คำวินิจฉัยที่ 70/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องโรงเรียนของรัฐซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองกับพวกรวม ๓ คน ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันปลูกสร้างอาคารเรียน ๒ ชั้น โดยอาคารด้านทิศตะวันตกปลูกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้ร่วมกันรื้อถอน เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ราชพัสดุตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้าง กรณีจึงเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินพิพาทเป็นสำคัญ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๐/๒๕๕๙

วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๘ นายวิญญา การดี ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง โรงเรียนเมืองจากวิทยา ที่ ๑ สำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๗ ที่ ๒ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๗/๒๕๕๘ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๑๘๐ ตำบลโนนอุดม อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ดิน ๑ งาน ๗๑ ตารางวา โดยได้รับการยกให้มาจากมารดา ต่อมาในเดือนเมษายน ๒๕๕๘ ผู้ฟ้องคดีได้เข้าตรวจสอบที่ดินดังกล่าว ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ร่วมกันปลูกสร้างอาคารเรียน ๒ ชั้น จำนวน ๑ หลัง ด้านทิศตะวันตกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รื้อถอนอาคารเรียนพิพาทภายใน ๓๐ วัน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกเฉย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายไม่สามารถเข้าทำกินและใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันรื้อถอนอาคารเรียนที่พิพาทภายใน ๓๐ วัน หากไม่ปฏิบัติขอให้สั่งให้บุคคลภายนอกดำเนินการรื้อถอนโดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันเสียค่าใช้จ่าย
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่ดินโรงเรียนเมืองจากวิทยาได้มาโดยราษฎรบริจาคและขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลข นม ๙๙๙ ตำบลเมืองยาง อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ก่อนที่จะมีการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๑๘๐ ของผู้ฟ้องคดี อาคารเรียนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้ปลูกสร้างบนที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันก่อสร้างอาคารเรียนทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๑๘๐ ตำบลโนนอุดม อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ ๑ งาน ๗๑ ตารางวา โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันรื้อถอนอาคารเรียนที่พิพาท ภายใน ๓๐ วัน หากไม่ปฏิบัติขอให้สั่งให้บุคคลภายนอกดำเนินการรื้อถอนโดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันเสียค่าใช้จ่าย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งการพิจารณาคดีนี้ มีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันก่อสร้างอาคารเรียนบนที่ดินพิพาทเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ หากเป็นละเมิดผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามต้องรื้อถอนอาคารเรียนพิพาทหรือไม่ เพียงใด และแม้จะมีกรณีที่ศาลจำต้องวินิจฉัยก่อนว่าที่ดินในส่วนที่ใช้ก่อสร้างอาคารเรียนพิพาทตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใดก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นย่อยประเด็นหนึ่งในคดีเท่านั้น และแม้ว่าการพิจารณาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใดอีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้นมาใช้บังคับคดี หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับกับคดีได้ จึงเห็นได้ว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นหลักของคดีนี้เป็นเรื่องที่คู่ความโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ราชพัสดุ ศาลจึงต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาต่อไปได้ว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และจะต้องรื้อถอนอาคารออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่อย่างไร ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งกฎหมายอื่น อีกทั้งต้องพิจารณาถึงสิทธิและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ตลอดจนพยานหลักฐานเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่มีการนำไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ร่วมกันปลูกสร้างอาคารเรียน ๒ ชั้น ซึ่งอาคารด้านทิศตะวันตกปลูกทับที่ดินในโฉนดเลขที่ ๗๑๘๐ ตำบลโนนอุดม อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา ของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอม ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือบอกกล่าวให้รื้อถอนอาคารเรียนพิพาทแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกเฉย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันรื้อถอนอาคารเรียนที่พิพาทหากไม่ปฏิบัติขอให้สั่งบุคคลภายนอกดำเนินการรื้อถอนโดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันเสียค่าใช้จ่าย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาทได้มาโดยราษฎรบริจาคและขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุก่อนที่จะมีการออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามก่อสร้างอาคารโรงเรียนเมืองจากวิทยาทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีและขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ร่วมกันรื้อถอนอาคารเรียนที่พิพาทก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดีนั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ราชพัสดุ กรณีจึงเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายวิญญา การดี ผู้ฟ้องคดี โรงเรียนเมืองจากวิทยา ที่ ๑ สำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๗ ที่ ๒ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share