แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สมุดฝากเงินออมสินซึ่ง ส่งให้ศาลรักษาไว้ในฐานะ เป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวจำเลยคดีอาญา ไม่ใช่พยานหลักฐานเกี่ยวกับประเด็นที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยในคดีอาญานั้นกระทำผิดหรือไม่อย่างไรจึงไม่เป็นทรัพย์ หรือเอกสารที่ได้ ส่ง หรือศาลได้ รักษาไว้ในการพิจารณาคดี ตาม ป.อ. มาตรา 185 ในคดีอาญา การที่จำเลยให้การรับสารภาพนั้น คำรับสารภาพของจำเลยเป็นเรื่องที่รับว่ามีการกระทำตาม ฟ้องเท่านั้น ส่วนการกระทำตาม ฟ้องจะเป็นความผิดตาม บทกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาดัง ที่บัญญัติไว้ในป.วิ.อ. มาตรา 185.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 185,91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 185, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ฐานแจ้งความเท็จ จำคุก 4 เดือนฐานทำให้เสียหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารที่ส่งไว้ต่อศาล จำคุก1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดฐานทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185 ด้วย
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185บัญญัติว่า “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์หรือเอกสารใดที่ส่งไว้ต่อศาลหรือที่ศาลรักษาไว้ในการพิจารณาคดี…” เห็นว่า บทบัญญัติในมาตรานี้อยู่ในลักษณะ 3 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ถ้อยคำในตัวบทที่ว่า “ทรัพย์หรือเอกสารใดที่ส่งไว้ต่อศาล หรือที่ศาลรักษาไว้ในการพิจารณาคดี” นั้น ทั้งทรัพย์และเอกสารจะต้องเป็นสิ่งที่ใช้ในการพิจารณาคดี และสิ่งที่จะต้องส่งหรือรักษาไว้ในการพิจารณาคดีนั้น หมายถึงสิ่งที่จะต้องส่งหรือรักษาไว้เพื่อวินิจฉัยประเด็นในการพิจารณาคดี สมุดฝากเงินออมสินตามคำฟ้องนั้นได้ส่งหรือรักษาไว้ในฐานะที่เป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีอาญาเท่านั้นมิใช่เป็นทรัพย์หรือเอกสารที่จะเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวนั้นกระทำผิดหรือไม่อย่างไร คงเป็นเพียงหลักประกันในทางแพ่งที่จะบังคับตามสัญญาประกันตัวเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคำฟ้องคดีอาญาและข้อเท็จจริงตามคำฟ้องก็ยังไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาประกันอันจะถือว่ามีข้อพิพาทกันอีกส่วนหนึ่งในคดี ดังนั้น สมุดฝากเงินออมสินประเภทเผื่อเรียกที่ฟ้องจึงไม่เป็นทรัพย์หรือเอกสารที่ได้ส่งหรือศาลได้รักษาไว้ในการพิจารณาคดี ตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185บัญญัติไว้ การกระทำตามที่โจทก์ฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามบทมาตราดังกล่าว ส่วนที่โจทก์อ้างเหตุผลในฎีกาว่า เมื่อจำเลยรับสารภาพศาลต้องฟังว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ไม่มีเหตุที่จะฟังใหม่ว่าจำเลยไม่มีความผิดเพราะจำเลยอุทธรณ์เพียงขอให้รอการลงโทษเท่านั้น เห็นว่า ในคดีอาญาที่จำเลยให้การรับสารภาพนั้นคำรับสารภาพของจำเลยเป็นเรื่องที่รับว่าเป็นการกระทำตามฟ้องเท่านั้น ส่วนการกระทำตามฟ้องจะเป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณา ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ว่า “ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี…ให้ศาลยกฟ้องโจทก์…” ซึ่งบทบัญญัติมาตรานี้นั้นศาลอุทธรณ์ต้องนำมาใช้ในการพิจารณาพิพากษาด้วยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 215เมื่อการกระทำตามฟ้องของโจทก์ไม่เป็นความผิดในกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185 ศาลอุทธรณ์ก็ต้องยกฟ้องตามที่บัญญัติในบทกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น ในลักษณะของการกระทำความผิดในกระทงความผิดที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษมานั้นเป็นความผิดที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาทุจริตของจำเลยล่วงหน้าในอันที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดของตนที่มีตามสัญญาประกันมิให้มีการบังคับได้โดยไม่เกิดความยุ่งยาก ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างมาในฎีกาว่าเป็นผู้ใหญ่บ้าน การติดต่อกับธนาคารพาณิชย์ตามเอกสารท้ายฎีกาทำให้เห็นว่าจำเลยย่อมรู้ถึงวิธีการการเบิกจ่ายเงินของธนาคารว่าจะทำได้หรือไม่ได้อย่างไร จำเลยกลับนำวิธีการที่รู้มาใช้เพื่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมุ่งประสงค์ต่อผลที่ตนจะได้รับจากวิธีการหลีกเลี่ยงด้วยเจตนาร้ายนั้นเป็นสำคัญ พฤติการณ์ของคดีลักษณะอย่างเช่นที่กล่าวมานี้ ศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรแก่การที่จะปรานีได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56…”
พิพากษายืน.