเรียกให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบซึ่งตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 บัญญัติให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนแล้วให้เป็นนิติบุคคล และตามมาตรา 23 บัญญัติให้เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้าง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดำเนินการให้แก่จำเลยที่ 1 คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ดังนั้น ผู้จัดการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงมีหน้าที่จ่ายเงินให้ลูกจ้าง จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 5,683,789.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชย 235,920 บาท เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของนายจ้างและผลประโยชน์สมทบที่จำเลยที่ 1 รับแทนโจทก์ไปเป็นเงิน 54,148.45 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 11,796 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ร้อยละ 7.5 ต่อปี และร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสามจำนวนตามลำดับ นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งวิศวกรส่วน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 29,490 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันศุกร์สิ้นเดือน และตามข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่า นายเกรียงฤทธิ์ประธานกรรมการจัดซื้อและจัดจ้างของจำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ว่าในปี 2549 บริษัทดีแทค จำกัด จะจ้างจำเลยที่ 1 สร้างสถานีเครือข่ายโทรคมนาคมจำนวนมาก จำเลยที่ 1 จึงประสงค์จะจ้างบริษัทอื่นเข้ามาเป็นผู้รับเหมาในการก่อสร้างโดยวิธีเสนอประมูลงาน ให้โจทก์ช่วยหาผู้รับเหมามาประมูลงาน โจทก์จึงเจรจากับนายสุภอัฒน์หรือศุภอรรถหรือจิตร กรรมการบริษัทคอร์คลับ จำกัด ซึ่งเคยรู้จักกับโจทก์มาก่อน นายสุภอัฒน์แสดงความสนใจที่จะเข้าประมูลงานด้วย แต่นายสุภอัฒน์ไม่ประสงค์จะก่อสร้างงานเองแต่ต้องการเพียงประมูลให้ได้งานแล้วจ้างบริษัทอื่นเป็นผู้ก่อสร้างแทน โดยบริษัทอื่นนั้นจะเข้ามาก่อสร้างในนามของบริษัทคอร์คลับ จำกัด แต่ต้องเสียค่าดำเนินการให้แก่บริษัทคอร์คลับ จำกัด อัตราร้อยละ 7 ของราคางานที่ได้ทำ โจทก์จึงแจ้งเงื่อนไขดังกล่าวให้นางสาวภาริดาวิศวกรขายส่วนของจำเลยที่ 1 ให้ช่วยหาบริษัทที่ประสงค์จะเข้ามาก่อสร้างให้แก่บริษัทคอร์คลับ จำกัด นางสาวภาริดาจึงติดต่อไปยังนายณัฐนันท์พนักงานบริษัทคอนซิสเทลจำกัด นายณัฐนันท์ขอทราบราคากลาง นางสาวภาริดาจึงแจ้งโจทก์ โจทก์ได้ขอราคากลางของปี 2548 จากนายสุภอัฒน์ที่เพื่อนของนายสุภอัฒน์เคยได้รับจากจำเลยที่ 1 ให้นางสาวภาริดาส่งให้แก่นายณัฐนันท์ โดยโจทก์ได้สอบถามนายเกรียงฤทธิ์แล้วว่าราคากลางดังกล่าวเป็นของบุคคลภายนอกจึงไม่เสียหายหากจะส่งให้นายณัฐนันท์ ต่อมานายณัฐนันท์ได้โทรศัพท์คุยกับโจทก์จึงทราบว่าหากบริษัทคอนซิสเทล จำกัด เข้ามารับงานก่อสร้างจะต้องเสียค่าใช้จ่ายร้อยละ 7 ของราคาก่อสร้าง และโจทก์ยืนยันโอกาสที่จะได้รับงาน ต่อมาจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องการเสียค่าดำเนินการดังกล่าวจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนและได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์เพราะฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง เลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประการเดียวว่า การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์ทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจได้ว่าการเข้ามาทำงานให้จำเลยที่ 1 จะต้องมีการวิ่งเต้นเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 1 จึงเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการไม่รักษาความลับและชื่อเสียงของบริษัท จงใจทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 กรณีร้ายแรง เห็นว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เรียกค่าดำเนินการสำหรับการจะเข้ามารับงานก่อสร้างสถานีเครือข่ายโทรคมนาคมของจำเลยที่ 1 จากนายณัฐนันท์พนักงานบริษัทคอนซิสเทล จำกัด ให้แก่บริษัทคอร์คลับ จำกัด ซึ่งจะเข้ามาประมูลงานก่อสร้างจากจำเลยที่ 1 และได้จัดส่งราคากลางแล้วยืนยันแนวโน้มจะได้รับงานจากจำเลยที่ 1 เป็นการอาศัยตำแหน่งความเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แอบอ้างเรียกเอาผลประโยชน์จากบุคคลภายนอกให้แก่บริษัทคอร์คลับ จำกัด การกระทำดังกล่าวแม้ว่าจะเพื่อให้มีบุคคลภายนอกเข้ามาประมูลงานหรือร่วมงานกับจำเลยที่ 1 แต่ก็ทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจได้ว่าการจะเข้ามาร่วมงานกับจำเลยที่ 1 จะต้องมีการวิ่งเต้นเสียเงินตอบแทนทำให้จำเลยที่ 1 เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และอาจทำให้บุคคลภายนอกที่เข้าใจว่าจะต้องเสียเงินเป็นค่าดำเนินการและไม่เข้ามาร่วมงานกับจำเลยที่ 1 ได้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจของบริษัทคอร์คลับ จำกัด อันอาจมีผลกระทบกระเทือนเสียหายถึงผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหมวดที่ 10 วินัยและมาตรการทางวินัย ข้อ 40.4.4 อันเป็นกรณีร้ายแรงซึ่งโจทก์อาจถูกเลิกจ้างได้โดยไม่ได้รับค่าชดเชยตาม ข้อ 53.1.1 และตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์และเมื่อเป็นกรณีเลิกจ้างโดยลูกจ้างมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 สำหรับค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น แม้ว่าโจทก์จะฟ้องเรียกอ้างว่าเป็นค่าเสียหายแต่ก็เป็นการเรียกให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบซึ่งตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 มาตรา 7 บัญญัติให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนแล้วให้เป็นนิติบุคคล และตามมาตรา 23 บัญญัติให้เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้าง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดำเนินการให้แก่จำเลยที่ 1 คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกษียณมั่นคง ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ดังนั้น ผู้จัดการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกษียณมั่นคง ซึ่งจดทะเบียนแล้วจึงมีหน้าที่จ่ายเงินให้ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกษียณมั่นคงซึ่งจดทะเบียนแล้วได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด.

Share