คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 31/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ. และ ป. ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นประจักษ์พยานโจทก์เป็นพยานคู่กันแต่กลับเบิกความแตกต่างกันในสาระสำคัญ หลังเกิดเหตุพ.ไปที่บ้านส.เมื่อส.สอบถามถึงเรื่องคนร้ายแต่พ.ก็ไม่ยอมบอก ทั้งได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจล่าช้าหลังจากเกิดเหตุ 8 วัน เหตุเกิดเวลากลางคืน ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากะทันหันโดย พ. และ ป. ไม่คิดมาก่อนว่าจะมีเหตุการณ์ เกิดขึ้น จึงไม่น่าเชื่อว่า พ. และ ป. เห็นจำเลยเป็นคนร้ายขณะเกิดเหตุพยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะฟังลงโทษจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืน 1 กระบอก และกระสุนปืนหลายนักไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืน กระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปแล้วใช้อาวุธปืนยิงฆ่านายประจญ โดยไตร่ตรองไว้ก่อนและพยายามฆ่านายเพชรกับนายประพงษ์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 80, 91, 288, 289, 371 ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8ทวิ, 72, 72ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7และริบหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดข้อหาฆ่านายประจญและพยายามฆ่านายเพชรโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4),289(4) ประกอบมาตรา 80, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิตซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษหนักที่สุดแล้ว จึงไม่จำต้องกำหนดโทษฐานอื่น ริบหัวกระสุนปืนของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ หัวกระสุนปืนของกลางคงให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว สำหรับความผิดข้อหาพยายามฆ่านายประพงษ์ น้อยบุดดี และความผิดข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองดดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุได้มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายประจญ โสพิลา และนายเพชร โสชนะ เป็นเหตุให้นายประจญถึงแก่ความตาย ส่วนนายเพชรได้รับอันตรายสาหัสต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจับกุมจำเลยมาดำเนินคดี มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีนายเพชรเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุเห็นจำเลยซึ่งเป็นคนรู้จักกันมาก่อนเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิ่งนายประจญและนายเพชรโดยขณะนั้นมีแสงตะเกียงและแสงจันทร์ทำให้มองเห็นหน้าคนร้ายได้ชัดเจน คำเบิกความของนายเพชรมีน้ำหนักที่จะรับฟังได้นั้นเห็นว่านายเพชรกับนายประพงษ์เป็นประจักษ์พยานคู่กัน พยานทั้งสองปากน่าจะเบิกความตรงกัน แต่นายประพงษ์กลับเบิกความว่า คืนวันเกิดเหตุเป็นคืนฟ้ามืดเพราะฝนจะตก และว่าคนร้ายที่ยิงนายประจญและนายเพชรแต่งกายสวมชุดไอ้โม่งเห็นเพียงวลูกตา พยานไม่ทราบว่าเป็นใคร คำเบิกความของนายเพชรและนายประพงษ์จึงแตกต่างกัน นอกจากนี้ที่นายเพชรเบิกความว่า เมื่อนายเพชรถูกยิงแล้วนายเพชรได้วิ่งหนีไปขอความช่วยเหลือที่บ้านนายสำราญ พบนางสมจิตร นางสมจิตรได้สอบถามถึงคนร้ายแต่นายเพชรไม่ยอมบอกเพราะกลังคนร้ายนจะตามไปฆ่านั้น เห็นว่า หากนายเพชรกลัวคนร้ายจริงก็ไม่มีเหตุผลที่นายเพชรจะต้องแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจในเวลาต่อมา ทั้งการแจ้งก็ล่าช้าหลังเกิดเหตุแล้วถึง 8 วัน จะว่านายเพชรถูกยิงจนพูดไม่ได้ก็ปรากฏว่านายเพชรถูกยิงที่เท้า แสดงว่า ขณะเกิดเหตุนายเพชรไม่ทราบว่าใครเป็นคนร้ายนจึงมิได้แจ้งให้ผู้ใดทราบ คำเบิกความของนายเพชรจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ว่า นายเพชรเห็นจำเลยเป็นคนร้ายในคืนเกิดเหตุจริงส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า นายประพงษ์ให้การในชั้นสอบสวนต่อพันตำรวจโทนิวัฒน์ ธงชัย รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าพนักงานสอบสวนยืนยันว่า นายประพงษ์เห็นคนร้ายว่าเป็นจำเลย หากนายประพงษ์มิได้ให้การแล้วพันตำรวจโทนิวัฒน์ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่คงไม่บันทึกไว้และมาเบิกความยืนยันว่านายประพงษ์ ให้การตามคำให้การที่ให้ไว้จึงน่าเชื่อว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของนายประพงษ์เป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาเห็นว่า ในชั้นพิจารณานายประพงษ์เบิกความยืนยันว่าไม่เคยให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าเห็นจำเลยเป็นคนร้ายเลย แต่เจ้าพนักงานตำรวจได้พิมพ์คำให้การมาให้พยานลงลายมือชื่อโดยไม่ได้อ่านให้ฟัง ประกอบกับนายสำราญ โสพิลา บิดาของผู้ตายเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุนายสำราญได้ทราบเรื่องราวจากนายประพงษ์ว่า จำเลยเป็นผู้ยิงผู้ตาย เห็นว่า หากนายประพงษ์เห็นจำเลยเป็นคนร้ายจริงทั้งกล้าแจ้งเรื่องที่เห็นดังกล่าวให้นายสำราญทราบก็น่าจะแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบในวันเกิดเหตุด้วยแต่กลับปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้จัดทำบันทึกคำให้การของนายประพงษ์ภายหลังเกิดเหตุ 12 วัน ทั้ง ๆ ที่ไม่ปรากฏว่านายประพงษ์หลบหนีไปอยูที่อื่น การได้มาซึ่งบันทึกคำให้การของนายประพงษ์จึงมีข้อพิรุธดังนั้นคำให้การในชั้นสอบสวนของนายประพงษ์จึงหามีน้ำหนักน่าเชื่อว่าเป็นความจริงยิ่งวกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาแต่อย่างใดไม่ เมื่อเหตุเกิดเป็นเวลากลางคืน ทั้งขณะเกิดเหตุเป็นเวลากะทันหันโดยนายเพชรและนายประพงษ์ไม่คิดมาก่อนว่าจะมีเหตัร้ายเกิดขึ้น ศาลฎีกาจึงไม่เชื่อว่านายเพชรและนายประพงษ์เห็นจำเลยเป็นคนร้ายขณะเกิดเหตุพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะฟังลงโทษจำเลยได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจตทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจตทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share