คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 285/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ฟ้องเรียกราคารถซึ่งใกล้เคียงกับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหากสูงเกินไปศาลมีอำนาจลดลงได้ตามจำนวนที่เห็นสมควร จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 1 งวด สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์จำเลยต้องเลิกกันทันทีโดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา เพราะข้อสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ตั้งแต่วันที่สัญญาเลิกกัน ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้ แต่ถ้าดอกเบี้ยสูงเกินส่วนศาลกำหนดให้ตามจำนวนที่เห็นสมควร.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ 1 คันราคา 335,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 53,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระ 40 งวด งวดละ 1 เดือน เดือนละ 7,050 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1ชำระค่าเช่าซื้อถึงงวดที่ 15 ก็ผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยใช้การได้ดีหากไม่ส่งคืนให้ใช้ราคา 174,546 บาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย180,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 6,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาให้แก่โจทก์ครบ
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถโจทก์มาได้15 เดือนแล้วได้แจ้งให้โจทก์เปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1เป็นผู้อื่น เป็นผู้เช่าซื้อกับโจทก์ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกัน จำเลยไม่มีภาระจะต้องรับผิดต่อโจทก์ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินควร จำเลยที่ 2 ไม่ได้ค้ำประกันหนี้เช่าซื้อของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพใช้การได้ดีด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 100,000 บาท และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 60,000 บาทกับค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาให้แก่โจทก์ ทั้งนี้ไม่เกิน 15 เดือน นับแต่วันฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 60,000 บาท นับแต่วันที่ 5 ธันวาคม2526 ซึ่งเป็นวันเลิกสัญญาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันชดใช้ราคารถยนต์ให้โจทก์เต็มจำนวนตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การกำหนดราคารถของโจทก์ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งคืนรถให้โจทก์ได้นั้น ศาลกำหนดราคาให้ได้ตามที่เห็นสมควร สำหรับคดีนี้ราคารถตามสัญญาเช่าซื้อระบุไว้เป็นเงิน 335,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อให้โจทก์รวมเป็นเงิน 158,750 บาท คงค้างอยู่เป็นเงิน176,250 บาท การที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ราคารถเป็นเงิน174,546 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจึงเป็นจำนวนเงินสูงเกินไป เพราะราคารถที่เช่าซื้อนั้นเป็นการคิดราคารถรวมทั้งค่าเช่าและดอกเบี้ยไว้ด้วย นอกจากนี้รถย่อมทรุดโทรมเสื่อมราคาไปเพราะการใช้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้ราคารถให้โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาทนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อแรกว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่วันที่ 5ธันวาคม 2526 เนื่องจากโจทก์เลิกสัญญาโดยมิได้บอกกล่าวจำเลยที่ 1 ล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 วรรคแรกพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 8ระบุว่า “เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดงวดหนึ่งงวดใด ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกทันทีโดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน…” ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมายดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 ซึ่งต้องชำระในวันที่ 5 ธันวาคม 2526 สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์จำเลยจึงต้องเลิกกันโดยข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม2526 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าเสียหาย 60,000 บาททั้งการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2526 ซึ่งเป็นวันเลิกสัญญาก็ไม่ชอบเพราะโจทก์ขอดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันฟ้อง พิเคราะห์แล้วสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 7 ระบุว่า “ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดี หรือผู้เช่าซื้อจะต้องชำระเงินใด ๆ แก่เจ้าของตามสัญญาประการใดก็ดี หรือผู้เช่าซื้อจะต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาประการใดประการหนึ่งก็ดีผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ค้างชำระและหรือค่าเสียหายนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี…” เห็นว่า เงินค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถนั้นเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาประการหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีได้ และข้อความในสัญญาข้อ 7 นี้ ถือได้ว่าเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์แล้ว ปรากฏว่าศาลล่างทั้งสองได้กำหนดค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์อันควรได้จากรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว ดอกเบี้ยของค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาตามสัญญาจึงสูงเกินส่วน เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1เสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2526ซึ่งเป็นวันเลิกสัญญาก็เป็นการพิพากษาเกินคำขอ เพราะโจทก์ขอดอกเบี้ยมานับแต่วันฟ้องฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น กรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรพิจารณาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1), 247″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 60,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share