แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลักเกณฑ์การฎีกาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 (2) ประกอบมาตรา 183 ต้องแยกพิจารณาว่าเป็นการฎีกาเฉพาะส่วนเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กหรือฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานว่าไม่ได้กระทำผิด หากฎีกาเฉพาะส่วนเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต้องห้ามฎีกาเว้นแต่กำหนดเวลาฝึกอบรมเกินกว่าสามปี หรือกำหนดเวลาฝึกอบรมเป็นขั้นต่ำขั้นสูงและขั้นสูงเกินกว่าสามปี หากฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิด ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.อ. ซึ่งในกรณีศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงกำหนดให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมซึ่งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิเคราะห์ว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาได้ตามมาตรา 221 ซึ่งผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดหรือไม่เท่านั้น การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและยกคำร้อง จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยยกคำสั่งของศาลชั้นต้น และมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 276, 277, 283 ทวิ, 295, 317, 318, 358
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจและข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 277 วรรคหนึ่ง, 317 วรรคสาม, 319 วรรคหนึ่ง, 358 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 12 เดือน ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดาหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย 10 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 10 ปี ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจและฐานทำให้เสียทรัพย์ 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพสองฐานความผิดนี้เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 1 เดือน รวมจำคุก 2 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 18 ปี 14 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 (จังหวัดเชียงใหม่) มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 3 ปี 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ฐานทำให้เสียทรัพย์ ฐานพาบุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี กับพาเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร และฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ฎีกาจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนความผิดฐานที่จำเลยฎีกานั้นศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 277 วรรคหนึ่ง, 317 วรรคสาม, 319 วรรคหนึ่ง, 358 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานพรากผู้เยาว์อายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 4 ปี 12 เดือน ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 4 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารโดยเต็มใจ 10 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 10 ปี ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น และฐานทำให้เสียทรัพย์ 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 เดือน ลดโทษให้สองฐานนี้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 2 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 18 ปี 14 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 จังหวัดเชียงใหม่ มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 3 ปี 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา และศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ดังนี้จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมซึ่งมิใช่การลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 ต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองมิได้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และมาตรา 183 ที่จำเลยฎีกาเฉพาะว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุไม่เกินสิบห้าปีไปอนาจาร 2 กระทง ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร 10 กระทง และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี 2 กระทง ขอให้ยกฟ้องและหากฟังว่ากระทำความผิดขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบัญญัติดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อจำเลยยื่นฎีกา จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 7 กันยายน 2555 ต่อศาลชั้นต้นพร้อมคำฟ้องฎีกาเพื่อขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแต่ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องว่า “ศาลตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าคดีของจำเลยไม่ต้องห้ามฎีกาตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183 ประกอบมาตรา 180 (2) จึงให้ยกคำร้อง” และสั่งรับฎีกา ดังนี้เห็นว่า หลักเกณฑ์การฎีกาตามมาตรา 180 (2) ประกอบมาตรา 183 นั้นหมายถึง กรณีต้องแยกพิจารณาว่าเป็นการฎีกาเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็ก หรือฎีกาโต้แย้งดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานว่าไม่ได้กระทำผิด หากมีการฎีกาเกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน และมีการเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นฝึกอบรมที่กำหนดเวลาขั้นสูงเกินสามปีจะไม่ต้องห้ามฎีกา แต่หากฎีกาในข้อเท็จจริงว่าไม่ได้กระทำความผิด จำต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามที่ได้วินิจฉัยข้างต้น ดังนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีหรือลงชื่อในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิเคราะห์ว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาได้ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดหรือไม่เท่านั้น การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและยกคำร้อง จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลง และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และยกคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) และมาตรา 247 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นในคำร้องและคำฟ้องฎีกาลงวันที่ 10 กันยายน 2555 และให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งใหม่ตามรูปคดี