คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4681/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่บุคคลจะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งโดยการยื่นเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขออย่างหนึ่งอย่างใดนั้น หาใช่พิจารณาว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่มีทุนทรัพย์ไม่ ตามคำร้องขอของผู้ร้องนอกจากมีคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแล้ว ยังขอให้มีคำสั่งถอนอำนาจปกครองของ ป. และแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองด้วย อันย่อมส่งผลกระทบต่อค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าวเนื่องเพราะหากศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องก็ไม่จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่ ป. ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าอีกต่อไป ซึ่งศาลมีอำนาจแก้ไขได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ถือได้ว่าคำขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่เป็นคำขอหลัก ส่วนคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นคำขอรองที่เกี่ยวกับคำขอหลัก นอกจากนี้แม้ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจะกำหนดให้ ป. เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองก็ตาม แต่ถ้าภายหลังพึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจปกครองศาลก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566 (5) แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้โดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและรักษาประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์ ผู้ร้องจึงชอบที่จะเสนอคดีขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่ โดยทำเป็นคำร้องขอรวมทั้งชอบที่จะเสนอคดีขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองซึ่งเกี่ยวเนื่องกันเข้ามาในคำร้องขอฉบับเดียวกันได้
แม้บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าจะกระทำขึ้นโดยชอบด้วยความสมัครใจของคู่กรณี กล่าวโดยเฉพาะเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนี้ ถ้าต่อมาพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนแปลงไป ศาลก็มีอำนาจแก้ไขในเรื่องดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง และพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีนั้นก็หาได้จำกัดหมายถึงผู้ร้องลำพังไม่ ดังเห็นได้จากมาตรา 1598/38 ที่ว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้ร้องและพฤติการณ์แห่งกรณีด้วย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขอให้มีคำสั่งถอนอำนาจปกครองของนางปวีณาและแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองกับทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หากศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดู ขอให้มีคำสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดู โดยให้ผู้ร้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่นางปวีณาเดือนละ 20,000 บาท
ในวันนัดไต่สวน ทนายความของนางปวีณายื่นคำร้องว่า ทนายความเพิ่งได้รับการแต่งตั้งแต่ติดว่าความที่ศาลอื่นและไปดูงานราชการที่ต่างประเทศ ขอขยายระยะเวลายื่นคำคัดค้านและเลื่อนการพิจารณาไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่อนุญาตให้เลื่อนการยื่นคำคัดค้านและให้เลื่อนการพิจารณา จากนั้นจึงไต่สวนพยานผู้ร้องฝ่ายเดียวจนเสร็จ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในระหว่างเรียนชั้นอนุบาลและชั้นประถมคนละเดือนละ 10,000 บาท ในระดับชั้นมัธยมศึกษาคนละเดือนละ 15,000 บาท ในระดับชั้นอุดมศึกษาคนละเดือนละ 20,000 บาท จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยให้ผู้ร้องนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองและให้นางปวีณาหรืออรวรรยาทำบัญชีค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเสนอต่อศาลทุกเดือนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นกับให้ผู้ร้องมีสิทธินำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปดูแลในวันศุกร์หลังจากบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเลิกเรียนวันเสาร์และวันอาทิตย์ โดยให้ผู้ร้องไปรับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองที่โรงเรียนหลังเลิกเรียนและให้ผู้ร้องนำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปส่งโรงเรียนในวันจันทร์ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ระหว่างอุทธรณ์ ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้เปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลจังหวัดเลยแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว
ผู้ร้องและนางปวีณาหรืออรวรรยาย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
นางปวีณาหรืออวรรยาฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า เดิมผู้ร้องกับนางปวีณาหรืออรวรรยาเป็นสามีภริยากันมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กชายชนาธิปและเด็กหญิงกันตาเมื่อวัที่ 27 มีนาคม 2546 ผู้ร้องกับนางปวีณาจดทะเบียนหย่าโดยบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าว่าให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของนางปวีณาแต่ผู้เดียว ให้ผู้ร้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 60,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของนางปวีณาว่า คดีของผู้ร้องเป็นการร้องขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดู เป็นคดีมีทุนทรัพย์ ต้องยื่นเป็นคำฟ้อง แต่ผู้ร้องยื่นเป็นคำร้องขอและศาลชั้นต้นพิจารณาต่อไป เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เบื้องแรกเห็นว่า การที่บุคคลจะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งโดยการยื่นเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขออย่างหนึ่งอย่างใดนั้น หาใช่พิจารณาว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่มีทุนทรัพย์ดังข้อฎีกาของนางปรีณาไม่ และตามคำร้องขอของผู้ร้องนี้นอกจากมีคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแล้วยังขอให้มีคำสั่งถอนอำนาจปกครองของนางปวีณาและแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองด้วย อันย่อมส่งผลกระทบต่อค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าวเนื่องเพราะหากศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้ร้องก็ไม่จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่นางปวีณาตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าอีกต่อไป ซึ่งศาลมีอำนาจแก้ไขได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้มิใช่ไม่มีดังข้อเถียงในฎีกาและถือได้ว่าคำขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่เป็นคำขอหลัก ส่วนคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นคำขอรองที่เกี่ยวเนื่องกับคำขอหลัก นอกจากนี้แม้ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจะกำหนดให้นางปวีณาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองก็ตาม แต่ถ้าภายหลังพึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจปกครองศาลก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1521 ประกอบมาตรา 1566 (5) แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้โดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและรักษาประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์ ผู้ร้องจึงชอบที่จะเสนอคดีขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่ โดยทำเป็นคำร้องขอ รวมทั้งชอบที่จะเสนอคดีขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองซึ่งเกี่ยวเนื่องกันเข้ามาในคำร้องขอฉบับเดียวกันได้ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอให้แก่นางปวีณาผู้เสียสิทธิได้มีโอกาสคัดค้านแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่เป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของนางปวีณาในประการนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของนางปวีณาว่าที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้ ดังนั้น แม้บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าจะกระทำขึ้นโดยชอบด้วยความสมัครใจของคู่กรณี กล่าวโดยเฉพาะเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนี้ ถ้าต่อมาพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนไป ศาลก็มีอำนาจแก้ไขในเรื่องดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติข้างต้น และพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีนั้นก็หาได้จำกัดหมายถึงผู้ร้องลำพังตามที่นางปวีณายกอ้างเถียงในฎีกาไม่ ดังเห็นได้จากนัยมาตรา 1598/38 ที่ว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีด้วยเช่นนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่ผู้ร้องตกลงให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 60,000 บาท นั้น เป็นไปในข้อไขอนาคตว่านางปวีณาจะให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเรียนหนังสือที่โรงเรียนนานาชาติในจังหวัดอื่น แต่กลับปรากฏว่านางปวีณาให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเข้าเล่าเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดเลยซึ่งเป็นภูมิลำเนาของนางปวีณานั้นเอง อันเป็นพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองลงมานั้นจึงเหมาะสมแล้ว ฎีกาในประการนี้ของนางปวีณาฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share