คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5563/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สมดังเจตนาของคู่พิพาทที่เลือกใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการแทนการนำข้อพิพาทไปฟ้องคดีต่อศาล จึงบัญญัติให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะได้รับการพิจารณาจากศาลเพียงชั้นเดียว ยกเว้นเป็นคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกรณีมาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงจะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์และแก้ไขอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยอาศัยสิทธิตามมาตรา 45 (1) และ (2) เพื่อให้ศาลฎีกาเพิกถอนคำชี้ขาดและปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงเป็นอุทธรณ์เกี่ยวกับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้น จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่มีบทนิยามหรือวิเคราะห์ศัพท์ของกฎหมายบัญญัติไว้จึงเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องใช้วิจารณญาณตามพฤติการณ์ของข้อพิพาทและกาลสมัยของคุณค่าสังคม โดยคำนึงถึงหลักการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ บริการสาธารณะ ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมโดยตรง มิใช่ผลประโยชน์ของคู่พิพาทโดยเฉพาะหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นต้น ดังนั้น การที่จะนำหลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาปรับใช้กับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดหรือคำสั่งหรือคำพิพากษาฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายต้องพิจารณาลักษณะข้อพิพาทให้สอดคล้องกับหลักดังกล่าวข้างต้นเป็นรายกรณีไป
การที่ผู้ร้องได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างให้แก่ธนาคาร ท. มีผลให้สิทธิเรียกร้องเงินค่าว่าจ้างดังกล่าวโอนไปยังธนาคาร ท. แล้ว เป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านชำระเงินตามสัญญาอีกตาม ป.พ.พ.มาตรา 306 หรือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ร้องกับธนาคาร ท. ไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 แต่เป็นเพียงสัญญาที่เป็นหลักประกันหนี้ที่ผู้ร้องเบิกเงินไปจากธนาคาร ท. เท่านั้นเป็นเหตุให้หนี้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังไม่ระงับ นั้น ต้องพิจารณาจากการแสดงเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาระหว่างผู้ร้องกับธนาคาร ท. ในการทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในพยานหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งปวง เมื่อทางปฏิบัติหลังจากทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันแล้ว ผู้ร้องยังคงเป็นผู้เรียกเก็บเงินจากผู้คัดค้าน หากผู้คัดค้านได้รับใบเรียกเก็บเงินจากผู้ร้อง ผู้คัดค้านจะสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ร้องไม่ใช่ธนาคาร ท. โดยผู้ร้องและธนาคารดังกล่าวจะไปรับเช็คพร้อมกันเพื่อนำเข้าบัญชีของผู้ร้อง แล้วธนาคารจะหักเงินจากบัญชีของผู้ร้องบางส่วนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของธนาคารโดยจะคืนส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ร้อง กับผู้ร้องเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้คัดค้าน แสดงว่าหลังจากทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันแล้ว ผู้คัดค้านยังคงชำระเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาพิพาทให้แก่ผู้ร้องมาโดยตลอดไม่เคยชำระให้แก่ธนาคาร ท. และธนาคารก็ไม่เคยทักท้วงไปยังผู้ร้องหรือผู้คัดค้าน ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการใช้อำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง แล้วนำไปปรับใช้กับข้อกำหนดในสัญญาหรือข้อกฎหมายแล้วมีคำวินิจฉัยว่า การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 แต่เป็นเพียงสัญญาที่เป็นหลักประกันหนี้ที่ผู้ร้องเบิกเงินไปจากธนาคาร ท. ซึ่งข้อพิพาทนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคู่พิพาทโดยเฉพาะเท่านั้น จึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อไม่ปรากฏว่าคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติกฎหมาย ศาลไม่อาจตรวจสอบการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนี้ซ้ำอีก การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งที่กฎหมายบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งไม่ว่าผู้ร้องจักมีคำขอหรือไม่ก็ตาม คำสั่งศาลต้องอยู่ในบังคับตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ที่กำหนดให้ศาลมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร จึงเป็นดุลพินิจของศาลโดยแท้มิใช่กรณีที่เมื่อผู้ร้องมิได้มีคำขอ ศาลต้องมีคำสั่งให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นพับสถานเดียว คดีนี้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอวางหลักประกันการงดการบังคับคดีจนต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าหลักประกันเพียงพอต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว ให้งดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (2) จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านมาขอให้งดการบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไว้ก่อน ถือได้ว่าเป็นกรณีขอให้งดการบังคับคดีทั่วไปซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งงดการบังคับคดีหรือไม่ก็ได้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีแล้ว ย่อมไม่อาจบังคับคดีกันอีกได้ในหนี้ทั้งหมดตามบทบัญญัติในภาค 4 ลักษณะ 2 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งการงดการบังคับคดีในกรณีตามบทบัญญัตินี้มิได้บัญญัติหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการงดการบังคับคดีไว้ หากศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรและหลักประกันเพียงพอต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษา ย่อมใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอออกหมายบังคับคดี (ในส่วนที่ศาลสั่งคืนหนังสือค้ำประกัน) ของผู้ร้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทนาแคป เอเชีย แปซิฟิก (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร้องในสำนวนแรกและเป็นผู้คัดค้านในสำนวนหลังว่าผู้ร้อง เรียกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้คัดค้านในสำนวนแรกและเป็นผู้ร้องในสำนวนหลังว่าผู้คัดค้าน
สำนวนแรกผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยให้ชำระเงินจำนวน 1,543,837,707.08 บาท และ 104,663,012.65 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,143,710,713.25 บาท และ 73,699,520.82 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง และให้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าว่าจ้างเพิ่มเติมและงานเปลี่ยนแปลงขอบเขตงานตามสัญญาเป็นเงิน 22,054,697.40 บาท และ 2,778,745.50 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับให้คืนหลักประกันการปฏิบัติงาน คือหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาหลักเลขที่ จี 2227004200700 และ จี 2227004200600 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 และหลักประกันเงินจ่ายล่วงหน้าเลขที่ จี 222700442271000 และ จี 22270042272000 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2548 แก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการหรือปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฉบับลงวันที่ 24 เมษายน 2557
สำนวนหลังผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฉบับลงวันที่ 24 เมษายน 2557
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 1,143,710,713.15 บาท และ 48,044,607.60 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ตามใบแจ้งแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องและให้ผู้คัดค้านคืนหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาแก่ผู้ร้อง ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการ และค่าป่วยการคณะอนุญาโตตุลาการให้เป็นไปตามบัญชีแนบท้ายคำชี้ขาดตามคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 38/2553 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 27/2557 หากหนี้จำนวนใดไม่เคยมีใบแจ้งหนี้ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2553 อันเป็นวันยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าที่ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท กับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 30,000 บาท คำขออื่นให้ยก ให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้เป็นพับ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอออกหมายบังคับคดี (ในส่วนที่ศาลสั่งคืนหนังสือค้ำประกัน) ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่าอุทธรณ์ของผู้คัดค้านและผู้ร้องเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน (3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (4) ผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งพิจารณาคดีนั้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา หรือ (5) เป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาท ตามมาตรา 16…”
พระราชบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สมดังเจตนาของคู่พิพาทที่เลือกใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการแทนการนำข้อพิพาทไปฟ้องคดีต่อศาล จึงบัญญัติให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะได้รับการพิจารณาจากศาลเพียงชั้นเดียว ยกเว้นเป็นคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกรณีมาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงจะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์และแก้ไขอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยอาศัยสิทธิตามมาตรา 45 (1) และ (2) เพื่อให้ศาลฎีกาเพิกถอนคำชี้ขาดและปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงเป็นอุทธรณ์เกี่ยวกับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้น จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่มีบทนิยามหรือวิเคราะห์ศัพท์ของกฎหมายบัญญัติไว้จึงเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องใช้วิจารณญาณตามพฤติการณ์ของข้อพิพาทและกาลสมัยของคุณค่าสังคม โดยคำนึงถึงหลักการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ บริการสาธารณะ ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมโดยตรง มิใช่ผลประโยชน์ของคู่พิพาทโดยเฉพาะหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นต้น ดังนั้น การที่จะนำหลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาปรับใช้กับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดหรือคำสั่งหรือคำพิพากษาฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายต้องพิจารณาลักษณะข้อพิพาทให้สอดคล้องกับหลักดังกล่าวข้างต้นเป็นรายกรณีไป
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ในประเด็นข้อพิพาทอันเป็นข้อสำคัญแห่งคดีว่า หลังจากผู้คัดค้านได้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับผู้ร้อง ผู้ร้องได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาดังกล่าวให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) การโอนสิทธิเรียกร้องมีผลสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 แล้ว เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์ และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ดังนั้น สิทธิเรียกร้อง แม้เป็นวัตถุไม่มีรูปร่างแต่อาจมีราคาและถือเอาได้ จึงเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งที่ผู้ร้องสามารถนำสิทธิเรียกร้องไปเป็นหลักประกันทางธุรกิจกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายแต่ประการใด ส่วนการที่ผู้ร้องได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีผลให้สิทธิเรียกร้องเงินค่าว่าจ้างดังกล่าวโอนไปยังธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) แล้ว เป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านชำระเงินตามสัญญาอีกตามมาตรา 306 หรือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ร้องกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 แต่เป็นเพียงสัญญาที่เป็นหลักประกันหนี้ที่ผู้ร้องเบิกเงินไปจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เท่านั้น เป็นเหตุให้หนี้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังไม่ระงับ นั้น ต้องพิจารณาจากการแสดงเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาระหว่างผู้ร้องกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในพยานหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งปวง เมื่อทางปฏิบัติหลังจากทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันแล้ว ผู้ร้องยังคงเป็นผู้เรียกเก็บเงินจากผู้คัดค้าน หากผู้คัดค้านได้รับใบเรียกเก็บเงินจากผู้ร้อง ผู้คัดค้านจะสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ร้องไม่ใช่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยผู้ร้องและธนาคารดังกล่าวจะไปรับเช็คพร้อมกันเพื่อนำเข้าบัญชีของผู้ร้อง แล้วธนาคารจะหักเงินจากบัญชีของผู้ร้องบางส่วนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของธนาคารโดยจะคืนส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ร้อง กับผู้ร้องเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้คัดค้าน แสดงว่าหลังจากทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันแล้ว ผู้คัดค้านยังคงชำระเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาพิพาทให้แก่ผู้ร้องมาโดยตลอดไม่เคยชำระให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารก็ไม่เคยทักท้วงไปยังผู้ร้องหรือผู้คัดค้าน ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการใช้อำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง ตามมาตรา 25 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วนำไปปรับใช้กับข้อกำหนดในสัญญาหรือข้อกฎหมายแล้วมีคำวินิจฉัยว่า การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 แต่เป็นเพียงสัญญาที่เป็นหลักประกันหนี้ที่ผู้ร้องเบิกเงินไปจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งข้อพิพาทนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคู่พิพาทโดยเฉพาะเท่านั้น จึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อไม่ปรากฏว่าคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติกฎหมาย ศาลไม่อาจตรวจสอบการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนี้ซ้ำอีก การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านแม้จะกล่าวอ้างโดยใช้ถ้อยคำว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่เนื้อหาตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างเพื่อโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาตามมาตรา 306 จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน อันเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อคดีได้ความดังนี้อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่าคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการขัดต่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีต้องเปลี่ยนแปลงไป ส่วนอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่เกี่ยวเนื่องกับการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว เช่น การวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการก็ดี หรือผู้ร้องไม่มีอำนาจเสนอข้อพิพาทก็ดี หรือคำชี้ขาดมีผลทำให้ผู้คัดค้านต้องปฏิบัติการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนต่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ดี หรือผู้ร้องเสนอข้อพิพาทโดยใช้สิทธิไม่สุจริตก็ดี ไม่เป็นปัญหาที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 45 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทโดยข้ามขั้นตอนการระงับข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ แต่คณะอนุญาโตตุลาการกลับวินิจฉัยว่าผู้ร้องได้ปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการแล้ว เห็นว่า เนื้อหาอุทธรณ์ผู้คัดค้านเป็นเรื่องการโต้เถียงการใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการในการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปปรับบทกฎหมายหรือข้อกำหนดในสัญญา และปัญหาดังกล่าวไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อีกทั้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อุทธรณ์ผู้คัดค้านต้องห้ามตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) และ (2) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 30,000 บาท แทนผู้ร้องนั้นไม่ชอบ เนื่องจากผู้ร้องมิได้มีคำขอในส่วนนี้ หากจะถือว่าศาลต้องสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเสมอ ในกรณีที่คู่ความมิได้มีคำขอ ศาลต้องมีคำสั่งให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นพับ นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมได้แก่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี มาตรา 167 บัญญัติว่า คำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ไม่ว่าคู่ความทั้งปวงหรือแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะมีคำขอหรือไม่ก็ดี ให้ศาลสั่งลงไว้ในคำพิพากษา… ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งที่กฎหมายบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งไม่ว่าผู้ร้องจักมีคำขอหรือไม่ก็ตาม คำสั่งศาลต้องอยู่ในบังคับตาราง 7 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่กำหนดให้ศาลมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร จึงเป็นดุลพินิจของศาลโดยแท้มิใช่กรณีที่เมื่อผู้ร้องมิได้มีคำขอ ศาลต้องมีคำสั่งให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นพับสถานเดียว คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้วมิได้ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังกล่าว กรณีอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไม่เข้ามาตรา 45 (2) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งว่า หนี้ที่ต้องคืนหนังสือค้ำประกันเป็นหนี้กระทำการที่ไม่จำต้องดำเนินการทางเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่จำต้องขอให้ออกหมายบังคับคดี โดยคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดการบังคับคดีให้รวมถึงการบังคับคดีทั้งหนี้เงินและหนี้กระทำการด้วย ถือเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอวางหลักประกันการงดการบังคับคดีจนต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าหลักประกันเพียงพอต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว ให้งดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 (2) จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านมาขอให้งดการบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไว้ก่อน ถือได้ว่าเป็นกรณีขอให้งดการบังคับคดีทั่วไปซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งงดการบังคับคดีหรือไม่ก็ได้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีแล้ว ย่อมไม่อาจบังคับคดีกันอีกได้ในหนี้ทั้งหมดตามบทบัญญัติในภาค 4 ลักษณะ 2 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งการงดการบังคับคดีในกรณีตามบทบัญญัตินี้มิได้บัญญัติหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการงดการบังคับคดีไว้ หากศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรและหลักประกันเพียงพอต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษา ย่อมใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอออกหมายบังคับคดี (ในส่วนที่ศาลสั่งคืนหนังสือค้ำประกัน) ของผู้ร้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วอุทธรณ์ข้ออื่นของผู้ร้องไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงผลของคำสั่ง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืนในส่วนคำร้องขอออกหมายบังคับคดีของผู้ร้อง ยกอุทธรณ์ผู้คัดค้านและผู้ร้อง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้ผู้คัดค้านและผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share