แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้จำเลยที่3ได้เป็นโจทก์สำนวนหลังฟ้องขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่3เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่3แพ้คดีในสำนวนแรกและพิพากษายกฟ้องของจำเลยที่3ในสำนวนหลังจำเลยที่3ได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นทั้งสองสำนวนโดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในสำนวนหลังให้โจทก์ที่2ซึ่งเป็นจำเลยที่2ในสำนวนหลังร่วมกับโจทก์ที่1รับผิดต่อจำเลยที่3ด้วยดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่3และจัดส่งสำเนาอุทธรณ์ให้เฉพาะโจทก์ที่1โดยไม่ได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ที่2ซึ่งเป็นจำเลยอุทธรณ์ด้วยเพื่อแก้จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา235และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์ของจำเลยที่3พร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาและที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไปโดยมิได้มีคำสั่งให้แก้ไขเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาพิจารณาดังกล่าวเสียก่อนกับที่ศาลชั้นต้นไม่นัดให้โจทก์ที่2มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา243(2)ประกอบด้วยมาตรา247และต้องถือว่าข้อเท็จจริงที่จำเลยที่3ฎีกาต่อมายังมิได้ผ่านการพิจารณาและพิพากษาของศาลอุทธรณ์จำเลยที่3จึงยังไม่มีสิทธิที่จะฎีกา
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 สำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเรียกจำเลยที่ 3 สำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์สำนวนหลังว่า จำเลยที่ 3
สำนวนแรก โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดและเป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารปรับอากาศประจำทางหมายเลขทะเบียน 10-0333 ชุมพร โดยร่วมกิจการเดินรถโดยสารประจำทางกับโจทก์ที่ 2 ในเส้นทางระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดชุมพรระนอง และสุราษฎร์ธานี จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนายจ้างของนายชิงชัย สมบูรณ์ ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80-4139 ฉะเชิงเทรา ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยซึ่งทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนกับจำเลยที่ 1 เพื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกในเหตุวินาศภัยที่เกิดจากรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขับรถยนต์ประมาทชนรถยนต์โดยสารของโจทก์ที่ 12 เสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,178,930 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 734,520 บาท ตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลัง จำเลยที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนจำนวน 376,250 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 350,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 3
โจทก์ทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน550,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 เมษายน 2533) ตามที่โจทก์ขอเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 3ร่วมรับผิดในวงเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง สำหรับฟ้องโจทก์ในสำนวนหลังให้ยก
จำเลยที่ 3 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยที่ 3 ได้เป็นโจทก์สำนวนหลังฟ้องขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 3เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 3 แพ้คดีในสำนวนแรกและพิพากษายกฟ้องของจำเลยที่ 3 ในสำนวนหลัง จำเลยที่ 3 ได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นทั้งสองสำนวน โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในสำนวนหลังให้โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังร่วมกับโจทก์ที่ 1 รับผิดต่อจำเลยที่ 3 ด้วย ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และจัดส่งสำเนาอุทธรณ์ให้เฉพาะโจทก์ที่ 1 โดยไม่ได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยอุทธรณ์ด้วยเพื่อแก้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 235 และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 พร้อมสำเนาไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อพิจารณา และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาไปโดยมิได้มีคำสั่งให้แก้ไขเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาดังกล่าวเสียก่อนกับที่ศาลชั้นต้นไม่นัดให้โจทก์ที่ 2 มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) ประกอบด้วยมาตรา 247 และต้องถือว่าข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อมายังมิได้ผ่านการพิจารณาและพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยที่ 3จึงยังไม่มีสิทธิที่จะฎีกา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการจัดส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ที่ 2 แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีและยกฎีกาของจำเลยที่ 3