คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6252/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน…” สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยภาคสมัครใจมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ผู้คัดค้านจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดในวินาศภัยนั้น อนุญาโตตุลาการจึงมีสิทธิวินิจฉัยความรับผิดของผู้เอาประกันภัยต่อผู้ร้องได้ ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ผู้คัดค้านต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ตามชนิด ประเภท และขนาดของรถ พ.ศ.2554 ข้อ 3 (3) ที่ออกตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ให้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ในกรณีมีทายาทโดยธรรมหลายคน ก็ต้องแบ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทโดยธรรมครบทุกคน ดังนั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายแล้ว และยกคำร้องของผู้ร้อง จึงไม่ใช่คำพิพากษาที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นก็ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) (2) ที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้อง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนางแสงมอนกับนายซานดาว ซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติเมียนมา บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้ร้องจึงไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายซานดาว ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งอนุญาตให้นางแสงมอนทำนิติกรรมในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้าน โดยการนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการประนีประนอมยอมความก่อนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการและระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยแทนผู้ร้อง ผู้คัดค้านเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ส่วนบุคคลยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน กง 8273 พิจิตร ทั้งการประกันภัยภาคสมัครใจและประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยภาคสมัครใจ ผู้คัดค้านตกลงรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อบุคคลภายนอกกรณีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยเฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุด 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน ในแต่ละครั้ง ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ผู้คัดค้านตกลงรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีการเสียชีวิตจะจ่ายเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 200,000 บาท ต่อหนึ่งคน ในระหว่างอายุกรมธรรม์ประกันภัย นายกนกศักดิ์ ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน กง 8273 พิจิตร ที่ผู้คัดค้านเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน และยังเป็นผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอีกด้วย ไปตามถนนวงแหวนรอบสาม จากสี่แยกหลุยส์มุ่งหน้าสี่แยกท่ารั้ว เมื่อถึงที่เกิดเหตุ นายกนกศักดิ์จอดรถข้างทางเพื่อทำธุระส่วนตัวโดยเปิดประตูด้านคนขับอ้าทิ้งไว้ นายซานดาวขับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน งรษ เชียงใหม่ 400 เฉี่ยวชนประตูรถยนต์ที่นายกนกศักดิ์เปิดอ้าทิ้งไว้ทำให้รถจักรยานยนต์ไถลพุ่งเข้าไปในช่องเดินรถสวนเฉี่ยวชนรถกระบะยี่ห้อมาสด้า หมายเลขทะเบียน บพ 6665 เชียงใหม่ ที่แล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้นายซานดาว ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องยื่นเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย โดยกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศพผู้ตายเป็นเงิน 200,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะอีก 840,000 บาท แต่วงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจรวมกันเป็นเงิน 500,000 บาท ผู้คัดค้านชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องเพียง 267,500 บาท ขอให้ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอีก 232,500 บาท แก่ผู้ร้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ยื่นเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านชำระค่าปลงศพเป็นเงิน 35,000 บาท แก่นางแสงมอน ส่วนค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับ สำหรับค่าเสียหายส่วนที่เกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้นตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอีก 165,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยภาคสมัครใจอีก 300,000 บาท นั้น ต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน ให้แก่ บิดา มารดา และบุตรของนายซานดาว รายละ 155,000 บาท แต่เมื่อบิดาของนายซานดาวถึงแก่ความตายแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนคงมีเพียงผู้ร้องและมารดาของนายซานดาว ผู้คัดค้านชำระเงินส่วนของผู้ร้องอีก 232,500 บาท ให้แก่นางแสงมอนแล้ว ส่วนอีก 232,500 บาท ผู้คัดค้านจะชดใช้ให้แก่มารดาของนายซานดาว หากครบกำหนดเวลาของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยแล้ว ไม่มีผู้นำเอกสารมารับค่าเสียหายส่วนนี้ ผู้คัดค้านจะนำเงินเข้ากองทุนทดแทนผู้ประสบภัยต่อไป ผู้ร้องและผู้คัดค้านเลือกนายอำนวย เป็นอนุญาโตตุลาการ อนุญาโตตุลาการกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ผู้คัดค้านจะต้องชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับและตามกรมธรรม์ประกันภัยภาคสมัครใจแก่ผู้เสนอข้อพิพาทอีกหรือไม่ เพียงใด แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมาย อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า กรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต ผู้คัดค้านต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาท ต่อผู้เสียชีวิตหนึ่งราย หากผู้เสียชีวิตนั้นมีทายาทหลายคน ทายาทก็ต้องนำเงินดังกล่าวไปแบ่งปันกันหลังจากหักค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพผู้เสียชีวิตแล้ว สำหรับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพของผู้ประสบภัยนั้น กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 4.3 กำหนดให้เป็นจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท ต่อหนึ่งคน ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่ผู้ร้องแล้ว หากผู้ร้องได้จ่ายค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพของผู้ตายมากกว่า 35,000 บาท ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่เกินจำนวน 35,000 บาท จากผู้คัดค้าน โดยรวมกับเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท ต้องไม่เกิน 200,000 บาท ผู้ร้องอ้างว่าได้จ่ายค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพผู้ตาย เป็นเงิน 200,000 บาท แต่ถ้อยคำของนางแสงมอนไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้ร้องจ่ายค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพผู้ตายเป็นเงิน 200,000 บาท แต่ผู้คัดค้านไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ผู้ร้องเป็นเงิน 100,000 บาท เมื่อหักออกจากเงินค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับที่ผู้คัดค้านต้องรับผิดจำนวน 200,000 บาท คงเหลือเงินที่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายจะได้รับ 100,000 บาท ในคดีนี้ทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายมี 2 ลำดับ คือ ผู้ร้องและมารดาของผู้ตาย โดยแต่ละคนจะได้รับส่วนแบ่งคนละส่วนเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (1) (2) และมาตรา 1630 วรรคสอง ผู้เสนอข้อพิพาทจึงมีสิทธิได้รับเงินอีก 50,000 บาท จากเงินส่วนที่เหลือ รวมค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ร้องจะได้รับ 150,000 บาท นางแสงมอนอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ผู้ร้อง โดยไม่ปรากฏว่าผู้ตายจดทะเบียนว่าผู้ร้องเป็นบุตรและมิได้มีคำพิพากษาของศาลว่าผู้ร้องเป็นบุตรของผู้ตาย ทั้งภายหลังนางแสงมอนกับผู้ตายก็มิได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้ร้องจึงมิได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้คัดค้าน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อนุญาโตตุลาการเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนแรกจำนวน 100,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัยภาคสมัครใจ เมื่อรวมกับค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับอีก 150,000 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 250,000 บาท แต่ผู้คัดค้านได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องแล้ว 267,500 บาท จึงไม่ต้องชำระให้แก่ผู้ร้องอีก แล้ววินิจฉัยชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้อง ให้คู่พิพาทรับผิดชอบค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการและค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนการพิจารณาตามบัญชีแนบท้ายคำชี้ขาดฝ่ายละครึ่ง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน…” สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยภาคสมัครใจมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุนที่ผู้คัดค้านจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดในวินาศภัยนั้น อนุญาโตตุลาการจึงมีสิทธิวินิจฉัยความรับผิดของผู้เอาประกันภัยต่อผู้ร้องได้ ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ผู้คัดค้านต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ตามชนิด ประเภท และขนาดของรถ พ.ศ.2554 ข้อ 3 (3) ที่ออกตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ให้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ในกรณีมีทายาทโดยธรรมหลายคน ก็ต้องแบ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทโดยธรรมครบทุกคน ดังนั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายแล้ว และยกคำร้องของผู้ร้อง จึงไม่ใช่คำพิพากษาที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นก็ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) (2) ที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้อง
พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์ให้แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share