คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 179/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องกับจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่คนละอำเภอต่างจังหวัดกัน ผู้ร้องย่อมไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยเอารถจักรยานยนต์ของกลาง ไปกระทำผิดเมื่อใด และที่พยานผู้ร้องเบิกความว่า หากจำเลยนำ ค่าเช่าซื้อมาชำระก็จะรับและให้เช่าซื้อต่อไปก็เป็นเรื่องที่ ผู้ร้องไม่ใช้สิทธิเลิกสัญญาแม้จำเลยจะนำรถไปกระทำความผิด เท่านั้นกรณีไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิด ของจำเลย ต้องคืนรถของกลางแก่ผู้ร้อง.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยฐานลักทรัพย์และริบรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน กาญจนบุรี ฉ – 9742ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้องจำเลยเป็นผู้เช่าซื้อ ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ขอให้คืนรถจักรยานยนต์แก่ผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางที่แท้จริงและผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้น มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้คืนรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนกาญจนบุรี ฉ – 9742 ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฏาคม 2532 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไปจากผู้ร้องในราคา 47,120 บาท ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา8,000 บาท ที่เหลือจำเลยต้องผ่อนชำระอีก 30 งวด งวดละเดือนตามสัญญาเอกสารหมาย ร.4 จำเลยยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ โดยชำระได้เพียง 4 งวด แล้วไม่ชำระอีกเลย ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม 2532จำเลยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางดังกล่าวเป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมรถจักรยานยนต์ของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพ วันที่ 31 มกราคม 2533ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยและริบรถจักรยานยนต์ของกลางครั้นวันที่ 6 มีนาคม 2533 ผู้ร้องก็มายื่นคำร้องคดีนี้ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นว่าตามสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางยังคงเป็นของผู้ร้องอยู่ คงมีปัญหาว่าผู้ร้องได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลยหรือไม่ ได้ความว่าผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี คนละอำเภอต่างจังหวัดกัน ผู้ร้องย่อมไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยจะเอารถจักรยานยนต์ของกลางไปกระทำผิดเมื่อใดถือไม่ได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยในข้อที่โจทก์ฎีกาว่าพยานผู้ร้องเบิกความว่า หากจำเลยนำค่าเช่าซื้อมาชำระก็จะรับและให้เช่าซื้อต่อไป แสดงว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ แม้จำเลยจะนำรถไปกระทำความผิดนั้น ก็เป็นเรื่องผู้ร้องไม่ใช้สิทธิเลิกสัญญาเท่านั้น ไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share