แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
มาตรา 78 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นบทเฉพาะกาลที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่งานที่จัดทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับและไม่มีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมฯ หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 แต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งเห็นได้ว่า บทบัญญัติมาตรา 78 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แต่สิทธินักแสดงเป็นสิทธิข้างเคียงของลิขสิทธิ์ ซึ่งแม้จะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์เช่นกันแต่ก็มิใช่สิทธิอย่างเดียวกับลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ยังได้บัญญัติแยกลิขสิทธิ์ไว้ในหมวด 1 และสิทธินักแสดงไว้ในหมวด 2 ทั้งเมื่อประสงค์ให้ใช้บังคับบทบัญญัติใดแก่ทั้งลิขสิทธิ์และสิทธินักแสดงก็จะบัญญัติไว้ชัดเจนฉะนั้นการแสดงหรือการบันทึกเสียงการแสดงของนักแสดงที่ได้จัดทำขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ จึงไม่ได้รับความคุ้มครอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 45, 52, 69, 74, 76, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และขอให้สั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางลินจง ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในชั้นนี้ตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันว่า โจทก์ร่วมเป็นนักร้องเมื่อประมาณปี 2509 ถึง 2510 โจทก์ร่วมขับร้องเพลงบันทึกเสียงผลิตแผ่นเสียงลองเพลย์ชุด “รักปักใจ” จำนวน 18 เพลง และชุด “เชอะผู้ชาย” จำนวน 14 เพลง ให้แก่บริษัทผลิตแผ่นเสียงเพื่อนำออกจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อการค้า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ร่วมกันนำเพลงทั้งสองชุดซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้ขับร้องไปบันทึก ผลิตหรือทำเทปคาสเซทและแผ่นซีดีเพลงออกจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป โดยไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนแก่โจทก์ร่วมโจทก์อุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 มิได้บัญญัติเลยไปถึงว่าต้องจำกัดเฉพาะการร้องเพลงต่อหน้าสาธารณชนจึงจะได้รับการคุ้มครองสิทธินักแสดงดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยเมื่อโจทก์ร่วมเป็นนักร้องซึ่งเป็นนักแสดงก็ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวในเสียงร้องเพลงของตนตามมาตรา 4 และมาตรา 44 ก่อนอื่นเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า การร้องเพลงในห้องบันทึกเสียงของโจทก์ร่วมเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 78 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นบทเฉพาะกาลที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์แก่งานที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับและไม่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 หรือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 แต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งเห็นได้ว่า บทบัญญัติมาตรา 78 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แต่สิทธินักแสดงเป็นสิทธิข้างเคียงของลิขสิทธิ์ซึ่งแม้จะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์เช่นกัน แต่ก็มิใช่สิทธิอย่างเดียวกับลิขสิทธิ์ นอกจากนี้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ยังได้บัญญัติแยกลิขสิทธิ์ไว้ในหมวด 1 และสิทธินักแสดงไว้ในหมวด 2 ทั้งเมื่อประสงค์ให้ใช้บังคับบทบัญญัติใดแก่ทั้งลิขสิทธิ์และสิทธินักแสดงก็จะบัญญัติไว้ชัดเจน ฉะนั้นการแสดงหรือการบันทึกเสียงการแสดงของนักแสดงที่ได้จัดทำขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ จึงไม่ได้รับความคุ้มครอง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง โจทก์ร่วมร้องเพลงชุดดังกล่าวในห้องบันทึกเสียงเมื่อช่วงปี 2509 ถึง 2510 จึงเป็นงานที่ได้จัดทำขึ้นก่อนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับและไม่ต้องด้วยมาตรา 78 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว งานของโจทก์ร่วมจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน