แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เดิมศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทไว้ 2 ข้อ ต่อมาได้กำหนดประเด็นพิพาทเพิ่มว่า โจทก์ฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่ดินพิพาทเกิน 1 ปี นับแต่จำเลยครอบครองหรือไม่ โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าคำให้การของจำเลยไม่มีประเด็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ขอให้เพิกถอนประเด็นที่กำหนดเพิ่ม ถือว่าโจทก์ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่กำหนดประเด็นพิพาทเพิ่มแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งคำร้อง ว่าไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงประเด็นพิพาทซึ่งกำหนดไว้แล้ว ให้ยกคำร้องโจทก์ก็ไม่จำต้องโต้แย้งคำสั่งในตอนหลังนี้อีก โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยซื้อมาจากผู้อื่นแม้จะต่อสู้ด้วยว่า โจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ก็ไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะมีขึ้นได้แต่เฉพาะที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทในเรื่องนี้จึงไม่ชอบ และแม้ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบต้องห้ามฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินเนื้อที่85 ไร่ ตั้งอยู่ตำบลหนองกุ่ม อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรีทิศเหนือยาวประมาณ 495 เมตร จดที่ดินเจ้ง้อ ทิศตะวันออกยาวประมาณ 300 เมตร จดที่ดินนายขื่อ ทิศใต้ยาวประมาณ 366 เมตรจดที่ดินนายโฝ ทิศตะวันตกยาวประมาณ 300 เมตร จดที่ดินเจ้ง้อ โดยโจทก์ซื้อจากนายสนุ่ม วิริยาลัย เมื่อวันที่29 กันยายน 2520 โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2532ถึงเดือนธันวาคม 2532 จำเลยได้ให้คนงานเข้าไปปลุกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินโจทก์ดังกล่าวโดยอ้างว่าได้ซื้อจากโจทก์แล้ว โจทก์ไม่เคยขายที่ดินดังกล่าว จึงแจ้งให้จำเลยและคนงานออกจากที่ดินโจทก์พร้อมทั้งรื้อถอนต้นยูคาลิปตัสออกไป จำเลยและคนงานได้ออกจากที่ดินโจทก์แล้วแต่ไม่ยอมรื้อถอนต้นยูคาลิปตัส ทำให้โจทก์เสียหาย ไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ขอคิดค่าเสียหาย50,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนขนย้ายต้นยูคาลิปตัสออกไปจากที่ดินโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าจำเลยสละกรรมสิทธิ์ในต้นยูคาลิปตัสโดยโจทก์เป็นผู้รื้อถอนและให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 50,000 บาทและค่าเสียหายอีกเดือนละ 10,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนต้นยูคาลิปตัสออกจากที่ดินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ระหว่างปี 2530 ถึงปี 2531 จำเลยได้ซื้อที่ดินบริเวณตำบลหนองกุ่ม อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรีจากผู้ครอบครองที่ดินหลายคนรวมทั้งนางซิ่วง้อ วิริยาลัย และนายท้วง นาคแท้ รวมเนื้อที่ประมาณ 570 ไร่ ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่จำเลยซื้อมาดังกล่าว ซึ่งได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วผู้ขายได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลยจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาประมาณ3 ปี โจทก์ไม่เคยทักท้วงหรือโต้แย้งสิทธิจำเลยและไม่เคยแจ้งให้จำเลยรื้อถอนต้นยูคาลิปตัส โจทก์มิใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ค่าเสียหายหากมีไม่เกิน 8,500 บาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทว่า1. โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ 2. โจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใด 3. โจทก์ฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่ดินพิพาทเกิน1 ปี นับแต่จำเลยครอบครองหรือไม่
โจทก์ยื่นคำร้องว่า คำให้การจำเลยไม่มีประเด็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ขอให้เพิกถอนประเด็นพิพาทข้อ 3
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องและวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้ฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่าโจทก์ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่กำหนดประเด็นว่าโจทก์ฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่ดินพิพาทเกิน 1 ปี นับแต่จำเลยครอบครองไว้โดยชอบแล้วหรือไม่หากโจทก์ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้แล้ว คดีมีประเด็นดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่าเดิมศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทไว้2 ข้อ ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2534 ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทใหม่โดยเพิ่มประเด็นข้อ 3 ว่า โจทก์ฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่ดินพิพาทกัน 1 ปี นับแต่จำเลยครอบครอบหรือไม่โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นตามคำร้องลงวันที่7 มีนาคม 2534 ว่าคำให้การของจำเลยไม่มีประเด็นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1375 ขอให้เพิกถอนประเด็นข้อ3 ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่กำหนดประเด็นพิพาทข้อ 3 เพิ่มขึ้นใหม่แล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งคำร้องดังกล่าวว่าไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงประเด็นพิพาทซึ่งกำหนดไว้แล้ว ให้ยกคำร้อง โจทก์ก็ไม่จำต้องโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นในตอนหลังนี้อีก ส่วนปัญหาว่าคดีมีประเด็นว่าโจทก์ฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่ดินพิพาทเกิน 1 ปี นับแต่จำเลยครอบครองหรือไม่นั้นเห็นว่าโจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยซื้อมาจากผู้อื่นแม้จำเลยจะต่อสู้ด้วยว่า โจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ก็ไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 13754 เพราะการแย่งการครอบครองจะมีขึ้นได้แต่เฉพาะที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อจำเลยมิได้ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แต่จำเลยแย่งการครอบครองมา จำเลยก็ไม่อาจอ้างสิทธิตามมาตรา 1375 ได้ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทในเรื่องนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และมาตรา 183แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คดีคงมีประเด็นพิพาทเพียงว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ และโจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใด ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่กรณีจึงน่าเชื่อตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า นายท้วงผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 12 ได้รวบรวมที่ดินของชาวบ้านรวมทั้งที่ดินพิพาทของโจทก์ไปขายให้แก่จำเลยโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์จำเลยผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิดีไปกว่านายท้วงผู้โอน โจทก์ยังคงมีสิทธิครอบครองที่พิพาท ส่วนประเด็นเรื่องค่าเสียหายนั้น เมื่อคดีฟังได้แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ การที่จำเลยเอาต้นยูคาลิปตัสไปปลูกในที่ดินดังกล่าว โดยโจทก์ไม่รู้เห็นยินยอมย่อมทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของตนได้จากทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่รกร้างว่างเปล่า โจทก์ได้จ้างรถแทรกเตอร์มาไถปรับสภาพที่ดินแล้วปลูกมันสำปะหลัง ถั่วเขียว และพืชผลแต่ไม่ได้ปลูกเต็มเนื้อที่และปลูกทุกปี หากปีไหนแล้งก็ไม่ปลูก ในปีที่มีการปลูกมันสำปะหลังก็ปรากฏว่าโจทก์เคยเก็บมันสำปะหลังได้ประมาณ 20 กว่าตันราคาตันละ 500 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 10,000 บาทเศษเท่านั้น ซึ่งเป็นรายได้ที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายในการปลูกมันสำปะหลัง ประกอบกับที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาทเอกสารหมายจล.1 ก็มีเนื้อที่ประมาณ 75 ไร่ มิใช่ 85 ไร่ตามฟ้อง ดังนั้นที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ขาดประโยชน์เนื่องจากไม่สามารถปลูกพืชผลในที่ดินพิพาทคิดเป็นเงินปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท จึงขอคิดค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนดังกล่าวนั้น จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นับแต่วันที่จำเลยบุกรุกที่ดินพิพาทจนถึงวันฟ้องซึ่งเป็นเวลาประมาณ 1 ปีเป็นเงิน 20,000 บาท กับค่าเสียหายรายเดือนอีกเดือนละ 2,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายต้นยูคาลิปตัสออกไปจากที่ดินพิพาทและเมื่อกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือน อันเป็นค่าเสียหายในอนาคตแล้ว ก็ไม่กำหนดดอกเบี้ยในค่าเสียหายดังกล่าวให้อีกเพราะจะเป็นการซ้ำซ้อนกัน ส่วนการรื้อถอนและขนย้ายต้นยูคาลิปตัสของจำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่าหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล โจทก์อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ ได้อยู่แล้วโจทก์จะขอรื้อถอนเองโดยให้ศาลบังคับให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับให้จำเลยรื้อถอนและขนย้ายต้นยูคาลิปตัสออกไปจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายต้นยูคาลิปตัสออกไปจากที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก