คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15968/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สำนักงานประกันสังคม (จำเลย) ยึดถือปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ด้วยการประกาศท้องที่และรายชื่อสถานพยาบาลประจำปีในราชกิจจานุเบกษาและดำเนินการให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิพิจารณาเลือกสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานทางการแพทย์เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ไว้ได้หนึ่งแห่งจากรายชื่อนั้น หากผู้ประกันตนต้องการเปลี่ยนสถานพยาบาลในภายหลังก็ทำได้ กำหนดอัตราขั้นสูงของค่าบริการทางการแพทย์ ประเภทยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค โดยระบบจัดเก็บเงินอยู่ในรูปไตรภาคีที่ผู้ประกันตน นายจ้าง รัฐบาลร่วมกันจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม อันเป็นการมุ่งประสงค์เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนควบคู่ไปกับประสิทธิผลของการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ในกรณีที่ผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินและมีความจำเป็นทำให้ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้ (ตามที่ผู้ประกันตนเลือก) สำนักงานประกันสังคมต้องจ่ายเงินเป็นค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลงวันที่ 11 เมษายน 2548 ข้อ 3 ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ไม่ถึงขนาดเป็นการจำกัดเสรีภาพของผู้ประกันตนในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน คณะกรรมการการแพทย์ออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 15 (2), 59, 63 ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉบับนี้จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลใช้บังคับได้
การที่โจทก์เข้ารับการตรวจรักษาจากสถานพยาบาลตามสิทธิในวันที่ 2 มกราคม 2551 แต่ยังคงมีอาการเจ็บปวด ต่อมาในวันที่ 3 มกราคม 2551 โจทก์ได้โทรศัพท์ขอนัดทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาล อ. ซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาลตามสิทธิและไปถึงโรงพยาบาลเวลา 7.31 นาฬิกา ได้รับการผ่าตัดเวลา 19.15 นาฬิกา แพทย์ที่ทำการผ่าตัดให้ยอมรับว่าแม้โจทก์ไม่ได้รับการผ่าตัดริดสีดวงทวารในวันและเวลาดังกล่าวก็ไม่มีผลอันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตและการที่โจทก์ไปให้แพทย์โรงพยาบาล อ. ผ่าตัดเย็บแผลผ่าตัดริดสีดวงทวารเดิมที่ปริออกทำให้เลือดซึมออกมาเพราะแผลไม่แห้งสนิทอันเป็นผลจากการเข้ารับการผ่าตัดครั้งแรก แพทย์ไม่ได้ผ่าตัดเย็บแผลเดิมใหม่ให้ทันที แต่กลับรอดูอาการถึงกว่า 1 วัน ก่อนแล้วจึงผ่าตัดเย็บแผลให้ใหม่อีกครั้ง แสดงว่าไม่ใช่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และโจทก์ไม่ได้แจ้งให้สถานพยาบาลตามสิทธิทราบหรือเดินทางไปเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิเพราะมีความต้องการให้โรงพยาบาล อ. ทำการรักษาให้ต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอรับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดอุบลราชธานี ที่ อบ 00252/587 และที่ อบ 00252/588 ลงวันที่ 29 มกราคม 2551 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1692/2551 ลงวันที่ 19 กันยายน 2551 และให้จ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จำนวน 23,975 บาท และจำนวน 22,402 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 3 พิพากษายกฟ้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลแรงงานภาค 3 และทางนำสืบของโจทก์กับจำเลยที่รับกันและไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทโตโยต้าดีเยี่ยม จำกัด ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นผู้ประกันตนซึ่งมีการจัดส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจนเกิดสิทธิประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 โรงพยาบาลราชเวชอุบลราชธานีเป็นสถานพยาบาลตามสิทธิของโจทก์ โจทก์เข้ารับบริการทางการแพทย์กับสถานพยาบาลตามสิทธิแห่งนี้ด้วยโรคริดสีดวงทวารรวม 3 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 แพทย์ตรวจพบว่าโจทก์เป็นโรคดังกล่าว สั่งยาให้ไปรับประทาน ให้ยาไปสอดทวารหนัก แนะนำให้รับประทานอาหารย่อยง่าย งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และพักผ่อนให้เพียงพอ ครั้งที่สองวันที่ 21 สิงหาคม 2549 แพทย์ทำการดันริดสีดวงที่ยื่นออกมาเข้าไปในทวารหนัก ให้การรักษาและคำแนะนำเหมือนเดิม และครั้งที่สามวันที่ 2 มกราคม 2551 แพทย์ดันริดสีดวงเข้าไปในทวารหนัก ให้การรักษาและคำแนะนำเหมือนเดิม มีเพิ่มเติมในส่วนให้แช่ก้นในน้ำอุ่น และออกหนังสือรับรองให้หยุดงาน 2 วัน หลังจากรับการตรวจรักษาครั้งที่สามโจทก์กลับบ้าน แต่ยังคงมีอาการปวดและมีเมือกไหลออกจากทวารหนัก รุ่งเช้าของวันที่ 3 มกราคม 2551 โจทก์โทรศัพท์นัดหมายขอให้แพทย์โรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรีผ่าตัดริดสีดวงทวารให้แล้วเดินทางไปพบแพทย์ตามนัดหมายในช่วงเช้าของวันนั้นเอง แพทย์ตรวจดูอาการ ฉีดยาและให้ยารับประทานบรรเทาอาการปวด สั่งงดอาหารและน้ำกับเสียบสายให้น้ำเกลือเพื่อรอดูอาการและเตรียมความพร้อมก่อนทำการผ่าตัด วันเดียวกันเวลาประมาณ 19 นาฬิกา โจทก์ได้รับการผ่าตัดริดสีดวงทวาร แพทย์ที่ทำการผ่าตัดให้ความเห็นว่าหากโจทก์ไม่ได้รับการผ่าตัดตามวันเวลาดังกล่าว โจทก์ก็ยังไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต โจทก์พักฟื้นหลังผ่าตัดถึงวันที่ 5 มกราคม 2551 จึงออกจากโรงพยาบาล โจทก์จ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรีครั้งนี้ไป 23,975 บาท แพทย์นัดตรวจผลการรักษาในวันที่ 12 มกราคม 2551 แต่ปรากฏว่าวันที่ 9 มกราคม 2551 เวลาประมาณ 21.54 นาฬิกา โจทก์ขับถ่ายมีเลือดออกมากและรู้สึกอ่อนเพลีย จึงไปพบแพทย์ของโรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรี แพทย์เสียบสายให้น้ำเกลือ สั่งงดอาหารและน้ำและเจาะเลือด ผลการตรวจเลือดมีค่าปกติ วันที่ 10 มกราคม 2551 แพทย์ที่ทำการผ่าตัดคนเดิมได้ตรวจดูแผลผ่าตัด พบมีเลือดซึม รักษาด้วยการใช้ผ้าปิดแผล ให้ยาปฏิชีวนะ ให้นอนพักรอดูอาการ แต่เลือดยังคงซึมออกจากแผลผ่าตัดที่เย็บไว้เดิม จึงทำการผ่าตัดเย็บแผลบริเวณดังกล่าวให้อีกครั้งในวันดังกล่าว ครั้งหลังโจทก์จ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรีไปอีก 22,402 บาท ระหว่างเข้ารับบริการทางการแพทย์ทั้งสองครั้งโจทก์ไม่ได้แจ้งให้สถานพยาบาลตามสิทธิทราบ แล้ววินิจฉัยว่า เป็นกรณีที่โจทก์สมัครใจให้แพทย์โรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรีทำการผ่าตัดให้ และการผ่าตัดครั้งหลังสืบเนื่องจากการผ่าตัดครั้งแรก ซึ่งทั้งสองครั้งไม่ใช่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และไม่มีเหตุสมควรที่จะเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรี ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 และมาตรา 63 ประกอบประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ดังนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลย
ปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายและเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิขอรับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากสำนักงานประกันสังคมเมื่อไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลอื่นที่ไม่ใช่สถานพยาบาลตามสิทธิในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินขัดต่อความสงบเรียบร้อยและพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 วรรคสาม ใช้บังคับไม่ได้ เนื่องจากจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ให้ผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลอื่นโดยเฉพาะที่ให้บริการและรักษาดีกว่า ทั้งเป็นช่องว่างให้สถานพยาบาลตามสิทธิทำการรักษาโดยไม่ได้มาตรฐาน นั้น เห็นว่า ระบบการจัดบริการทางการแพทย์ที่สำนักงานประกันสังคมยึดถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 คือการจัดให้มีสถานพยาบาลซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมโดยเลขาธิการจะได้ประกาศท้องที่และรายชื่อสถานพยาบาลประจำปีในราชกิจจานุเบกษา และสำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิพิจารณาเลือกสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานทางการแพทย์เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ไว้ได้หนึ่งแห่งตามรายชื่อดังกล่าว โดยจะต้องเป็นสถานพยาบาลที่อยู่ในเขตจังหวัดท้องที่หรือเขตจังหวัดรอยต่อที่ผู้ประกันตนทำงานประจำหรือพักอาศัยอยู่จริง หากผู้ประกันตนต้องการเปลี่ยนสถานพยาบาลในภายหลังก็ทำได้โดยยื่นคำขอต่อสำนักงานประกันสังคม ทั้งนี้ยังคงอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าเป็นสถานพยาบาลในเขตจังหวัดท้องที่หรือเขตจังหวัดรอยต่อที่ทำงานอยู่หรือพักอาศัยอยู่จริง นอกจากนี้ยังได้กำหนดอัตราขั้นสูงของค่าจัดบริการทางการแพทย์ ประเภทยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคไว้ และระบบการจัดเก็บเงินทำในรูปไตรภาคีที่ผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาลร่วมกันจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม การจัดเก็บเงินสมทบจำต้องกำหนดให้เหมาะสม การดำเนินการในเรื่องระบบจัดการบริการทางการแพทย์นี้มุ่งประสงค์เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนควบคู่ไปกับประสิทธิผลของการบริการจัดการกองทุนประกันสังคม ดังนั้น ผู้ประกันตนที่ได้ใช้สิทธิเลือกสถานพยาบาลตามสิทธิไว้แล้วตั้งแต่แรกย่อมผูกพันว่าจะได้รับประโยชน์ทดแทนค่าบริการทางการแพทย์เมื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิ อย่างไรก็ตามกรณีที่ผู้ประกันตนจำเป็นต้องได้รับบริการทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉิน กล่าวคือประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยโรคหรืออาการของโรคซึ่งเกิดขึ้นโดยเฉียบพลันที่มีลักษณะรุนแรงอันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเป็นการด่วน และจำเป็นต้องรับการบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลอื่น ก็จำเป็นที่ต้องจัดให้มีการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เป็นเงินให้แก่ผู้ประกันตนได้ตามสมควร รายละเอียดของการจัดบริการทางการแพทย์ดังกล่าวถูกนำไปกำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ได้ประกาศ ณ วันที่ 11 เมษายน 2548 ซึ่งข้อ 3. ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินอันมิใช่เนื่องจากการทำงานและมีความจำเป็นทำให้ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดให้สำหรับผู้ประกันตนนั้น เมื่อผู้ประกันตนได้เข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลอื่น ให้สำนักงานจ่ายเงินเป็นค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์แล้วแต่กรณี เช่นนี้ นับว่าข้อกำหนดตามประกาศฉบับดังกล่าวไม่ถึงขนาดเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ประกันตนในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน นอกจากนี้ในการออกประกาศฉบับดังกล่าวคณะกรรมการการแพทย์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 (2) มาตรา 59 และมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งมาตรา 15 (2) บัญญัติให้คณะกรรมการการแพทย์มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในการรับบริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตนตามมาตรา 59 และมาตรา 63 ไว้ด้วย และในส่วนของมาตรา 59 วรรคสาม ได้บัญญัติรองรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการแพทย์ว่า ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ที่ต้องจ่ายให้แก่สถานพยาบาลอื่นนั้น ตามจำนวนที่สำนักงานกำหนด โดยคำนึงถึงสภาพของการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย การคลอดบุตร สภาพเศรฐกิจของแต่ละเขตท้องที่ และลักษณะของการบริการทางการแพทย์ที่ได้รับ ทั้งนี้ จะต้องไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ประกอบกับมาตรา 63 บัญญัติว่า ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานได้แก่ (1) ค่าตรวจวินิจฉัยโรค (6) ค่าบริการอื่นที่จำเป็น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ดังนั้น คณะกรรมการการแพทย์จึงมีอำนาจออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการทางการแพทย์ที่จะจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินและมีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลอื่นได้ ประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 วรรคสาม และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงใช้บังคับได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อมาว่า การที่โจทก์เข้ารับบริการทางการแพทย์นอกเหนือจากสถานพยาบาลตามสิทธิจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 และมาตรา 63 ประกอบประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ได้ประกาศ ณ วันที่ 11 เมษายน 2548 ข้อ 2 และข้อ 3 สิทธิของผู้ประกันตนที่จะขอรับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ที่ได้จ่ายให้แก่สถานพยาบาลอื่นที่ไม่ใช่สถานพยาบาลตามสิทธิที่เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา มีได้ในกรณีที่ผู้ประกันตนเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งการเจ็บป่วยฉุกเฉินหมายถึงโรคหรืออาการของโรคซึ่งเกิดขึ้นโดยเฉียบพลันที่มีลักษณะรุนแรงอันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเป็นการด่วน ข้อเท็จจริงคดีนี้มีว่า วันที่ 2 มกราคม 2551 โจทก์เข้ารับการตรวจรักษาจากสถานพยาบาลตามสิทธิ แต่เมื่อกลับถึงบ้านโจทก์ยังคงมีอาการเจ็บปวดขณะเบ่งขับถ่ายเนื่องจากริดสีดวงทวารยื่นออกมาด้านนอกทวารหนัก และมีเมือกไหลออกมาจากทวารหนัก โจทก์ตัดสินใจไม่กลับไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลตามสิทธิอีกเพราะแพทย์ที่โรงพยาบาลดังกล่าวไม่ยอมผ่าตัดให้ รุ่งเช้าของวันที่ 3 มกราคม 2551 โจทก์ได้โทรศัพท์ขอนัดทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรีซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาลตามสิทธิที่สำนักงานประกันสังคมประกาศในราชกิจจานุเบกษา และไปถึงโรงพยาบาลแห่งนี้เวลาประมาณ 7.31 นาฬิกา แต่กลับไม่ได้รับการผ่าตัดทันที การผ่าตัดมีขึ้นเวลาประมาณ 19.15 นาฬิกา แพทย์ที่ทำการผ่าตัดให้ก็ยอมรับว่าแม้โจทก์ไม่ได้รับการผ่าตัดริดสีดวงทวารในวันและเวลาดังกล่าวก็ไม่มีผลอันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต นับว่าอาการโรคริดสีดวงทวารขณะนั้นของโจทก์ไม่ได้เกิดขึ้นโดยเฉียบพลันรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหากไม่ได้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นการด่วน จึงไม่ใช่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ประกอบกับตลอดเวลานับแต่ติดต่อกำหนดนัดหมายขอทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรีจนกระทั่งก่อนได้รับการผ่าตัดโจทก์ไม่ได้แจ้งให้สถานพยาบาลตามสิทธิทราบเพื่อให้สถานพยาบาลตามสิทธิพิจารณาเรื่องการรักษาต่อไปทั้งที่โจทก์ยังคงมีสติสัมปชัญญะรู้ตัว อันเป็นเหตุผลที่แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์รับบริการทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลตามสิทธิ เช่นเดียวกับการที่โจทก์ไปให้แพทย์โรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรีผ่าตัดเย็บแผลผ่าตัดริดสีดวงทวารเดิมที่ปริออกทำให้มีเลือดซึมออกมาเพราะแผลไม่แห้งสนิทอันเป็นผลจากการเข้ารับการผ่าตัดครั้งแรกดังกล่าว แพทย์ไม่ได้ผ่าตัดเย็บแผลเดิมใหม่ให้ทันที แต่กลับรอดูอาการถึงกว่าหนึ่งวันก่อนแล้วค่อยทำการผ่าตัดเย็บแผลให้ใหม่อีกครั้ง แสดงว่าไม่ใช่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และโจทก์ก็ไม่ได้แจ้งให้สถานพยาบาลตามสิทธิทราบหรือเดินทางไปเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิแต่อย่างใดเพราะมีความต้องการให้โรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรีทำการรักษาให้ต่อไป ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอรับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลย คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดอุบลราชธานีและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ชอบแล้ว ไม่มีเหตุเพิกถอน ที่ศาลแรงงานภาค 3 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share